ไทยพาณิชย์ ปรับโครงสร้างแบงก์ เดินหน้า AI-First Bank สู่ธนาคารแห่งอนาคต
ไทยพาณิชย์เปิดผลดำเนินงานเติบโตแกร่งทุกเป้าหมาย
ปรับโครงสร้างดูแลลูกค้า ยกระดับบริการโดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง พร้อมเดินหน้า AI-First Bank สู่บริการธนาคารแห่งอนาคต
นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า การดำเนินงานตามกลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch สร้างผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งต่อเนื่อง และสามารถพิชิตทุกเป้าหมายที่วางได้
โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2567 ธนาคารไทยพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 3.85 หมื่นล้านบาท เติบโต 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (yoy) รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโต 3.1% yoy รายได้จากธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งเติบโต 19% yoyอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นที่ระดับ 12.1%
ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ (Domestic Systemically Important bank: D-SIBs) มีต้นทุนต่อรายได้ที่ 36.7% ต่ำที่สุดในระบบ D-SIBsนอกจากนี้ ในเรื่องความยั่งยืนนั้น ธนาคารไทยพาณิชย์ตอกย้ำบทบาทพันธมิตรในการพาลูกค้าทุกกลุ่มเร่งปรับตัวสู่สังคมคาร์บอนต่ำมากที่สุดในประเทศไทย ด้วยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนกว่า1.34 แสนล้านบาท (ณ พ.ย. 2567) จากเป้าหมาย 1.5 แสนล้านบาทในปี 2568
จากผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 แสดงให้เห็นพัฒนาการทางด้านดิจิทัลแบงก์ ด้วย 5 ผลงานสำคัญ ได้แก่
1. รายได้จากช่องทางดิจิทัลต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้นสู่ 15% จาก 7% ณ ปลายปี 2566
2. นำการใช้ AI ครอบคลุมมิติสำคัญของธนาคาร อาทิ การใช้ AI อนุมัติสินเชื่อ 100% และเพิ่มขีดความสามารถด้านการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการแบบเฉพาะบุคคล (Hyper-personalization) รวมถึงการใช้ AI เสริมประสิทธิภาพให้กับพนักงานดูแลลูกค้าและบริการสาขา เป็นต้น
3. การเปลี่ยนกระบวนการจากระบบมือสู่อัตโนมัติได้มากกว่า 1,000กระบวนการ
4. การเพิ่มเสถียรภาพให้แก่ SCB EASY ซึ่งสามารถลด Downtime จาก 4 ช.ม. ในปี 2566 เป็น 1 ช.ม. ในปีนี้
5.การวางรากฐานการเป็นธนาคารแห่งอนาคต ด้วยการลงทุนระบบหลักของธนาคาร (Core Bank) บนระบบคลาวด์
ขณะที่ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ได้สร้างผลงานโดดเด่นเชิงประจักษ์อย่างมาก โดยรายได้การบริหารความมั่งคั่งเติบโต 19% yoy ขณะที่มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการในส่วนของการลงทุน (Asset Under Advisory) เติบโต 11% สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่เติบโต 1.5%
นอกจากนี้ ธนาคารยังครองอันดับหนึ่งสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการประเภทอนุพันธ์แฝง (Structured Product) ครองอันดับหนึ่ง Wealth Lending และรักษาอันดับหนึ่งยอดประกันผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านธนาคาร (Bancassurance) ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 23%
นายกฤษณ์ กล่าวว่า สำหรับในปี 2568อุตสาหกรรมธนาคารยังพบกับความท้าทาย 3ด้านใหญ่ๆ กล่าวคือ 1. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลง โดยคาดการเติบโตของ GDP อยู่ที่ 2.4%
2. ระดับหนี้ครัวเรือนไทยที่ยังสูงซึ่งเพิ่มความท้าทายในธุรกิจสินเชื่อมากขึ้น และ
