IMF ชี้ ‘กำแพงภาษี’ ไร้เหตุผล หวั่นสงครามการค้ากดจีดีพีโลกหดตัว 7%

IMF ชี้ ‘กำแพงภาษี’ ไร้เหตุผล หวั่นสงครามการค้ากดจีดีพีโลกหดตัว 7%

IMF ชี้ สงครามการค้าของสามมหาอำนาจ สหรัฐ จีน ยุโรป เพิ่มข้อจำกัดทางการค้าขึ้น 3 เท่าในปีที่ผ่านมา พบ 2 ใน 3 ไร้เหตุผล อาจซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกหดตัวหนักสุดถึง 7%

คริสตาลินา กอร์เกียวา (Kristalina Georgieva) กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหวางประเทศ (IMF)  กล่าวในการประชุมสุดยอดซีอีโอโดยซีเอ็นบีซีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (4 มิ.ย.67) ว่าการเพิ่มขึ้นของข้อจำกัดทางการค้า รวมถึงภาษีนำเข้า จากประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก เป็นความเสี่ยงที่ “น่ากังวลที่สุด” ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

จากข้อมูลของ IMF พบว่า ข้อจำกัดทางการค้าเพิ่มขึ้นสามเท่า ในปีที่แล้ว จาก 1,000 มาเป็น 3,000 รายการ

กอร์เกียวา กล่าวว่า การค้าโลกกำลังชะลอตัวลงมากกว่าปกติ ซึ่งจาก 2 ใน 3 ของนโยบายภาษีเหล่านั้นขาดความสมเหตุสมผล พร้อมแสดงความกังวลเกี่ยวกับ นโยบายอุตสาหกรรมแบบเลือกปฏิบัติที่เพิ่มมากขึ้น โดยอธิบายว่า "สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือเราเห็นการใช้นโยบายตามอำเภอใจแบบนี้ทุกที่ในทุกที่" ซึ่งหมายถึงมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดสามแห่งของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป ที่เมื่อวิเคราะห์มาตรการนโยบายอุตสาหกรรมในแต่ละประเทศจะพบว่า “นโยบายการขึ้นภาษีมีเหตุผลรอบรับเพียงแค่ 1 ใน 3เท่านั้น”

ทั้งนี้ IMF พยายามหา “จุดสมดุล”เพื่อยอมรับความจำเป็นสำหรับข้อจำกัดทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากบางครั้งจำเป็นต้องใช้ข้อจำกัดทางการค้าเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ กับการเรียกร้องให้มีการใช้ภาษีอย่างรอบคอบยิ่งขึ้น 

“สงครามรัสเซีย-ยูเครน สอนให้หลายประเทศรู้ถึงความสำคัญของความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน และความจำเป็นในการกระจายแหล่งที่มาของสินค้า”

หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนนั้นคือ “สหรัฐ” เนื่องจากผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐทั้ง 2 พรรค ได้แก่ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และโดนัลด์ ทรัมป์ ต่างก็ดำเนินนโยบายภาษีเชิงรุก 

กอร์เกียวา กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการค้าโลก กำลังส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเติบโตช้าลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ พร้อมวิพากษ์วิจารณ์นโยบายแบบ “เลือกผู้ชนะ” ของบางประเทศ โดยยกตัวอย่างว่า นโยบายเหล่านี้มัก “เอื้ออำนวย” ต่อบางบริษัท แต่สุดท้ายกลับล้มเหลว สาเหตุหลักมาจากรัฐบาลมักไม่มีประสิทธิภาพในการคัดเลือกบริษัทที่จะประสบความสำเร็จ

สงครามการค้าส่อฉุด GDP โลกหดตัว 7%

IMF ประเมินว่าข้อจำกัดการค้าระหว่างประเทศสามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดการณ์ว่าอาจส่งผลทำให้ GDP หดตัวลงระหว่าง 0.2% ถึง 7% ในกรณีที่เลวรา้ยที่สุด ซึ่งเทียบเท่ากับการสูญเสียเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของประเทศอย่าง ญี่ปุ่นหรือเยอรมนีไปทั้งประเทศ

เมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งใช้มาตรการจำกัดการค้า มีโอกาสสูงถึง 75% ที่ประเทศอื่นๆ จะตอบโต้ด้วยมาตรการที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาและสร้างผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่ง IMF ตั้งคำถามว่า "เราจะดำเนินนโยบายแบบนี้ไปไกลแค่ไหน" พร้อมเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ดำเนินนโยบายการค้าอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงความมั่นคงของชาติและเศรษฐกิจโลก หลีกเลี่ยงการใช้มาตรการที่สร้างผลเสียต่อทุกฝ่าย

เศรษฐกิจระยะกลางยังน่าห่วง

ภาวะเศรษฐกิจโลกในระยะสั้นปีนี้ยังมีทิศทางที่ดี โดย IMF  เพิ่งปรับเพิ่มประมาณการเติบโตเป็น 3.2% จากผลการดำเนินงานของเศรษฐกิจโลกที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้โดยสหรัฐเป็นผู้นำการเติบโต 

รวมทั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา GDP โลกเติบโต 6.7% ซึ่งสูงกว่าประมาณการของ IMF เมื่อปี 2565 เกือบ 1%

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า IMF จะคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตประมาณ 3% ต่อปีในปีต่อๆ ไป แต่กอร์เกียวา กลับแสดงความกังวลว่า แนวโน้มการเติบโตในระยะกลางนั้น “ค่อนข้างน่าผิดหวัง”

เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขการเติบโตที่คาดการณ์ไว้กับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด COVID-19 พบว่าเศรษฐกิจโลกขยายตัวช้าลงเกือบ 1% ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วโลก นำไปสู่ความผิดหวังและสร้างความกังวลเกี่ยวกับอนาคตทางการเงินในท้ายที่สุด ซึ่งจำเป็นต้องเร่งการเติบโตเศรษฐกิจและเพิ่มผลผลิต มิฉะนั้นปัญหาความไม่มั่นคงทางสังคมจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงที่ช่องว่างระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จะขยายกว้างขึ้น ซึ่งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอาจทำให้ประเทศยากจนยิ่งล้าหลังมากขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 30 ปี

หากมองย้อนไปในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกเติบโตขึ้นถึง 3 เท่า ขณะที่เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ในประเทศกำลังพัฒนาขยายตัวถึง 4 เท่า ดังนั้นการสนับสนุนและส่งเสริมระบบเศรษฐกิจโลกแบบเปิด โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกประเทศมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่การเพิ่มต้นทุนทางการค้าจะส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการที่สูงขึ้น นำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ ความหิวโหย และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของโลกในที่สุด

อ้างอิง cnbc