อ่านสัญญาณเฟดล่าสุดเรื่องทิศทางดอกเบี้ย

อ่านสัญญาณเฟดล่าสุดเรื่องทิศทางดอกเบี้ย

อาทิตย์ที่แล้ว ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐเดือนมิถุนายนออกมาตํ่ากว่าคาด พร้อมสัญญาณจากประธานเฟด เกี่ยวกับแนวทางที่เฟดจะลดดอกเบี้ย ทําให้ตลาดการเงินพุ่งเป้าไปที่การลดดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนกันยายน

คําถามคือสัญญาณเหล่านี้คืออะไร และเฟดจะต้องทำอะไรบ้าง เพื่อปูทางการลดดอกเบี้ยให้ตลาดปรับตัวโดยไม่สร้างความผันผวนต่อเศรษฐกิจ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ผมเขียนถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดครั้งสุดท้าย เมื่อต้นพฤษภาคมหลังเฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ร้อยละ 5.25-5.50 ต่อปี โดยย้ำว่าเฟดให้ความสำคัญกับทิศทางอัตราเงินเฟ้อในการตัดสินใจ ตอนนั้น

ข้อมูลช่วงสามเดือนแรกของปีชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐกลับมาเร่งตัว ไม่ลดลงสู่อัตราร้อยละ 2 ที่เป็นเป้าหมาย เป็นผลจากปัจจัยทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ด้านอุปสงค์คือดอกเบี้ยที่สูงขึ้นที่ลดการใช้จ่ายและเงินเฟ้อ สวนทางกับปัจจัยชั่วคราวขณะนั้น คือประชาชนเร่งการใช้จ่ายกระตุ้นโดยเงินช่วยเหลือจากภาครัฐที่ให้ตั้งแต่ช่วงโควิดและราคาหลักทรัพย์ที่ปรับสูงขึ้น

สองปัจจัยนี้เพิ่มเงินเฟ้อ ส่วนด้านอุปทานคือข้อจำกัดที่มากับภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ราคาพลังงาน ที่เพิ่มเงินเฟ้อ ปัจจัยเหล่านี้ให้ผลสุทธิเป็นบวกต่ออัตราเงินเฟ้อช่วงสามเดือนแรกปีนี้ อัตราเงินเฟ้อจึงเร่งตัว ทําให้เฟดไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้

ผ่านมาสามเดือน อัตราเงินเฟ้อกลับมาลดลง จากร้อยละ3.4 เดือนเมษายนลดเหลือร้อยละ 3.0เดือนมิถุนายน ซึ่งตัวเลขเดือนมิถุนายนลดมากกว่าที่ตลาดการเงินคาดและเป็นครั้งแรกปีนี้ที่อัตราเงินเฟ้อเดือนต่อเดือนติดลบ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานก็ลดลงเหลือร้อยละ 3.3 จากเฉลี่ยร้อยละ 3.8 ช่วงสามเดือนแรก

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนว่าปัจจัยด้านอุปสงค์คือ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นที่ลดการใช้จ่ายและเงินเฟ้อ กําลังเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนทิศทางเงินเฟ้อในสหรัฐ และการลดลงของอัตราเงินเฟ้อก็มากับเศรษฐกิจที่ชะลอมากขึ้น เห็นได้จากภาวะในตลาดแรงงานที่อัตราการว่างงานล่าสุดเพิ่มเป็นร้อยละ 4.1 แสดงถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยที่สูง

สำหรับเฟดการชะลอตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น เพราะเป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยที่ได้ปรับสูงขึ้น เป็นสิ่งที่เฟดรออยู่ และเมื่อจุดนี้มาถึง เฟดก็ต้องเริ่มตัดสินใจเกี่ยวกับเงื่อนเวลาที่จะปรับลดดอกเบี้ย

เพราะอย่างที่เฟดยํ้ามาตลอด อัตราดอกเบี้ยถ้าลดเร็วเกินไปจะปูทางให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาเร่งตัว แต่ถ้าช้าเกินไปเศรษฐกิจก็จะเสียหาย คือเศรษฐกิจชะลอตัวมากเกินเพราะอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงนานเกิน

อ่านสัญญาณเฟดล่าสุดเรื่องทิศทางดอกเบี้ย

ในการให้ถ้อยคำและตอบข้อซักถามคณะกรรมาธิการการธนาคาร ที่อยู่อาศัย และกิจการเมืองประจำรัฐสภาสหรัฐ (Senate Committee for Banking, Housing, and Urban Affairs) ช่วงวันที่ 9 -10 สัปดาห์ที่แล้ว ก่อนตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนจะประกาศออกมาในวันที่ 11 กรกฎาคม

ประธานเฟดได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องเงินเฟ้อและแนวทางที่เฟดจะพิจารณาในการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย โดยประเด็นที่ได้จากการอ่านระหว่างบรรทัดจากสิ่งที่ประธานเฟดพูดคือ

หนึ่ง เมื่ออัตราเงินเฟ้อลดลง เฟดจะดูเรื่องตลาดแรงงานและเศรษฐกิจมากขึ้น คือยํ้าว่าอัตราเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่เฟดให้ความสำคัญสูงสุดในการดำเนินนโยบาย

