ทำความเข้าใจเรื่อง ค่าของเงิน (ตอนที่ 3)
ผมเขียนเกี่ยวกับเงินตราใน 2 ตอนแรกที่ผ่านมา เพื่อให้เห็นว่า เงินตรานั้น ที่จริงแล้วคือเครื่องมือที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากกับระบบเศรษฐกิจและกลไกตลาดเสรีในปัจจุบัน
โดยเป็นหน่วยวัดสำหรับการทำบัญชี (unit of account) เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ (medium of exchange) และเป็นเครื่องสะสมมูลค่าและความมั่งคั่ง (store of value)
หากไม่มีเงินตรา การคำนวณมูลค่า GDP ก็จะต้องนับจำนวนผลผลิตทุกชนิดในเศรษฐกิจ การทำธุรกรรมของเศรษฐกิจใช้ยากลำบากอย่างยิ่ง และการเก็บรักษาความมั่งคั่งก็จะยากเย็นไม่ต่างกัน
ดังนั้น จึงต้องมีการแสวงหาเงินตราที่เหมาะสม มาใช้ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งดังที่ทราบกันดีว่าในสมัยโบราณนั้น ใด้มีใช้วัสดุที่มีค่าและคงทน เช่น ทองคำและเงิน (silver)
เพราะเป็นวัตถุคงทน (durable) และมีปริมาณจำกัด (scarcity) ไม่ใหญ่เกินไปทำให้สามารถพกพาได้ (portability) โดยปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ การมีปริมาณที่จำกัดหรือมีต้นทุนการผลิตที่สูงมาก
เห็นได้จากการที่ประเทศสเปนค้นพบทวีปอเมริกาเมื่อ 400 ปีที่แล้ว และพบ (ปล้น) ทรัพย์สมบัติมากมายจากคนพื้นเมือง โดยเฉพาะทองคำและเงิน ซึ่งบางคนคงจะนึกว่า การค้นพบมหาสมบัติดังกล่าว จะทำให้ประเทศสเปนร่ำรวย
แต่ปรากฏว่าการพบ “เงิน-ทอง” จำนวนมาก ทำให้สเปนมีปริมาณเงินเพิ่มขึ้นในระบบอย่างมากและต่อเนื่องเป็นเวลานับร้อยปี ผลที่ตามมาคือ ทำให้เกิดเงินเฟ้อ (มีการประเมินว่า ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นประมาณ 150% ในช่วงดังกล่าว) และนำไปสู่การใช้จ่ายเกินตัว จนในที่สุดรัฐบาลเสปน ประสบปัญหาล้มละลายในที่สุด
มักจะมีการเล่าเรื่องในอดีตว่า ผู้ปกครองประเทศจะเป็นผู้ผลิต เหรียญเงินและเหรียญทองออกมาใช้ในเมืองที่ตนปกครอง และจะใช้โอกาสมงคลต่างๆประกาศให้ประชาชนนำเอาเหรียญเงินตราของประเทศกลับมาให้ผู้ปกครองประเทศ เพื่อนำเหรียญเงินตราดังกล่าว มาผลิตขึ้นมาในรูปแบบใหม่
เพื่อฉลองโอกาสมงคลดังกล่าว แต่ผู้ปกครองประเทศก็จะอาศัยโอกาสดังกล่าว ผสมแร่ธาตุราคาถูกเข้าไปในเหรียญเงินตราดังกล่าว เพื่อสามารถเก็บเอาทองคำ-เงินส่วนเกิน มาผลิตเหรียญเงินตราเพิ่มขึ้น
กล่าวคือเป็นการ “แอบเก็บภาษี” ทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่ม ซึ่งหากทำบ่อยครั้ง ก็จะนำมาซึ่งปัญหาเงินเฟ้อ เพราะเป็นการเพิ่มปริมาณเงินตราในระบบอย่างพร่ำเพรื่อ
การใช้วัสดุมีค่าเป็นเงินสกุลนั้น นิยมใช้กันเป็นเวลานานนับพันปีและใช้เป็นระบบการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย แม้ว่า ภายในประเทศจะได้มีการผลิตธนบัตร (bank notes) มาทดแทนการใช้ทองคำหรือเงิน เพื่อการชำระหนี้ทางกฎหมายอย่างแพร่หลายแล้วก็ตาม
(ลองอ่านข้อความในพันธบัตรที่รัฐบาลไทยที่พิมพ์ออกมาและเซ็นชื่อโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จะระบุว่า “ธนบัตรเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย”)
