ทำความเข้าใจเรื่องค่าของเงิน (ตอน 2) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ทำความเข้าใจเรื่องค่าของเงิน (ตอน 2) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ผมเชื่อว่าหากจะเข้าใจเกี่ยวกับค่าของเงินก็จะต้องหันมาเริ่มจากต้นตอ คือจากตอนที่ยังไม่มีเงินอยู่บนโลกนี้ แล้วค่อยๆคิดต่อว่า “เศรษฐกิจ” ที่ไม่ใช้เงินตราในการทำธุรกรรมนั้น จะขับเคลื่อนอย่างไรและ “ราคา” ของสินค้าจะกำหนดกันอย่างไร

“Money is only a tool. It will take you wherever you wish, but it will not replace you as the driver.”

– Ayn Rand.

สมมุติว่าเศรษฐกิจมีการผลิตสินค้าเพียง 2 ชนิดเท่านั้นคือ หมู (P) กับ ข้าว (R) การทำธุรกิจในเศรษฐกิจดังกล่าว จึงประกอบด้วย การค้า-ขายแลกเปลี่ยนสินค้า P กับสินค้า R เท่านั้น

ในกรณีนี้ เราจะเห็นได้ว่า “ราคา” ของ R จะต้องคำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนกับ P เช่น R หนึ่ง กระสอบแลก P ได้หนึ่งตัว เป็นต้น ในเศรษฐกิจนี้ หากราคา P แพงขึ้น ก็อาจทำให้ 1P “ราคา” ปรับเพิ่มขึ้นไป เท่ากับ 2R ในทางตรงกันข้าม หาก R “ราคาแพง” ก็อาจจะกลับกันคือ 1R แลก P ได้ 2 ตัว เป็นต้น 

ที่น่าสนใจคือ ในกรณีนี้หากทั้ง 2 สินค้า ขาดแคลน ผลิตได้น้อยลง “ราคา” แพงขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนของทั้งสองสินค้า อาจจะไม่สามารถสะท้อนความขาดแคลนของทั้งสองสินค้าดังกล่าวได้ แต่จะต้องกลับไปดูปริมาณการผลิตโดยรวมของทั้งสองสินค้าดังกล่าว ว่าได้ลดลงมากเพียงใดเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เป็นต้น

นอกจากนั้น การไม่มีเงินตรามาใช้ในการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจ จะทำให้การค้า-ขายขาดความคล่องตัวอย่างมาก เพราะคนที่ต้องการขายหมู และต้องการขายข้าว ก็จะต้องแสวงหาคนที่ต้องการขายข้าวและซื้อหมู (ภาษาทางวิชาการคือ coincidence of wants)

ทำความเข้าใจเรื่องค่าของเงิน (ตอน 2) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

แต่หากมีเงินตรา ก็จะไม่ต้องยุ่งยากมาก เพราะคนที่ต้องการขายข้าว ก็จะสามารถขายให้คนที่ต้องการซื้อข้าว แล้วค่อยเอาเงินไปซื้อหมูจากคนขายหมู เป็นต้น

ที่สำคัญกว่านั้นคือ การมีเงินตรานั้น ทำให้การวัดกิจกรรมของเศรษฐกิจทำได้ง่ายขึ้นอย่างมาก

ในเศรษฐกิจที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น หากไม่มีเงินตรามาเป็นหน่วยวัด ก็จะต้องอธิบายยืดยาวว่าเศรษฐกิจในปี 2023 นั้น ผลิตหมูได้ 1 ล้านตัวและข้าวได้ 2 ล้านกระสอบ เป็นต้น

นอกจากนั้น การออมเงินและการสะสมสินทรัพย์ (wealth accumulation) ก็จะทำได้ยากยิ่งอย่างมาก โดยเฉพาะการส่งต่อความมั่งคั่งไปสู่อนาคต เพราะความมั่งคั่งนั้นต้องเก็บเอาไว้ได้ใน 2 รูปแบบเท่านั้น คือข้าวหรือหมู

แม้ว่าจะมีการผลิตสินค้าหลายพันชนิด แต่หากไม่มีเงินตราเพื่อเก็บออมกำลังซื้อ เราก็จะต้องเก็บออมความมั่งคั่งเอาไว้ในรูปของสิ่งต่างๆมากมาย ซึ่งจะไร้ประสิทธิภาพอย่างมาก กล่าวคือ เศรษฐกิจยุคปัจจุบันนั้น ต้องมีระบบการเงินที่มีประสิทธิภาพมารองรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ดังที่กล่าวเอาไว้ก่อนหน้านี้ เราเห็นได้ว่า ระบบเงินตราหรือระบบการเงินนั้น เป็นเพียง “ตัวกลาง” ที่เข้ามาทำให้เศรษฐกิจจริงสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นเครื่องมือในการเก็บออมและส่งต่อความมั่งคั่ง คือเป็นตัวเชื่อมต่อทำให้สามารถลงทุนเพื่อเพิ่มผลผลิตในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ดังนั้น พื้นฐานที่สำคัญที่สุดของระบบเงินตราที่ดีคือ การที่เงินตรานั้นๆสามารถรักษามูลค่าเอาไว้ให้ได้ยาวนานที่สุด หรืออีกนัยหนึ่งคือ การทำให้เงินตราดังกล่าวเสื่อมมูลค่าน้อยที่สุด แปลว่าจะต้องทำให้อัตราเงินเฟ้อต่ำอย่างต่อเนื่อง เพราะอัตราเงินเฟ้อก็คืออัตราการเสื่อมค่าของเงินตรานั่นเอง

 

ทำความเข้าใจเรื่องค่าของเงิน (ตอน 2) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

คำถามต่อมาคือ ทำไมจึงไม่ดำเนินนโยบายให้อัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 0  คือทำให้เงินไม่เสื่อมค่าเลย?

คำตอบคือ บางครั้ง สินค้าบางตัวขาดแคลน หรือเป็นสินค้าแปลกใหม่ ราคาก็อาจปรับสูงขึ้นอย่างมาก ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวเกินไป จะทำให้สินค้าอื่นๆราคาต้องปรับลดลง เพียงเพื่อให้เงินเฟ้อเฉลี่ยเท่ากับ 0  ซึ่งจะกระทบกับผู้ประกอบการอย่างมาก

เพราะราคาวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าน้ำ-ค่าไฟ จะไม่ปรับตัวลงตามได้ในทันที ทำให้ผลกำไรลดลง และอาจทำให้เกิดการคาดการณ์ว่า ราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่จะต้องลดลงอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การเกิดภาวะเงินฝืด

ดังนั้น หลักสากลจึงได้มีการกำหนดว่า การรักษา “เสถียรภาพของราคา” หรือการรักษาค่าของเงิน คืออัตราเงินเฟ้อที่ระดับประมาณ 2% ต่อปี

นอกจากนั้น ในระยะยาว สินค้าต่างๆก็มักจะถูกพัฒนาให้คุณภาพดีขึ้น มีประโยชน์มากขึ้น เช่นโทรศัพท์มือถือก็จะถูกพัฒนาให้ตอบสนองความต้องการได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นโยบายการเงินที่ทำให้เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 2% ต่อปี

ในขณะที่ (สมมุติว่า) ผลิตภาพ (productivity)  ของสินค้าและเครื่องใช้ต่างๆก็เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 2% เช่นกัน ก็หมายความว่ากำลังซื้อของเงินก็จะไม่ได้เสื่อมถอยแต่อย่างใด

ดังนั้นในขั้นแรก “ค่าของเงิน” ก็จะต้องถูกกำหนดโดยอัตราเงินเฟ้อของประเทศนั้นๆเป็นพื้นฐาน กล่าวคือประเทศที่เงินเฟ้อต่ำนั้น หากเปรียบเทียบกับประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าอย่างต่อเนื่อง ก็จะต้องพบว่า เงินของประเทศที่เงินเฟ้อต่ำจะแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับเงินของประเทศที่อัตราเงินเฟ้อสูง

เช่น หากสหรัฐเงินเฟ้อเฉลี่ย 2% ทุกปี แต่เงินเฟ้อไทยเฉลี่ย 1% ทุกปี ในระยะยาว เงินบาทก็จะแข็งค่าเทียบกับเงินดอลลาร์เฉลี่ย 1% ต่อปี หรือที่เรียกว่า purchasing power parity คือในระยะยาว กำลังซื้อของเงินสกุลต่างๆจะต้องเท่าเทียมกันครับ.

ทำความเข้าใจเรื่องค่าของเงิน (ตอน 2) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร