MONEY AND STOCK MARKET REVIEW วันที่ 7-11 ตุลาคม 2567
เงินบาทลดช่วงอ่อนค่าลงบางส่วน ขณะที่หุ้นไทยแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปีช่วงท้ายสัปดาห์
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
• เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 1 เดือนที่ระดับ 33.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ แต่ฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนปลายสัปดาห์
เงินบาทขยับอ่อนค่าลงสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติและภาพการอ่อนค่าของสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ทยอยฟื้นตัวขึ้นท่ามกลางการคาดการณ์ถึงโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียง 0.25% ในการประชุมเดือนพ.ย. นี้ หลังจากบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 17-18 ก.ย. ระบุว่า แม้กรรมการเฟดส่วนใหญ่สนับสนุนการปรับลดดอกเบี้ยลง 0.50% แต่ก็มีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนั้นจะไม่ใช่เงื่อนไขที่ทำให้เฟดต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ในการประชุมรอบถัดๆ ไป
อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวแข็งค่ากลับมาบางส่วนตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ประกอบกับช่วงขาขึ้นของเงินดอลลาร์ฯ เริ่มจำกัดในช่วงปลายสัปดาห์ หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีทิศทางปะปน โดยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาดไปที่ระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือน ขณะที่ แม้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด แต่ก็ยังคงเป็นทิศทางชะลอลงต่อเนื่อง
• ในวันศุกร์ที่ 11 ต.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.34 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.04 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (4 ต.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 7-11 ต.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยที่ 6,339 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 8,855 ล้านบาท (แบ่งเป็น ขายสุทธิพันธบัตร 8,828 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 27 ล้านบาท)
• สัปดาห์ระหว่างวันที่ 14-18 ต.ค. ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 32.90-33.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมกนง. (16 ต.ค.) ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์สกุลเงินเอเชีย และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภค ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนก.ย. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก และเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย และดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนต.ค. นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) อัตราเงินเฟ้อเดือนก.ย. ของอังกฤษ ยูโรโซน และญี่ปุ่น ตลอดจนข้อมูลจีดีพีไตรมาส 3/2567 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ย. ของจีนด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
• ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นตลอดสัปดาห์ท่ามกลางแรงซื้อต่อเนื่องของสถาบันในประเทศ
หุ้นไทยขยับขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางแรงซื้อสุทธิต่อเนื่องของกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ โดยมีปัจจัยหนุนหลักๆ มาจากความหวังต่อเม็ดเงินลงทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์ ซึ่งกระตุ้นแรงซื้อหุ้นบิ๊กแคปในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม นอกจากนี้ตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นในภูมิภาคยังมีปัจจัยหนุนเพิ่มเติมจากคาดการณ์เรื่องแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดด้วยเช่นกัน
หุ้นไทยปรับขึ้นต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มแบงก์และหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ก่อนการประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/2567 ทั้งนี้หุ้นไทยปรับตัวขึ้นไปแตะจุดสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี (นับตั้งแต่ต้นเดือนต.ค. 2566) ที่ 1,482.02 จุด ก่อนจะลดช่วงบวกลงมาบางส่วน เนื่องจากนักลงทุนชะลอการลงทุนก่อนวันหยุดยาวของตลาดในประเทศ อนึ่ง นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นไทยติดต่อกัน 13 วันทาการ (25 ก.ย.-11 ต.ค.)
• ในวันศุกร์ที่ 11 ต.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,470.10 จุด เพิ่มขึ้น 1.79% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 52,844.60 ล้านบาท ลดลง 7.28% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.16% มาปิดที่ระดับ 343.00 จุด
• สัปดาห์ถัดไป (14-18 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,455 และ 1,445 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,475 และ 1,495 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมกนง. (16 ต.ค.) ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ผลประกอบการไตรมาส 3/2567 ของบจ.ไทย โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนก.ย. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ผลการประชุม ECB ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ย. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค.ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ย. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และผลผลิตภาคอุตสาหกรรม