กล่าวคือการใช้ “กระดาษ” พิมพ์ขึ้นมาเป็นธนบัตรนั้น วิวัฒนาการมาจากอดีตที่มีการออกเอกสารรับรองว่า ได้มีการฝากทองคำหรือเงินเอาไว้กับธนาคาร กล่าวคือธนบัตรดังกล่าวนั้นมีทองคำหรือเงิน หนุนหลังนั่นเอง (bank notes backed by precious metals such as gold and silver)
กล่าวคือ ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศในสมัยหนึ่งนั้น อาศัยกลไกที่เรียกว่า มาตรฐานทองคำ (gold standard) กล่าวคือ แต่ละประเทศจะพิมพ์ธนบัตรออกมาในปริมาณที่เท่ากับปริมาณทองคำที่เป็นทุนสำรอง (gold reserve) ของประเทศดังกล่าว
ตัวอย่างเช่นในปี 1850 ทองคำ 1 ออนซ์ ราคาเท่ากับ 4.24 ปอนด์อังกฤษ ดังนั้นหากประเทศอังกฤษมีทองคำสำรองอยู่เท่ากับ 100 ล้านออนซ์ ก็จะแปลว่า ปริมาณเงินปอนด์ในประเทศอังกฤษจะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 424 ล้านปอนด์ เป็นต้น
ประเทศอื่นๆ ก็จะทำเหมือนกัน เช่นในปีเดียวกันคือปี 1850 ทองคำ 1 ออนซ์มีราคาเท่ากับ 20.67 เหรียญสหรัฐ ระบบมาตรฐานทองคำ จึงกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินดอลลาร์กับเงินปอนด์ในปี 1850 เอาไว้คงที่ คือเงิน 1 ปอนด์จะแลกได้ 4.875 ดอลลาร์ เป็นต้น
ระบบชำระเงินมาตรฐานทองดังกล่าว เป็นกลไกอัตโนมัติในการปรับนโยบายการเงินของแต่ละประเทศ เพื่อควบคุมให้มีวินัยทางการเงินและตรึงอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้ให้คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง
ตัวอย่างเช่น หากอเมริกาขาดดุลการค้า ซื้อสินค้ามากกว่าขายสินค้า ประเทศอเมริกาก็จะประสบปัญหาทองคำ (ทุนสำรอง) ไหลออก เพื่อชำระสินค้าส่วนเกิน และเมื่อปริมาณทองคำลดลง ก็ต้องลดปริมาณเงินดอลลาร์ในระบบเศรษฐกิจ ตามไปด้วยการลดปริมาณเงิน
คือการบีบให้เศรษฐกิจต้องชะลอตัวลง กำลังซื้อลดลง ราคาสินค้าลดลง ทำให้ในที่สุด การขาดดุลการค้าก็จะลดลงตามไปด้วย ในขณะเดียวกันประเทศอังกฤษที่เกินดุลการค้า ก็จะมีปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้น ทำให้ใช้จ่ายมากขึ้น ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น การเกินดุลการค้าของอังกฤษก็จะลดลงในที่สุด
แต่ปัจจุบันนี้ ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศและนโยบายการเงินเปลี่ยนแปลงไปมาก หลักการใหญ่คือประเทศหรือบริเวณเศรษฐกิจควรใหญ่เพียงพอที่จะมีเงินตราของตัวเอง (optimum currency area) เช่น หากให้ทุกจังหวัดในประเทศไทยมีเงินตราของตัวเอง ก็ย่อมจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องหรือคุ้มค่า
นอกจากนั้น ก็ยึดระบบที่ให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศมีอิสระในการกำหนดนโยบายการเงิน (เพิ่ม/ลดปริมาณเงินและเพิ่ม/ลดดอกเบี้ย) ตามความต้องการของเศรษฐกิจในประเทศของตน (ซึ่งส่วนใหญ่คือควบคุมให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 2% ต่อปี)
แต่การดำเนินการที่เป็นอิสระจากกันในแต่ละประเทศดังกล่าว อัตราแลกเปลี่ยนของเงินตราของแต่ละประเทศจะไม่คงที่ ต้องปรับตัวตามข้อมูลการคาดการณ์ และการเก็งกำไรในตลาดแลกเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา
ผมจึงขอยืนยันว่าการ “ทำนาย” ค่าเงินเป็นเรื่องที่ หลายคนอยากทำได้ แต่ไม่มีใครทำได้ครับ
“Do not save what is left after spending, but spend what is left after saving.” – Warren Buffet.