ฮ่องกง ชูภาคการเงินใช้ AI 38% สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกใน HK Fintech Week ย้ำบทบาทฮับการเงินโลก
ฮ่องกงย้ำบทบาทฮับการเงินโลก จัดงาน HK Fintech Week เผยอัตราการใช้ AI ในภาคการเงินสูงถึง 38% เหนือค่าเฉลี่ยโลก พร้อมผลักดันการพัฒนาโทเคนไนเซชันและ AI อย่างรับผิดชอบ ด้านหน่วยงานกำกับดูแล เร่งออกใบอนุญาตแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลในสิ้นปีนี้
“ฮ่องกง” ถือเป็นผู้นำในตลาดการเงินโลกโดยในแต่ละปีมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาในเขตบริหารพิเศษแห่งนี้มหาศาลและเพื่อตอกย้ำบทบาทศูนย์กลางการเงินโลก “สาขาสำนักงานคลังและการบริการทางการเงิน” (Financial Services and the Treasury Bureau) และ “หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนฮ่องกง” (Invest Hong Kong) จัดงาน “Hong Kong Fintech Week 2024”
นายพอล ชาน เลขาธิการการคลังของฮ่องกง (Financial Secretary) กล่าวช่วงหนึ่งของปาฐกถาเปิดงานว่า "ในฐานะศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศ ตลาดการเงินของฮ่องกงเปิดกว้างและรอบคอบต่อการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ (AI)" พร้อมเน้นย้ำว่ารัฐบาลจะติดตามพัฒนาการของ AI อย่างใกล้ชิดพร้อมทั้งใช้ประโยชน์จากจุดเด่นของฮ่องกงในการเชื่อมโยงทรัพยากรระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และนานาชาติ
นายพอล ชาน
ขณะที่นายคริสโตเฟอร์ ฮุย เลขาธิการสาขาสำนักงานคลังและการบริการทางการเงิน ฮ่องกง ระบุว่า รัฐบาลจะร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลและภาคอุตสาหกรรมการเงิน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมตลาดที่ดีและยั่งยืน
ปัจจุบันฮ่องกงมีอัตราการนำ AI มาใช้ในภาคการเงินสูงถึง 38% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 26% โดยรัฐบาลได้วางกรอบการพัฒนาผ่าน 3P ได้แก่:
1. Policy (นโยบาย): มุ่งเน้นการใช้ AI อย่างรับผิดชอบ
2. Pool (ปัจจัยดึงดูด): สร้างสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนา
3. People (บุคลากร): ดึงดูดและพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีการเงิน
ทั้งนี้ จุดแข็งของฮ่องกงคือการเป็นส่วนหนึ่งของจีนซึ่งถือครองสิทธิบัตร AI กว่า 60% ของโลก ขณะเดียวกันก็เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงตะวันออกและตะวันตก โดยมีตลาดการเงินขนาดใหญ่ที่มีมูลค่า 5-10 เท่าของจีพีดี
นอกจากนี้นายคริสโตเฟอร์กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดแนวทางการพัฒนา AI ใน 3 มิติ:
1. ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-driven)
2. มีผลกระทบสองด้าน (Double-edged) ทั้งโอกาสและความเสี่ยง
3. มีพลวัตการเปลี่ยนแปลงสูง (Dynamic)
ด้านความเสี่ยงแบ่งเป็นความเสี่ยงทั่วไป เช่น การคุ้มครองข้อมูล ธรรมาภิบาล และความโปร่งใส และความเสี่ยงเฉพาะของ AI เช่น การให้ข้อมูลผิดพลาด (Hallucination) และการเบี่ยงเบนของโมเดล (Model drift)
ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง (Hong Kong University of Science and Technology: HKUST) ได้พัฒนาโมเดล AI ที่ปรับให้เข้ากับบริบทท้องถิ่น เพื่อให้บริษัทการเงินทั้งขนาดใหญ่และเล็กสามารถนำไปใช้งานได้ผ่านระบบ Application Programing Interface (API) นอกจากนี้ ยังมีการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญด้านฟินเทค AI และบล็อกเชนผ่านโครงการวีซ่าพิเศษ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 30% ของผู้ได้รับอนุมัติวีซ่าในภาคการเงิน
ส่วน เอ็ดดี้ เยว (Eddie Yue) ผู้ว่าธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority) กล่าวว่า ฮ่องกงกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีการเงิน โดยมีวิสัยทัศน์ในการสร้างระบบนิเวศฟินเทคที่ครบวงจร ผ่านบทเรียนสำคัญ 3 ประการ:
1. นวัตกรรมต้องแก้ปัญหาในโลกจริง เช่น การพัฒนาระบบชำระเงินข้ามพรมแดน และการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อสนับสนุน SMEs
