ค่าเงินบาทวันนี้ 30 ต.ค.67 ‘แข็งค่า‘ จากราคาทองคำยังทำออลไทม์ไฮ
ค่าเงินบาทวันนี้ 30 ต.ค.67 เปิดตลาด “แข็งค่าหนัก“ ที่ 33.66 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย”ชี้หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นทำออลไทม์ไฮ แรงหนุนท่ามกลางความไม่แน่นอน และควรระวังความผันผวนช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 33.55-33.80 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.66 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.77 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.55- 33.80 บาทต่อดอลลาร์ (ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท(USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นในลักษณะ Sideways Down (กรอบการเคลื่อนไหว 33.65-33.80 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำจนทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (All-Time High)
นอกจากนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน โดยยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ลดลงสู่ระดับ 7.44 ล้านตำแหน่ง แย่กว่าคาด ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Conference Board Consumer Confidence) พุ่งขึ้นสู่ระดับ 108.7 จุด ดีกว่าคาดไปมาก ก็ทำให้เงินดอลลาร์ไม่สามารถปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ ก่อนจะทยอยอ่อนค่าลงบ้าง ตามแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด
ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็ชะลอลงแถวโซนแนวรับ 33.65 บาทต่อดอลลาร์ ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือน รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบจากผู้เล่นในตลาด หลังราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วงระยะสั้น จากความกังวลผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางต่ออุปทานน้ำมันดิบที่ทยอยคลี่คลายลง
แนวโน้มค่าเงินบาท
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในช่วงคืนที่ผ่านมาได้ทำให้เงินบาทมีโอกาสชะลอการอ่อนค่าลงบ้าง และเงินบาทก็อาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเงินบาทยังคงมีโซนแนวต้านแถว 33.85 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวรับแรกจะอยู่ในช่วง 33.65 บาทต่อดอลลาร์ และมีแนวรับถัดไปแถว 33.50 บาทต่อดอลลาร์
เราประเมินว่า แม้เงินบาทจะพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ซึ่งก็อาจยังไม่เห็นการปรับฐานของราคาทองคำที่ชัดเจน ต่อเนื่องและรุนแรง จนกว่าตลาดจะรับรู้ทั้งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ข้อมูลตลาดแรงงาน และผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ทว่า ควรระวังความผันผวนของราคาทองคำ ที่จะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาท ดังจะเห็นในช่วงที่ผ่านมา ราคาทองคำก็มีจังหวะย่อตัวลงพอสมควร ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นกลับสู่ระดับก่อนย่อตัวลงได้ ทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร นอกจากนี้ เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากบรรดานักลงทุนต่างชาติก็ยังมีโอกาสทยอยขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม อีกทั้ง ในช่วงนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดอย่างฝั่งผู้นำเข้าต่างก็รอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ ในจังหวะเงินบาทแข็งค่าขึ้นบ้าง และที่สำคัญ เงินดอลลาร์ก็พร้อมจะกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกได้ ตามการเพิ่มสถานะของผู้เล่นในตลาดให้สอดคล้องกับธีม Trump Trades
อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังเสี่ยงเผชิญความผันผวนแบบ Two-Way Volatility ซึ่งจะขึ้นกับการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ ซึ่งเราขอย้ำว่า ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อาจมีความผันผวนและอาจเห็นภาพการจ้างงานที่ลดลงพอสมควรจากเดือนกันยายน ได้ เนื่องจากผลกระทบของทั้งพายุเฮอริเคนและการประท้วงหยุดงาน
ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงในตลาด ลักษณะ Two-Way Volatility ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงการปรับมุมมองต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางไปมา ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
แม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่มีจังหวะปรับตัวขึ้นสู่โซน 4.30% ทว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากความหวังต่อรายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Alphabet +1.8% (ซึ่งภายหลัง Alphabet ก็รายงานผลประกอบการที่สดใส หนุนให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นอีก +5.8%) ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.78% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.16%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลดลง -0.57% หลังรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ออกมาน่าผิดหวัง อาทิ BP -5.0% (หุ้นกลุ่มพลังงาน ยังเผชิญแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงในช่วงนี้) Novartis -4.1% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรป ยังพอได้แรงหนุนบ้างจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ ส่วนใหญ่ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากความคาดหวังผลประกอบการที่สดใสของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ สหรัฐฯ
ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน รวมถึงความต้องการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในช่วงบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ก็มีส่วนทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซน 4.30% ไปได้ไกล ก่อนที่จะทยอยปรับตัวลดลงสู่โซน 4.25% ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีโอกาสผันผวนสูงขึ้นได้บ้าง ซึ่งจะขึ้นกับผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ และมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทำให้เรายังคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น (เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip) เพื่อให้ได้ Risk-Reward ที่คุ้มค่าและเหมาะสม
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยเงินดอลลาร์มีจังหวะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงแรก หนุนโดยการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก ทั้งเงินยูโร (EUR) ที่เผชิญแรงกดดันจากแรงขายหุ้นยุโรป เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อ่อนค่าลงเกือบถึงโซน 154 เยนต่อดอลลาร์ ตามส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่กว้างขึ้น ก่อนที่เงินดอลลาร์จะพลิกกลับมาย่อตัวลงบ้าง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาผสมผสาน อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างก็ทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD ออกมาบ้าง ทำโดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่โซน 104.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.2-104.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) จะเผชิญแรงกดดันจากจังหวะการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แต่ราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนจากความต้องการถือของผู้เล่นในตลาด หนุนให้ราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจนทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ สู่โซน 2,790 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงาน คาดการณ์ครั้งแรกของอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 รวมถึงรายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากพายุเฮอริเคนและการประท้วงหยุดงานในช่วงเดือนตุลาคม ทำให้ยอดการจ้างงานภาคเอกชนมีโอกาสลดลงต่ำกว่าระดับ 1 แสนราย ได้ ลดลงจากยอดการจ้างงานในเดือนกันยายน +1.4 แสนราย พอสมควร
ในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน ผ่านรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาส 3 เช่นกัน พร้อมทั้งรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ย ECB และในฝั่งไทย เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม การส่งสัญญาณต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ผ่านงานสัมนา Monetary Policy Forum ซึ่งทาง BOT อาจมีการลงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจและการตัดสินใจลดดอกเบี้ยในการประชุมล่าสุด
นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Microsoft และ Meta ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้