อัปเดต! รายได้จาก 'โทเคนดิจิทัล' ยกเว้นภาษี อย่างไร

อัปเดต! รายได้จาก 'โทเคนดิจิทัล' ยกเว้นภาษี อย่างไร

ทำความรู้จักกับ "โทเคนดิจิทัล" รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการ ยกเว้นภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา ว่ามีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง

ในยุคที่ใครๆ ต่างก็สนใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นตระกูล "คริปโทเคอร์เรนซี" หรือแม้แต่ "โทเคนดิจิทัล" เพราะถือเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้จากการเก็งกำไรเมื่อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนี้

แน่นอนว่าเมื่อมีรายได้หรือได้กำไรจากการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีด้วยนั่นเอง

โดยล่าสุดได้มีประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดา สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน

ซึ่งเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ เนื่องจากโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการระดมทุน มีลักษณะคล้ายกับหลักทรัพย์ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามมาตรฐานที่ใกล้เคียงกัน

แต่ปัจจุบันเงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนต้องถูก หักภาษี ณ ที่จ่าย และผู้มีเงินได้ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย

ดังนั้น จึงสมควรยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้มีเงินได้ ซึ่งได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน

วันนี้ไปทำความรู้จักกับ "โทเคนดิจิทัล" กันแบบลึกซึ้ง รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาว่ามีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง ได้จากบรรทัดต่อจากนี้

โทเคนดิจิทัล คืออะไร

โทเคนดิจิทัล คือ (Digital Token) เป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอกนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นหน่วยในการลงทุน โดยการแปลงสินทรัพย์ที่มีอยู่จริง อย่างเช่นอสังหาริมทรัพย์หรือที่ดินให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล และผู้ถือโทเคนก็จะได้รับส่วนแบ่งรายได้ กำไร ตามเงื่อนไขที่ผู้ออกโทเคนดิจิทัลกำหนดไว้

รวมถึงสิทธิประโยชน์จากการได้สินค้าและบริการ หรือสิทธิอื่นๆ ที่ได้ เช่น ส่วนลดการใช้บริการ การใช้บริการฟรี หรือสิทธิพิเศษอื่นๆ โดยผู้ลงทุนสามารถเข้ามาถือครองโทเคนดิจิทัลได้ผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (Initial Coin Offering (ICO))

ทั้งนี้ โทเคนดิจิทัลสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

1. Investment Token คือ โทเคนดิจิทัลที่ให้สิทธิในการร่วมลงทุนในโครงการ และได้รับผลตอบแทนในรูปแบบต่างๆ เช่น ได้รับส่วนแบ่งรายได้ หรือได้รับผลตอบแทนคล้ายตราสารหนี้

ซึ่งการออกเสนอขาย Investment Token หรือที่เรียกว่า Initial Coin Offering (ICO) ผู้ระดมทุนต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. รวมถึงต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (แบบ filing) และร่างหนังสือชี้ชวน และต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อให้มีการคุ้มครองผู้ลงทุนที่เพียงพอเหมาะสม ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน และเป็นไปในทางเดียวกับการออกเสนอขายหลักทรัพย์ที่มีลักษณะคล้ายกัน ไม่มีความเหลื่อมล้ำในการกำกับดูแล

2. Utility Token คือ เป็นโทเคนดิจิทัลที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการได้รับสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นๆ ที่เฉพาะเจาะจง โดยแบ่งเป็นแบบไม่พร้อมใช้ (Utility Token) และแบบพร้อมใช้ (Utility Token)

(ข้อมูลจาก : กรุงเทพธุรกิจ)

 

รายได้จาก "โทเคนดิจิทัล" ยกเว้นภาษีเงินได้

ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดา สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครอง "โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน"

โดยในพระราชกฤษฎีกานี้ "โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน" หมายความว่า โทเคนดิจิทัลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใดๆ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นในลักษณะเดียวกับที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนตามมาตรา 40(4)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร และผู้จ่ายเงินได้ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว ตามมาตรา 50(2) แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกัน เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

ทั้งนี้ ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเฉพาะเงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2567 และเฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ไม่ขอรับภาษีที่ถูกหักไว้คืน หรือไม่ขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไว้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

สรุป...ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเมื่อมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด

จากประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา การให้ยกเว้นภาษีเงินได้แก่บุคคลธรรมดา ไม่ต้องนำเงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ได้นั้น จะต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด และไม่ขอรับภาษีที่ถูกหักไว้คืน หรือไม่ขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไว้นั่นเอง

 

อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting