‘เฟด’ เตือนคงดอกเบี้ยสูงนานเกินไป เสี่ยงกระทบเศรษฐกิจอ่อนแอ

‘เฟด’ เตือนคงดอกเบี้ยสูงนานเกินไป เสี่ยงกระทบเศรษฐกิจอ่อนแอ

‘เจอโรม พาวเวล’ แถลงนโยบายการเงิน ชี้หากคงดอกเบี้ยสูงนานเกินไป อาจกระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจ - การจ้างงานอ่อนแอลง ย้ำเป้าหมาย 'เงินเฟ้อ' ลงสู่ระดับ 2% คาดลดดอกเบี้ยครั้งแรกเดือนก.ย. 0.25%

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานถ้อยแถลงของ “เจอโรม พาวเวล” ประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ในการแถลงนโยบายการเงิน และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ รอบครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการ การธนาคารประจำวุฒิสภาสหรัฐเมื่อค่ำของวานนี้ (9 ก.ค.67)ว่าการลดนโยบายการเงินเข้มงวดช้าเกินไปหรือน้อยเกินไปอาจทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการจ้างงานอ่อนแอลง

"แม้มีความคืบหน้าในการปรับลดเงินเฟ้อ และลดความร้อนแรงในตลาดแรงงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เงินเฟ้อไม่ใช่ความเสี่ยงประการเดียวที่เราเผชิญ แต่การผ่อนคลายนโยบายการเงินที่ช้าเกินไปหรือน้อยเกินไปอาจสร้างความอ่อนแอต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน"

พาวเวลยังกล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีความแข็งแกร่งเช่นเดียวกับตลาดแรงงาน แม้มีการชะลอตัวลงบ้างในช่วงที่ผ่านมา ส่วนเงินเฟ้อได้ชะลอตัวลง ในขณะเดียวกันเฟดยังคงมีความมุ่งมั่นในการทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลงสู่ระดับเป้าหมาย 2% 

ก่อนหน้านี้ พาวเวลได้แสดงความพึงพอใจต่ออัตราเงินเฟ้อครั้งล่าสุดที่แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้า และถ้าหากยังคงมีข้อมูลที่ดีปรากฏออกมาอีก ก็จะช่วยให้เฟดมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเงินเฟ้อกำลังปรับตัวไปสู่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยของเฟดอยู่ที่ 5.25%-5.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 23 ปี เป็นผลมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกัน 11 ครั้ง หลังจากอัตราเงินเฟ้อแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980

คาดลดดอกเบี้ย 0.25% เดือนก.ย.

แม้ถ้อยแถลงดังกล่าวไม่ได้ส่งสัญญาณเกี่ยวกับ "ช่วงเวลา" ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่ FedWatch Tool ของ CME บ่งชี้ว่า นักลงทุนยังคงคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% จำนวน 2 ครั้งในปีนี้ โดยให้น้ำหนักเกือบ 72% ที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมเดือนก.ย. เทียบกับการให้น้ำหนักที่ระดับต่ำกว่า 50% ในเดือนที่แล้ว

นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าวว่า ค่าเช่า และค่าใช้จ่ายด้านอสังหาริมทรัพย์กำลังทำให้เงินเฟ้อของสหรัฐปรับตัวขึ้น แต่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัญหาที่เกี่ยวกับอุปทาน และตลาดแรงงานที่ตึงตัวได้ผ่อนคลายลง

"ดิฉันเชื่อว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเวลาผ่านไป"

หุ้น 7 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนบวก นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มการเงิน และกลุ่มเฮลท์แคร์ปรับตัวขึ้น 0.65% และ 0.43% ตามลำดับ ส่วนดัชนีหุ้นกลุ่มวัสดุปรับตัวลงมากที่สุด โดยร่วงลง 1.01% รองลงมาคือ ดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลง 0.94%

นายไมค์ วิลสัน หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของมอร์แกน สแตนลีย์ กล่าวเตือนนักลงทุนให้ระวังการปรับฐานอย่างรุนแรงในตลาดหุ้นสหรัฐ ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

"ผมคิดว่ามีแนวโน้มอย่างมากที่ดัชนี S&P 500 จะปรับฐาน 10% ในระหว่างนี้จนถึงการเลือกตั้ง และตลาดจะปรับตัวอย่างผันผวนในไตรมาส 3" นายวิลสัน กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อ Bloomberg Television

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์