‘IMF’ มอง ‘เฟด’ อยู่ในสถานะที่จะลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
‘IMF’ มอง ‘เฟด’ มีโอกาสลดดอกเบี้ยในปลายปี ท่ามกลางเงินเฟ้อสหรัฐ มิ.ย. ที่ชะลอลง ขณะเดียวกัน IMF เตือนสหรัฐมีภาวะขาดดุลการคลังสูงไป ควรควบคุมภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น
สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานอ้างความเห็น “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ” (IMF) ที่เชื่อมั่นว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยได้ในช่วงปลายปีนี้ และควรดำเนินนโยบายด้วยความระมัดระวัง แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อผู้บริโภคของสหรัฐในเดือนมิถุนายน ที่ลดลง จะส่งผลให้เกิดความคาดหวังว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นก็ตาม
จูลี่ โคซัค โฆษกของ IMF กล่าวกับผู้สื่อข่าวในการแถลงข่าวประจำวันที่ว่า ภาวะเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงนี้กำลังดำเนินอยู่ในสหรัฐ โดยการแถลงการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากมีรายงานที่แสดงว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐ (U.S. Consumer Price Index) ลดลง 0.1% ในเดือนมิถุนายน ซึ่งถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 4 ปี
"เราสนับสนุนแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินแบบอิงข้อมูล และรอบคอบของเฟด เราคาดหวังว่า เฟดจะอยู่ในสถานะที่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยได้ในช่วงปลายปีนี้ และการประเมินนี้ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง" โคซัค แถลง
โคซัค ยังได้กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีการเติบโตที่ "แข็งแกร่งอย่างน่าทึ่ง" และมีการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางจำนวนมากเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานสะอาด และเซมิคอนดักเตอร์ จะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม โคซัคยังคงย้ำถึงคำแนะนำนโยบายประจำปีล่าสุดของ IMF ที่ให้สหรัฐควบคุมภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นข้อแนะนำที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน
โฆษกของ IMF กล่าวว่า "ขณะนี้ ภาวะขาดดุลการคลังของสหรัฐ สูงเกินไป ถึงแม้เศรษฐกิจจะแข็งแกร่ง แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะดำเนินการเพื่อลดอัตราส่วนหนี้ต่อ GDP ลงอย่างเด็ดขาด ซึ่งจะต้องใช้มาตรการทางการคลังที่หลากหลาย"
ทั้งนี้ IMF ประมาณการว่า ภาระการชำระดอกเบี้ยสุทธิของรัฐบาลสหรัฐต่อหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 3.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน โดยเพิ่มขึ้นจาก 2.4% ในปีงบประมาณ 2563 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น โคซัค กล่าวอีกว่า อัตราส่วนนี้จะยังคงอยู่ในระดับสูงแม้ในช่วงระยะกลาง เพราะสาเหตุมาจากภาวะขาดดุล และระดับหนี้สินที่เพิ่มขึ้น
อ้างอิง: reuters
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์