3. เทรนด์ AI และกฎกติกาด้าน ESG ยังคงมีผลต่อการดำเนินธุรกิจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกิดขึ้นของธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศผู้ที่ได้ใบอนุญาต Virtual Bank อย่างเป็นทางการภายในไตรมาส 2 ของปี 2568 จะเป็นอีกจุดเปลี่ยนที่สำคัญในระบบการเงินของไทย
ในปี 2568 ธนาคารจึงได้วางแผนปรับทิศทางธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch โดยมุ่งสร้างการเติบโตธุรกิจและพัฒนากระบวนการภายใน (Scale & Operate) ให้เป็นธนาคารดิจิทัลที่เหนือกว่าทั้งเทคโนโลยีและบริการ เพื่อเป็นรากฐานไปสู่องค์กรยั่งยืนจากนี้
จึงเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกับความท้าทายใหม่ที่จะเกิดขึ้น โดยจะให้ความสำคัญกับการสร้างคุณภาพใน 3 ส่วน ได้แก่
การมอบคุณภาพให้ลูกค้าด้วยบริการที่ตรงใจ การยกระดับคุณภาพขององค์กร และการสร้างพนักงานที่มีคุณภาพ ผ่านการปรับโครงสร้างและวิถีการทำงาน สร้างความสามารถในการแข่งขัน พร้อมพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป โดยจะดำเนินการบน 3 แนวทาง ดังนี้
1) ปรับโครงสร้างการดูแลลูกค้าโดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง โดยควบรวมช่องทางให้บริการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ และช่องทางดิจิทัลเข้าไว้ด้วยกันเพื่อมอบประสบการณ์ไร้รอยต่อให้เกิดขึ้นจริง ทั้งยังสร้างความคล่องตัวในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม
2) วางรากฐานดิจิทัลให้แข็งแกร่ง เร่งเสริมความสามารถทางด้าน Digital และ AI ให้ครอบคลุมทั้งองค์กร และแบ่งทีมดิจิทัลเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้าน AI & DATA Intelligence (Center of Excellence: COE) เป็นศูนย์กลางสนับสนุนการพัฒนาทางด้านดิจิทัลโดยเฉพาะ และอีกส่วนหนึ่งจะถูกจัดลงสู่ทีมธุรกิจเพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินของแต่ละกลุ่มธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มอย่างแท้จริง
3) เสริมศักยภาพในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการ ภายใต้โจทย์ เร็ว ดี มีนวัตกรรม เพื่อให้รูปแบบการทำงานแบบใหม่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เข้าถึงความต้องการลูกค้าอย่างแท้จริง และไม่หยุดที่จะพัฒนาเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบเฉพาะบุคคล (Hyper-personalization)
“ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจและธุรกิจที่มีความท้าทาย ธนาคารต้องเร่งเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันเพื่อสร้างการเติบโตของกำไรอย่างยั่งยืน ความสำเร็จที่เราเป็นในวันนี้อาจไม่เพียงพอต่อการเป็นผู้นำในวันข้างหน้า
ดังนั้น เพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันในอนาคต ธนาคารไทยพาณิชย์จึงต้องเร่งพัฒนาเพื่อให้เรายังคงวิ่งไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วและเป็นผู้นำต่อไปได้
โดยมีเป้าหมายในการนำยุทธวิธี AI-First Bank มาเป็นเครื่องยนต์หลักในการยกระดับธนาคารสู่ “ธนาคารแห่งอนาคต” ด้วยการนำ AI เข้ามาขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างสมบูรณ์ และมีลูกค้าเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เพียงสร้างความพึงพอใจ แต่ต้องสามารถคาดการณ์ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของลูกค้าได้แบบรายบุคคล รวมถึงการนำ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและเตรียมความพร้อมของบุคลากร และสร้างไทยพาณิชย์ให้เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมที่สร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนแก่ผู้ถือหุ้น” นายกฤษณ์ กล่าวปิดท้าย