ถอดบทเรียนผลกระทบต่อตลาดการเงิน ผ่านการจัดอันดับความน่าเชื่อถือประเทศ (Sovereign Credit Rating)

ถอดบทเรียนผลกระทบต่อตลาดการเงิน ผ่านการจัดอันดับความน่าเชื่อถือประเทศ (Sovereign Credit Rating)

ศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่ไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนในอดีต จึงเป็นความท้าทายของไทยในการรักษาความสามารถในการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เช่น เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อ GDP ตลอดจนสัดส่วนหนี้สาธารณะ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันประเทศต่อการเปลี่ยนแปลงของอันดับความน่าเชื่อถือ

ต้องยอมรับว่าปี 2567 นี้ ถือเป็นปีที่มีความผันผวนและความไม่แน่นอนสูงขึ้น เริ่มตั้งแต่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนผ่านนโยบายการเงินของกลุ่มธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งในหลายประเทศ เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐาน และศักยภาพการเติบโตในอนาคตของเศรษฐกิจ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อการประเมินอันดับความน่าเชื่อถือประเทศ (Sovereign Credit Rating) ของกลุ่มเรตติ้ง เอเจนซี่ ที่มักจะมีการปรับขึ้น หรือลดระดับความน่าเชื่อถือประเทศเป็นปกติ ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วนคือ 1.ระดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ซึ่งหมายถึงความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศ 2.แนวโน้มระดับความน่าเชื่อถือ (Outlook) เป็นการคาดการณ์แนวโน้มในการชำระหนี้ในอนาคต การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลต่อตลาดการเงินในระยะสั้น และมีผลต่อเนื่องสู่ภาพเศรษฐกิจจริงในระยะต่อ ๆ ไป จากกรณีการปรับ Credit Rating ในอดีตที่ผ่านมา ของหลายประเทศ พอจะสรุปผลของการเปลี่ยนแปลงต่อตลาดการเงิน ได้ดังนี้ 

1) อัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ ผ่านช่องทางรายได้และต้นทุนของผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้า ซึ่งนำไปสู่การปรับตัวของราคาสินค้าภายในประเทศและกระทบต่อการบริโภคของครัวเรือน เช่น ในกรณีของมาเลเซีย ปี 2558 ที่ถูกปรับลดมุมมองแนวโน้มระดับความน่าเชื่อถือ (Outlook) ในระยะข้างหน้าจากคงที่ (Stable) เป็นติดลบ (Negative) ซึ่งหมายถึงมีแนวโน้มจะถูกปรับลดระดับความเชื่อถือในระยะต่อไป บางส่วนเป็นผลมาจากความกังวลการขาดดุลการคลังและความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้ค่าเงินริงกิตมาเลเซียปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างมีนัย ในทางกลับกัน ในกรณีของเกาหลีใต้ปี 2553 ที่มีการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของ Moody's Investor Service (Moody’s) จาก A2 ไป A1 ตามภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง หลังผ่านวิกฤตการณ์การเงิน ปี 2551 ส่งผลให้ค่าเงินวอนเกาหลีใต้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังการเปิดเผยอันดับความน่าเชื่อถือประมาณ 1.25% เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

2) ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล สะท้อนความเสี่ยงในการกู้ยืมของภาครัฐและภาคเอกชน โดยผลตอบแทน (Yield) จะปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อสอดรับกับความเสี่ยงต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น (Risk Premium) หากประเทศมีการถูกลดระดับความน่าเชื่อถือลง ซึ่งต้นทุนกู้ยืมภาครัฐที่สูงขึ้น กระทบไปยังต้นทุนการกู้ยืมเงินของภาคธุรกิจสูงตามไปด้วย และส่งผลต่อการดำเนินงานของบริษัท ในทางกลับกัน การปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือจะส่งผลในทางตรงกันข้าม ตัวอย่างที่ชัดเจนในอดีต คือ ในกรณีของประเทศกรีซ ช่วงปี 2553-2554 ที่เรทติ้งเอเจนซี่ทั้งหมดปรับอันดับความน่าเชื่อถือจากระดับที่น่าลงทุน (Investment Grade) เหลือระดับลงทุนเพื่อการเก็งกำไร (Speculative Grade) จากความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ และสัดส่วนหนี้สาธารณะที่ปรับสูงขึ้น ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศกรีซที่ปรับเพิ่มขึ้นเร็ว หลังนักลงทุนต้องการ Risk Premium ที่สูงขึ้น จากความกังวลที่ภาครัฐอาจผิดนัดชำระหนี้