สอง อัตราดอกเบี้ยที่ตํ่ามากๆ จะไม่เกิดขึ้นอีก คือยอมรับว่าอัตราเงินเฟ้อที่ตํ่าหรือตํ่ามากอย่างที่เคยเกิดขึ้นจะไม่เกิดขึ้นอีก ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นที่ผมเคยให้ไว้ว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว ปัจจัยที่เคยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อในเศรษฐกิจโลกต่ำ เช่น โลกาภิวัตน์ เสถียรภาพทางการเมือง ปัจจุบันไม่มีแล้ว

สาม ถ้าเศรษฐกิจดี อัตราเงินเฟ้อสูง อัตราดอกเบี้ยจะยืน คือไม่ลด ถ้าตลาดแรงงานอ่อนกว่าคาด อัตราเงินเฟ้อลดลงเร็ว เฟดก็พร้อม respond คือพร้อมตัดสินใจ

สี่ อัตราดอกเบี้ยสามารถลดได้โดยไม่ต้องรอให้ตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2 คือลดลงจนเหลือร้อยละ 2 เพียงแต่ขอให้มั่นใจได้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเข้าสู่เป้าร้อยละ 2 แสดงถึงความพร้อมที่จะลดดอกเบี้ย

ห้า อัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2 สามารถเกิดขึ้นได้โดยเศรษฐกิจไม่ถดถอย หมายความว่า เศรษฐกิจถดถอยหรืออัตราการว่างงานที่สูงไม่ได้เป็นเงื่อนไขของการได้มาซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่ตํ่า คือเศรษฐกิจขยายตัวพร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งเฟดต้องการสื่อว่านี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น

อ่านสัญญาณเฟดล่าสุดเรื่องทิศทางดอกเบี้ย

ใครที่คุ้นเคยกับการทำนโยบายการเงิน ห้าประเด็นนี้เหมือนเป็นสัญญาณว่า ธนาคารกลางสหรัฐได้มาถึงจุดที่พร้อมจะลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งตลาดการเงินก็มีข้อสรุปเช่นกัน และวิเคราะห์ว่ามีความเป็นไปได้ถึงร้อยละ 89 ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมวันที่ 17-18 กันยายน ขณะที่ความเป็นไปได้ที่จะลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้าสิ้นเดือนนี้นั้นตํ่ามาก

ผมคิดว่าที่ตลาดการเงินวิเคราะห์ว่าเฟดจะชะลอการตัดสินใจไปถึงเดือนกันยายนคงมาจากวิธีการทำงานของเฟดที่ตลาดการเงินเข้าใจเป็นอย่างดี

อย่างแรก จากนี้ถึงปลายเดือนกรกฎาคม คืออีก 15 วัน ยกเว้นตัวเลขจีดีพีไตรมาสสองที่จะออกมาปลายเดือน จะไม่มีตัวเลขเศรษฐกิจออกมาที่สำคัญต่อการตัดสินใจ ตัวเลขจีดีพีไตรมาสสองจะยืนยันการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

แต่ในเดือนสิงหาคมและ 15 วันแรกของเดือนกันยายนจะมีตัวเลขเงินเฟ้อและตลาดแรงงานในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมออกมา ที่จะทำให้เฟดมั่นใจได้มากขึ้นว่าอัตราเงินเฟ้อกําลังลดลงต่อเนื่องและตลาดแรงงานและเศรษฐกิจจะได้ประโยชน์จากการลดอัตราดอกเบี้ย

และถ้าตัวเลขออกมาอ่อนแอกว่าคาด ทั้งเงินเฟ้อ การจ้างงาน และเศรษฐกิจ เฟดก็สามารถลดอัตราดอกเบี้ยในขนาดที่สูงกว่าปรกติได้ตามความจำเป็น เหมือนกับที่เคยทำตอนขึ้นอัตราดอกเบี้ย

สอง การรอถึงเดือนกันยายนทำให้เฟดมีเวลาที่จะเตรียมตลาดการเงินและเศรษฐกิจสําหรับการลดอัตราดอกเบี้ย ไม่ใช่เฉพาะตลาดการเงินสหรัฐ แต่หมายถึงเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก ผ่านการสื่อสารและการแสดงความเห็นในเวทีสาธารณะ

เช่น การประชุมนายธนาคารกลางและนักการเงินประจำปี ที่ เมืองเเจ๊คสัน โฮล สหรัฐ ในเดือนสิงหาคมที่จะให้ตลาดรับรู้และสามารถปรับตัวได้ล่วงหน้า เป็นศิลปะของการดําเนินนโยบายการเงินที่ธนาคารกลางสหรัฐทำได้ดีมาตลอด

และสำหรับนักลงทุนที่มั่นใจ จะไม่แปลกใจเลยถ้าการปรับตัวได้เกิดขึ้นแล้ว ทันที่ที่สัญญาณออกมาตั้งแต่อาทิตย์ที่แล้ว.

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
[email protected]

 

อ่านสัญญาณเฟดล่าสุดเรื่องทิศทางดอกเบี้ย