ค่าเงินบาทวันนี้ 25 ต.ค.67 ‘อ่อนค่า‘ หลังดอลลาร์แข็งค่า เศรษฐกิจสหรัฐยังดี
ค่าเงินบาทวันนี้ 25 ต.ค.67 เปิดตลาด “อ่อนค่าหนัก“ ที่ 33.67 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย”ชี้หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐยังดี ดอลลาร์แข็งค่า ตลาดรอรับรู้ปัจจัยใหม่ และราคาทองมีจังหวะรีบาวด์ขึ้นบ้าง ระยะสั้นเงินบาทแกว่งตัวไซด์เวย์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 33.60-33.80 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ ที่ระดับ 33.67 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.64 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.60-33.80 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันอังคารที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงบ้าง ในลักษณะ Sideways Up (กรอบการเคลื่อนไหว 33.61-33.74 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ (S&P Manufacturing & Services PMIs) เดือนตุลาคม และ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ออกมาดีกว่าคาด
นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ราคาทองคำ (XAUUSD) มีจังหวะย่อตัวลงเกือบ -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพิ่มแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาท ทว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็เริ่มชะลอลง หลังเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาย่อตัวลงบ้าง เปิดโอกาสให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นราว +10 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จนกลับมาแกว่งตัวแถวโซน 2,730-2,740 ดอลลาร์ต่อออนซ์ นอกจากนี้ แรงขายเงินดอลลาร์ ในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซนแนวต้าน จากบรรดาผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็พอช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้เช่นกัน
แนวโน้มค่าเงินบาท
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท แม้ว่า เรายังคงมั่นใจต่อแนวโน้มการทยอยอ่อนค่าลงของเงินบาท ทว่าโมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทก็ชะลอลงบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดต่างทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงวันก่อนหน้า อีกทั้ง ราคาทองคำก็ยังคงมีจังหวะรีบาวด์ขึ้นบ้าง ทำให้ในระยะสั้น เงินบาทก็อาจแกว่งตัวในกรอบ sideways ในช่วง 33.55-33.85 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อนได้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม
ทว่า ในช่วงนี้ เราคงมองว่า เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ ตามแนวโน้มการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ โดยเงินดอลลาร์อาจยังพอได้แรงหนุนจากทั้งธีม US Exceptionalism ตราบใดที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดูดีและโดดเด่นกว่าประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ อย่างที่ได้เห็นจากรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการล่าสุด รวมถึงธีม Trump Trades หรือการปรับลดความเสี่ยงก่อนรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งอาจเห็นทั้งการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พร้อมกับการปรับตัวลงของบรรดาสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น นอกจากนี้ บรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก อีกทั้งธีม Trump Trades ก็อาจกดดันสินทรัพย์ฝั่งตลาดเกิดใหม่เอเชีย (EM Asia) ได้ ทำให้ เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม จากแรงขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นจากบรรดนักลงทุนต่างชาติ
เราคงประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากราคาทองคำก็ยังมีโอกาสรีบาวด์สูงขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดยังคงต้องการถือทองคำในช่วงเผชิญความไม่แน่นอนของทั้งการเลือกตั้งสหรัฐฯ สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง และภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดบางส่วน อาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ ในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลงแถวโซนแนวต้าน 33.85 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไปจะอยู่ในช่วง 34.00 บาทต่อดอลลาร์)
ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงในตลาด ลักษณะ Two-Way Volatility ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงการปรับมุมมองต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางไปมา ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ส่งผลให้บรรดาหุ้นในตลาดปรับตัวผสมผสาน โดยหุ้นที่รายงานผลประกอบการแย่กว่าคาดก็เผชิญแรงขายพอสมควร อาทิ IBM -6.2% ขณะที่ Tesla +22% จากรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่ง พร้อมทั้งเปิดเผยคาดการณ์ยอดขายปีหน้าที่สดใส ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.21%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้นเพียง +0.03% โดยแม้ว่าตลาดหุ้นยุโรปจะพอได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด เช่น Renault +4.7%, Hermes +1.1% ทว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจยุโรปที่ออกมาแย่กว่าคาด อาทิ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของทั้งยูโรโซนและอังกฤษ ก็มีส่วนกดดันความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปและบรรยากาศในตลาดการเงินยุโรป
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงเคลื่อนไหวแถวโซน 4.20% โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นบ้าง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ทว่าการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ถูกจำกัดลง จากความต้องการถือบอนด์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ซึ่งรอจังหวะทยอยเข้าซื้อบอนด์ ในช่วงบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น สอดคล้องกับคำแนะนำของเรา ซึ่งยังคงย้ำให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น (เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip) เพื่อให้ได้ Risk-Reward ที่คุ้มค่าและเหมาะสม โดยเราประเมินว่า ในระยะสั้น จนถึงหลังรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ราว 1 เดือน บอนด์ยีลด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นต่อได้บ้าง โดยเฉพาะในกรณีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ สามารถชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ ได้ ซึ่งภาพจะไม่ต่างกับช่วงหลังการเลือกตั้งปี 2016 อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจถูกจำกัดลงบ้าง หากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ชะลอลงต่อเนื่องชัดเจน ทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้อย่างน้อยตาม Dot Plot เดือนกันยายน
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้น ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด ก่อนที่เงินดอลลาร์จะเผชิญแรงขายทำกำไรและการปรับสถานะของผู้เล่นในตลาดบางส่วน กดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงบ้าง แต่โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 104.1 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104-104.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) จะเผชิญแรงกดดันจากจังหวะการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แต่ราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนจากความต้องการถือของผู้เล่นในตลาด หนุนให้ราคาทองคำสามารถทยอยรีบาวด์ขึ้นบ้างสู่โซน 2,740-2,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจส่วนใหญ่จะอยู่ในฝั่งยุโรป โดยผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายยงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) เดือนตุลาคม และรายงานคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) พร้อมทั้งรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ ECB
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด เช่นกัน
และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน พร้อมทั้งรอลุ้น การเลือกตั้งสภาผู้แทน (Lower House Election) ของญี่ปุ่น ในวันอาทิตย์ 27 ตุลาคม นี้ โดยจากสถิติในอดีต เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) มักจะไม่ได้เคลื่อนไหวอย่างชัดเจน หลังรับรู้ผลการเลือกตั้ง (เนื่องจากส่วนใหญ่ พรรค LDP มักจะครองเสียงข้างมากในสภาได้) ยกเว้น การเลือกตั้งนั้นมีแนวโน้มก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของการเมืองและนโยบายเศรษฐกิจ รวมถึงนโยบายการเงิน อาทิ ในปี 2009 พรรค DPJ สามารถชนะพรรค LDP ได้ หนุนให้เงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นราว 4% หลังการเลือกตั้ง 1 เดือน ส่วนปี 2012 พรรค LDP ภายใต้อดีตนายกฯ Shinzo Abe ชนะการเลือกตั้ง นำไปสู่นโยบายเศรษฐกิจ Abenomics ทำให้เงินเยนญี่ปุ่น อ่อนค่าลง กว่า 6% หลังการเลือกตั้ง 1 เดือน ซึ่งการเลือกตั้งสภาผู้แทนที่จะถึงนี้นั้น พรรค LDP ก็อาจยังสามารถครองเสียงข้างมากในสภา ร่วมกับพรรคพันธมิตร Komeito ตามเดิม ซึ่งอาจไม่ส่งผลกระทบต่อเงินเยนญี่ปุ่นอย่างมีนัยสำคัญ แต่หาก พรรค LDP สามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จเพียงพรรคเดียว หรือพรรคฝ่ายค้าน CDP พลิกกลับมาชนะการเลือกตั้ง ก็อาจหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น แข็งค่าขึ้นได้ไม่ยาก อย่างไรก็ตาม เงินเยนญี่ปุ่นอาจอ่อนค่าลงได้บ้าง หากพรรค LDP และพันธมิตรกลับเสียที่นั่งในสภาไปมาก จนต้องหาพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งอาจทำให้การเมืองญี่ปุ่นดูมีปัญหาได้ในระยะสั้น