ค่าเงินบาทวันนี้ 12 พ.ย.67 ‘อ่อนค่าหนัก‘ เหตุเฟดลดดอกเบี้ยน้อยลงกว่าคาด
ค่าเงินบาทวันนี้ 12 พ.ย. 67 เปิดตลาด “อ่อนค่าหนัก” ที่ 34.51 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ตลาดมองโอกาสเฟดลดดอกเบี้ยน้อยลงกว่าคาด และมีแรงซื้อทองคำจังหวะราคาย่อตัวลง มองกรอบเงินบาทวันนี้ 34.40-34.65 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.51 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.31 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.40-34.65 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท(USDTHB) เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (กรอบการเคลื่อนไหว 34.30-34.59 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า ภายใต้การดำเนินนโยบายของรัฐบาล Trump 2.0 เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ได้ระบุไว้ใน Dot Plot เดือนกันยายน
โดยล่าสุด จาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้งในปี 2025 (โอกาส 86%) ซึ่งน้อยกว่าการลดดอกเบี้ยทั้งหมด 4 ครั้ง ที่เฟดได้ระบุไว้ใน Dot Plot
นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงการเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด ได้กดดันให้ราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวลงหนักกว่า -60 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เข้าใกล้โซนแนวรับแถว 2,600-2,610 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนใช้จังหวะดังกล่าวในการทยอยเข้าซื้อทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง
ทว่า เงินบาทก็ยังไม่ได้อ่อนค่าจากโซน 34.50-34.60 บาทต่อดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยขายทำกำไรการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์บ้าง รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมขายเงินดอลลาร์จากผู้เล่นในตลาดบางส่วน หลังเงินบาทอ่อนค่าใกล้โซนแนวต้าน 34.50 บาทต่อดอลลาร์
แนวโน้มค่าเงินบาท
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การอ่อนค่าลงหนักของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น ทำให้ โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทมีกำลังมากขึ้น เปิดโอกาสให้เงินบาทยังสามารถทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ และมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 34.65 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก ทว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทนั้น อาจถูกชะลอลงบ้าง จากแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาด ทั้งฝั่งผู้ส่งออก และฝั่งผู้เล่นในตลาดที่มีสถานะ Short THB (อาจรอจังหวะทยอยขายทำกำไรสถานะดังกล่าวได้) อีกทั้ง หากราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นต่อเนื่องได้ อย่างน้อย +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากโซนแนวรับ ก็จะพอช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง
อย่างไรก็ดี เงินบาทจะยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ ตราบใดที่ผู้เล่นในตลาดยังเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด ซึ่งมุมมองดังกล่าวจะหนุนทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ (ซึ่งก็เป็นปัจจัยที่คอยกดดันราคาทองคำได้เช่นกัน) นอกจากนี้ บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม อีกทั้ง ก่อนที่ตลาดจะรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีน เงินหยวนจีน (CNY) ก็มีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้บ้าง กดดันบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชีย
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ เพราะหากภาพรวมตลาดแรงงานอังกฤษชะลอตัวลงชัดเจน อีกทั้งอัตราการเติบโตค่าจ้างชะลอลงกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า BOE อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้ ซึ่งจะกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) มีโอกาสอ่อนค่าลงต่อได้เช่นกัน นอกจากนี้ ควรรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยได้
ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงในตลาด ลักษณะ Two-Way Volatility ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงการปรับมุมมองต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางไปมา ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความหวังต่ออานิสงส์ของนโยบายต่างๆ ภายใต้รัฐบาล Trump 2.0 เช่น การลดภาษี และการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ดังจะเห็นได้จากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มการเงิน (BofA +2.1%) และ Tesla +9.0% ทว่า บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ กลับเผชิญแรงขายทำกำไรเพิ่มเติม อาทิ Nvidia -1.6%, Apple -1.2% ทำให้โดยรวม ดัชนี Dow Jones ปรับตัวขึ้น +0.69% ทว่า ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.10%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +1.13% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มการเงินยุโรป อาทิ HSBC +1.3% สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มการเงินสหรัฐฯ หลังตลาดรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ นอกจากนี้ บรรดาหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับทางทหารก็ปรับตัวขึ้นได้ดี อาทิ Safran +2.6%, Rolls Royce +3.4% ตามแนวโน้มที่สหรัฐฯ อาจกดดันให้กลุ่ม NATO ใช้จ่ายด้านการทหารมากขึ้น
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด ภายใต้รัฐบาล Trump 2.0 อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ถูกชะลอลงบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอจังหวะทยอยขายทำกำไรธีม Trump Trades ทำห้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่โซน 105.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.2-105.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมการเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลดลงหนัก สู่โซน 2,620 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นบ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงต้องการถือทองคำ เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงความเสี่ยงที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจปรับฐานได้บ้าง หลังระดับราคา (Valuation) อยู่ในระดับที่แพงพอสมควร
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ โดยเฉพาะในส่วนของอัตราการเติบโตของค่าจ้าง ซึ่งจะมีผลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE เพื่อประกอบการประเมินทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของ BOE โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดมองว่า BOE มีโอกาสเพียง 22% ที่จะลดดอกเบี้ยต่อในการประชุมเดือนธันวาคมนี้
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน โดยเฉพาะในส่วนของเศรษฐกิจเยอรมนี ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (ZEW Economic Sentiment) ของเยอรมนี และยูโรโซน ในเดือนพฤศจิกายน
และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด โดยเฉพาะหลังรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มว่า รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ จะสามารถดำเนินนโยบายต่างๆ ตามที่หาเสียงไว้ได้พอสมควร หลังพรรครีพับลิกันมีโอกาสครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรสได้
นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้