‘ศูนย์วิจัยกสิกร’เปิด3มาตรการ ช่วย‘ลูกหนี้’ลดเสี่ยงเชิงระบบ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “หนี้ครัวเรือน” เพิ่มขึ้นรวดเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงเชิงระบบ (Systemic Risk) ต่อเสถียรภาพการเงินของประเทศ อาจจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและรุนแรงต่อภาคเศรษฐกิจจริง จนถึงปัจจุบันยังเป็น “โจทย์หลักภาคการเงินไทย”
“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินหนี้ครัวเรือน พบสัดส่วนหนี้ครัวเรือนยังอยู่ระดับสูง แม้จะปรับตัวลดลงบ้าง จากช่วงโควิดคาด “หนี้ครัวเรือนไทย” ยังอยู่ใกล้ระดับ 90% ในอีก 1-3 ปีข้างหน้า โดยที่ระดับ 80% มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย จากปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ ประเด็นความเสี่ยงภาคการเงิน และกดดันการบริโภคภาคครัวเรือน
“ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล” รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ประเด็นหนี้เพิ่มความเสี่ยงเชิงระบบการเงิน โดยหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสถาบันการเงินไตรมาส 1 ปี 2567 แบงก์พาณิชย์ ที่ 2.78% นอนแบงก์ ที่ 2.96% และธนาคารภาครัฐ (SFI) ที่ 4.74% ทำให้ความสามารถการแข่งขันสถาบันการเงินผู้ปล่อยสินเชื่อลดลง และยิ่งทำให้โอกาสเติบโตสินเชื่อใหม่อยู่ในกรอบที่จำกัดกว่าเดิมมาก
ดังนั้น จึงคาดสินเชื่อแบงก์ไทยปีนี้ คงเติบโตไม่เกิน 1.5% ของจีดีพี โดยสินเชื่อธุรกิจโต 1.5% และสินเชื่อรายย่อยโต 0.3% (สินเชื่อบ้านโต1.2% สินเชื่อเช่าซื้อ -5.5% สินเชื่อบัตรเครดิต 2.2% สินเชื่ออุปโภคบริโภคอื่นๆ รวมสินเชื่อบุคคลโต 3.1%) ในไตรมาส 2 ปี 2567 หดตัว 0.2% ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2567 โต 0.9% และปี 2566 โต 0.2% ปี 2565 โต 2.7% และปี 2564 โต 6.2%
และระยะ 1-3 ปี ด้วยหนี้ครัวเรือนไทยยังอยู่ระดับ 90% คาดสินเชื่อแบงก์ไทยยังคงโตไม่เกิน 1.5% ของจีดีพี และแนวโน้มโตลดลงได้ ท่ามกลางความสามารถกู้ยืมของลูกหนี้ที่ลดลง
โดยผลสำรวจหนี้ครัวเรือนประจำไตรมาส 3 ปี 2567 พบกว่าครึ่งหนึ่งผู้ตอบแบบสอบถามที่มีสินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อรถเคยประสบปัญหาชำระหนี้ ทำให้ต้องเข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน ซึ่งปัญหาจะเชื่อมโยงกับการมีรายได้ในระดับไม่สูง มีเงินออมน้อย จึงทำให้อ่อนไหวมากกว่าลูกหนี้กลุ่มอื่นๆ
ขณะที่ ผลสำรวจครั้งนี้ พบผู้ที่พึ่งพาหนี้นอกระบบ 8.2% ซึ่งต้องการความช่วยเหลือเรื่องปรับโครงสร้างหนี้ วางแผนการเงิน และเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อใหม่นอกเหนือจากการแก้ที่ยั่งยืนด้วยการเพิ่มเสถียรภาพด้านรายได้ให้กับลูกหนี้ควบคู่ไปด้วย
สำหรับแนวทางมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม เพื่อลดปัญหาดังกล่าว มองว่า แบ่งมาตรการความช่วยเหลือเพิ่มเติมเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก ลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้และยืดชำระหนี้ไปแล้ว หากได้รับการสนับสนุนจากรัฐเข้ามาทำให้ระบาย NPL ระบบสถาบันการเงินออกไปได้ เพื่อชะลอการก่อหนี้ในระบบ อย่างแนวทางจัดตั้ง AMC เข้ามาซื้อหนี้สถาบันการเงินช่วยซื้อเวลาต่อลมหายใจให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้ได้
กลุ่ม 2 ลูกหนี้เริ่มมีปัญหาและยังไม่เคยรับความช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ ยังคงต้องมีแผนปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่ชัดเจน เช่น ปรับโครงสร้างหนี้หนักก่อนไป แต่หากยังคงมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะหนี้บ้านและหนี้รถ ที่ได้รับความช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้แล้วไปอาจไปต่อไหวหรือไม่ ซึ่งสถาบันเงินจะมองในแง่ขององค์ประกอบความสามารถชำระหนี้ระดับกลุ่มลูกหนี้แต่ละกลุ่ม อาจจะต้องได้รับความช่วยเหลือมากขึ้น เช่น มาตรการความช่วยเหลือด้วยจัดชั้นลูกหนี้ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
และ กลุ่ม 3 เอสเอ็มอีและรายย่อย ที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อใหม่ สำหรับความช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี รัฐอาจจะเข้ามาค้ำประกันวงเงินสินเชื่อเพิ่ม โดยส่วนรายย่อยโดยเฉพาะกลุ่มคนที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน มองการเข้ามาแข่งขัน “เวอร์ชวลแบงก์” น่าจะตอบโจทย์ให้ความช่วยเหลือได้
หากเศรษฐกิจไทยยังไม่ดีขึ้น แน่นอนว่า ปัญหาคุณภาพหนี้ยังคงเป็นความเสี่ยงเชิงระบบการเงิน สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อลดลง มาตรการความช่วยเหลือต่างๆ อาจช่วยไม่ได้มาก ทำให้ “ปัญหาหนี้ครัวเรือน” ยังเป็นโจทย์ต่อเนื่องที่การแก้ไข “ต้องใช้เวลา”