TISCO กำไร Q3/67 ลดลง 8.6 % ที่ 1,713 ล้านเหตุต้องตั้งสำรองเพิ่ม

TISCO กำไร Q3/67  ลดลง 8.6 %  ที่ 1,713  ล้านเหตุต้องตั้งสำรองเพิ่ม

TISCO ประเดิมรายงานกำไรกลุ่มแบงก์ Q3/67 มีกำไร 1,713 ล้านบาท ลดลง 8 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน เหตุตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตเพิ่มที่ 358.69 ล้านบาท รองรับเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง หนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

           บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเซียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO  ผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2567 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 1,713 ล้านบาท ลดลง 8.6% จากไตรมาส 3 ปี 2566 สาเหตุหลักมาจากสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss – ECL) ที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังคงเปราะบาง

          ส่วนของรายได้รวมจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 1.0% จากการฟื้นตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจหลัก โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุน ประกอบกับการรับรู้กำไรจากพอร์ตเงินลงทุน ค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์ขยายตัว 9.9% จากส่วนแบ่งทางการตลาดของ บล.ทิสโก้ ที่เพิ่มขึ้น
          รวมถึงมีการรับรู้รายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจวาณิชธนกิจ จากการเป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO รายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจจัดการกองทุนเพิ่มขึ้น 6.6% สอดคล้องกับการเติบโตของสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร ด้านรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 3.0% จากต้นทุนทางการเงินที่ปรับเพิ่มขึ้น ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปรับตัวลดลงจากค่าใช้จ่ายพนักงานและค่าใช้จ่ายด้าน IT 

         สำหรับผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกของปี 2567 กำไรสุทธิมีจำนวน 5,199 ล้านบาท ลดลง 5.8% จาก 9 เดือนแรกของปี 2566 จากสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.6% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย เทียบกับสำรองที่ 0.1% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ยในปีก่อนหน้า ด้านรายได้รวมจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 2.9% จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ขยายตัว 1.0% ตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อที่มีผลตอบแทนในระดับสูง รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับตัวดีขึ้น 7.6% จากการรับรู้กำไรจากเงินลงทุน และรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจวาณิชธนกิจ รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจจัดการกองทุนที่เติบโตได้ 2.7% แม้ในภาวะที่ตลาดไม่เอื้ออำนวย

          พร้อมทั้งรองรับความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง สำหรับรายได้รวมจากการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 2.9 จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ตามการขยายตัวของสินเชื่อที่มีผลตอบแทนสูง ด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6จากการรับรู้รายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจวาณิชธนกิจ และผลก าไรจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL) ประกอบกับค่าธรรมเนียมธุรกิจจัดการกองทุนขยายตัวได้ร้อยละ 2.7 ตามจากเติบโตของสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร อย่างไรก็ดี ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจธนาคารพาณิชย์ยังคงชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด

        

        สำหรับค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) มีจำนวน 358.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ของปีก่อน แต่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าและคิดเป็นอัตราร้อยละ 0.6 ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย โดยบริษัทตั้งสำรองเพิ่มขึ้นจากปีก่อน  เป็นไปตามแผนกลยุทธ์การเพิ่มสำรองเพื่อกลับสู่ระดับปกติในปี 2568

       รวมทั้งสะท้อนความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง หนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และรองรับแผนการเติบโตของสินเชื่อในกลุ่มที่มีอัตราผลตอบแทนสูง สินเชื่อที่มีการด้อยค่า ด้านเครดิต (NPLs) ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.44 และบริษัทมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะ เกิดขึ้นต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) อยู่ที่ร้อยละ 159.1

       สำหรับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPLs) คงที่อยู่ที่ 2.4% ของสินเชื่อรวม โดยบริษัทมุ่งเน้นการติดตามดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมกับการบริหารจัดการคุณภาพสินเชื่อเชิงรุก ทั้งนี้ ระดับค่าเผื่อสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Coverage Ratio) อยู่ที่ 159.1%  

          ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 20.9% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่
 18.9% และ 2.0% ตามลำดับ

         ธุรกิจหลักทรัพย์ในช่วง 9 เดือนแรกยังคงอ่อนแอตามมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ซบเซา และค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ลดลง เป็นผลมาจากการชะลอตัวของธุรกิจนายหน้าประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่อ่อนตัวลง ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ 16.5% 

         เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 มีจำนวน 229,948 ล้านบาท ลดลง 2.1% จากสิ้นปี 2566 สาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่ ซึ่งเป็นไปตามยอดขายรถยนต์ในประเทศที่หดตัวลง และการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อ SME
        ขณะที่สินเชื่อที่มีอัตราผลตอบแทนสูงยังคงเติบโต ประกอบด้วยสินเชื่อจำนำทะเบียน สินเชื่อเช่าซื้อรถมือสอง และสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ โดยบริษัทยังคงคำนึงถึงความรอบคอบและระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่ในสภาวะที่หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง

      นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้  (TISCO) ธุรกิจหลัก กลุ่มทิสโก้ มีการปรับแผนการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับความเสี่ยงจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีอยู่รอบด้านให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น สะท้อนจากตัวเลขสินเชื่อรวมที่ลดลง 2.1% จากสิ้นปีที่แล้ว

          TISCO กำไร Q3/67  ลดลง 8.6 %  ที่ 1,713  ล้านเหตุต้องตั้งสำรองเพิ่ม

       โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่ ซึ่งได้รับผลกระทบจากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ลดลงมากกว่าคาดและการเพิ่มความเข้มงวดในการประเมินสินเชื่อ แต่บริษัทยังสามารถควบคุมการเพิ่มขึ้นของหนี้ด้อยคุณภาพ (NPLs) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเอ็นพีแอลในไตรมาสนี้ทรงตัวจากไตรมาสก่อนที่ระดับ 2.4% ด้วยกระบวนการติดตามดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด และการบริหารจัดการสินเชื่อในเชิงรุกขณะที่ต้นทุนทางการเงินแม้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน แต่เริ่มเห็นสัญญาณเข้าใกล้ระดับสูงสุด ตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มปรับลดลงในอนาคต    

         ด้านรายได้ค่าธรรมเนียมฟื้นตัวได้ดีขึ้น โดยเฉพาะจากธุรกิจตลาดทุน โดยธุรกิจหลักทรัพย์เติบโตได้อย่างดี จากความสามารถในการขยาย Market Share ของบล.ทิสโก้ และการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยหลังการเปิดตัวกองทุนวายุภักษ์และการให้การสนับสนุนการลงทุนระยะยาวผ่านกองทุน ESG ทำให้มีเงินทุนไหลกลับเข้าสู่ตลาดทุนไทยในช่วงสิ้นไตรมาส
         ส่วนธุรกิจจัดการกองทุนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากการเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทำให้ บลจ.ทิสโก้ สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงแม้ในช่วงที่ภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวย 

        ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป นำโดยภาคการส่งออกสินค้าที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มฟื้นตัว แต่ต้องจับตาความท้าทายเรื่องหนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิด จากปัญหาหนี้สะสมและรายได้ของประชาชนที่โตช้าและการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อ รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมที่ทำให้เกิดความยากลำบากต่อประชาชนในพื้นที่ยิ่งขึ้นไปอีก อย่างไรก็ดี คาดว่า ในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ระดับ 2.8%   

         ทั้งนี้ กลุ่มทิสโก้จะมุ่งดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบรัดกุม โดยเน้น “คุณภาพในการเติบโต” ผนวกกับการใช้ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อสร้างเสถียรภาพและการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่องค์กร รวมถึงดูแลผู้มีส่วนได้เสียในทุกมิติภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี
         โดยเฉพาะในมิติของการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการเติบโตที่ยังไม่ทั่วถึงทางเศรษฐกิจและสถานการณ์น้ำท่วม ผ่านการนำเสนอมาตรการช่วยเหลือตามแนวทางการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ที่เปิดโอกาสให้ลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ได้ตามความสามารถในการชำระหนี้ (Pre-emptive Debt Restructuring)

       ขณะที่อีกด้านจะเดินหน้ายกระดับความเป็นอยู่และสร้างคุณภาพชีวิตทางการเงินที่ดี (Financial for Well-being) แก่สังคมในระยะยาว ผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นเป็นประจำ อาทิ กิจกรรมฉลาดเก็บฉลาดใช้ รู้ไว้เข้าใจหนี้ ชมรมค่ายการเงินธนาคารทิสโก้ รวมถึงกิจกรรมใหม่อย่าง Smart HR Fin Coach ที่จัดขึ้นเพื่อติวเข้มเรื่องเงินแก่บริษัทนายจ้างสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทิสโก้ ทั้งหมดนี้ เพื่อช่วยให้คนไทย “ปลดหนี้มีออม"  

          นอกจากนี้ กลุ่มทิสโก้ยังมีการปรับปรุงกระบวนการการทำงานเพื่อให้ทันต่อยุคดิจิทัล โดยนำเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลที่จะช่วยให้สามารถคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่จะตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมไปถึงสร้างความมั่งคั่งอย่างมั่นคงให้แก่ลูกค้า
 ในฐานะ “Your Trusted Financial Advisor” สถาบันการเงินที่คุณเชื่อมั่นไว้วางใจได้