2. กล้าขับเคลื่อนนวัตกรรม โดยเฉพาะโครงการโทเคนไนเซชัน (Tokenization) ที่จะสร้างโอกาสใหม่ๆ ในตลาดการเงิน
3. ความร่วมมือข้ามพรมแดนและข้ามภาคส่วน เพื่อใช้ประโยชน์จากเครือข่ายและองค์ความรู้ร่วมกัน
นอกจากนี้เขายังเน้นการพัฒนา 2 ด้านหลักในอนาคต
1. โทเคนไนเซชัน: การแปลงสินทรัพย์ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลบนบล็อกเชน ซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงและซื้อขายสินทรัพย์ได้ง่ายขึ้น เช่น การใช้ในธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ และการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
2. AI และข้อมูล: ส่งเสริมการใช้ AI อย่างรับผิดชอบในภาคธนาคาร โดยเฉพาะ Generative AI ที่สามารถปฏิวัติการดำเนินงานของสถาบันการเงิน ที่ผ่านมาธนาคารกลางได้เปิดตัว Gen AI Sandbox ร่วมกับ Cyberport เพื่อทดสอบการใช้งานในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย พร้อมทั้งเร่งพัฒนาการแบ่งปันข้อมูลทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลอัจฉริยะ
ด้าน เอริค ยิบ กรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (Intermediaries, Securities and Future commission: SFC) ฮ่องกง เปิดเผยความคืบหน้าการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมเน้นย้ำว่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีขนาดใหญ่เกินกว่าจะมองข้าม โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ กลุ่มคนที่มีความสามารถและมีพรสวรรค์ มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมาก และการมีนักลงทุนอายุน้อยเฉลี่ยในช่วง 20 ปี
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการแพลตฟอร์มการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (VATP) ที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว 4 ราย และอยู่ระหว่างพิจารณาอีก 14 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการเดิมที่ยื่นขอใบอนุญาตตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. จำนวน 11 ราย ซึ่ง SFC ได้ดำเนินการตรวจสอบการดำเนินงานครบถ้วนแล้ว และคาดว่าจะสามารถออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการบางรายได้ภายในสิ้นปีนี้
SFC มีแผนจัดตั้งคณะที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการในต้นปี 2025 โดยมีตัวแทนจากทุกผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต เพื่อจัดทำเอกสารแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงการยกระดับการกำกับดูแลและการบริหารความเสี่ยง
ด้านการคุ้มครองนักลงทุน SFC ได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ การเข้ารหัส และการติดตามธุรกรรมในกระเป๋าเงินดิจิทัล พร้อมทั้งเพิ่มความร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างๆ และให้ความสำคัญกับการให้ความรู้แก่นักลงทุนผ่านช่องทางที่หลากหลาย รวมถึงการจัดทำรายชื่อแพลตฟอร์มที่น่าสงสัยและไม่ได้รับการกำกับดูแล เพื่อเตือนนักลงทุนให้ระมัดระวัง
ทั้งนี้ มหกรรม Hong Kong Fintech Week 2024 จัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุม AsiaWorld-Expo เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ระหว่างวันที่ 28 ต.ค. - 1 พ.ย. 2567 ภายใต้แนวคิด "Illuminating New Pathways in Fintech" หรือ "จุดประกายเส้นทางใหม่แห่งฟินเทค" โดยการประชุมหลักจะจัดขึ้นในวันที่ 28-29 ต.ค. มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 30,000 คนจากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก พร้อมด้วยผู้บรรยายชั้นนำหลายร้อยท่าน
ไฮไลต์สำคัญของงานคือการจัดฟอรั่มใน 8 หัวข้อหลัก ได้แก่ Global Forum, AI & Advanced Tech Forum, Blockchain & Digital Assets Forum, Payments & Other FinTech Forum, InsurTech Forum, Green FinTech & Impact Forum, WealthTech & InvestTech Forumและ Hong Connect Forum