3) ความเชื่อมั่นในการลงทุน และต้นทุนการกู้ยืมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่อตลาดทุน และทำให้ภาคเอกชนปรับทิศทางการลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริง เช่น ในกรณีเกาหลีใต้ ปี 2554 ที่ ทาง S&P Global Ratings (S&P) มีการอัปเกรดอันดับความน่าเชื่อถือจาก A+ เป็น AA- จากภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะจากความเสี่ยงของปัจจัยภายนอก และการจัดการนโยบายการคลังที่ดี ส่งผลให้ดัชนี KOSPI ของเกาหลีใต้ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย ในทางกลับกัน กรณีของสหรัฐฯ ปี 2554 S&P ปรับลดความน่าเชื่อถือลงจาก AAA เหลือ AA+ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ช่วงปี 2554 จากความกังวลเพดานหนี้สาธารณะ และความยั่งยืนทางการคลังของสหรัฐอเมริกา ทำให้การปรับลดความน่าเชื่อถือดังกล่าว ส่งผลให้ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐฯ ปรับลดลงราว 6% ในหนึ่งสัปดาห์

ในกรณีของไทย การเปลี่ยนแปลงอันดับความน่าเชื่อถือไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ ซึ่งเป็นไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นภายในประเทศ และจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ที่กระทบต่อประเทศไทย โดยในอดีตไทยเคยถูกปรับลดความน่าเชื่อถือหลายครั้ง เช่น ในช่วงปี 2559 Moody’s ปรับลดความน่าเชื่อถือของไทยลงจาก Baa1 เหลือ Baa2 ตามลำดับ จากความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ และความกังวลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้หลังการปรับอันดับความน่าเชื่อถือ ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 0.6% เทียบเงินดอลลาร์ และผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับสูงขึ้น 10 Basis Points ขณะที่ดัชนี SET ปรับลดลงราว 1.5% ในวันที่มีการประกาศ และอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงอีกพักใหญ่จากความกังวลของนักลงทุน 

ในทางกลับกัน ประเทศไทยก็ผ่านประสบการณ์ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือเช่นกัน โดยปี 2558 S&P ปรับอันดับขึ้นจาก BBB เป็น BBB+ หลังปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง และเสถียรภาพทางการคลังปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น และผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ปรับลดลงภายหลังการประกาศ เช่นเดียวกันกับดัชนี SET ที่ปรับเพิ่มขึ้นขณะที่ในปัจจุบัน การประเมินอันดับความน่าเชื่อถือล่าสุดในช่วงปลายปี 2566 ทั้ง S&P และ Moody’s ให้อันดับความน่าเชื่อถือของไทยคงอยู่ที่ BBB+ และ Baa1 ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่มีเรทติ้งในระดับที่น่าลงทุน (Investment Grade) และทั้ง 2 เรทติ้งเอเจนซี่ มีการให้มุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจระยะข้างหน้า (Outlook) ที่ระดับคงที่ (Stable) 

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน และศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่ไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนในอดีต จึงเป็นความท้าทายของไทยในการรักษาความสามารถในการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เช่น เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อ GDP ตลอดจนสัดส่วนหนี้สาธารณะ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันประเทศต่อการเปลี่ยนแปลงของอันดับความน่าเชื่อถือ