ระวัง! ใบกำกับภาษีปลอม มีผลเสียทั้งผู้ออกและผู้รับ?
ครบทุกเรื่องใบกำกับภาษี เปิดหลักการ วิธีการ และใครบ้างที่สามารถออกใบกำกับภาษีได้ รวมถึงโทษที่จะได้รับจากการออกใบกำกับภาษีปลอม รวมถึงการนำใบกำกับภาษีปลอมไปใช้ประโยชน์ทางภาษี
เมื่อผู้ประกอบการได้มีการขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat) คือได้เข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเรียบร้อย จะมีหน้าที่ต้องเก็บ vat 7% จากผู้ซื้อ และออกใบกำกับภาษีทุกครั้งที่มีการขายสินค้าและบริการ พร้อมกับส่งใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางภาษี
ส่วนผู้ประกอบการที่ออกใบกำกับภาษีก็มีหน้าที่ส่ง vat 7% แบบ ภ.พ.30 ให้กับกรมสรรพากร
ดังนั้น หากผู้ประกอบการยังไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ย่อมไม่มีสิทธิเก็บ vat 7% จากผู้ซื้อและไม่สามารถออกใบกำกับภาษีได้ ซึ่งหลักการ วิธีการ และใครบ้างที่สามารถออกใบกำกับภาษีได้ รวมถึงโทษที่จะได้รับจากการออกใบกำกับภาษีปลอม รวมถึงการนำใบกำกับภาษีปลอมไปใช้ประโยชน์ทางภาษี จะมีผลเสียอย่างไรบ้าง ไปเจาะลึกได้จากบรรทัดต่อจากนี้
ความหมายของใบกำกับภาษี
ผู้ประกอบการที่มีรายได้จากการประกอบธุรกิจเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี มีหน้าที่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยยื่นจดไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท
และหลังจากนั้นหากมีการซื้อขายและบริการเกิดขึ้น ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องออกใบกำกับภาษี (TAX INVOICE) และส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในทันทีทุกครั้งเมื่อมีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกิดขึ้น เพื่อแสดงมูลค่าของสินค้าหรือบริการ และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในแต่ละครั้ง
จากนั้นผู้ประกอบการต้องยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) แก่สรรพากรภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน พร้อมกับเก็บเอกสารใบกำกับภาษี และรายงานภาษีซื้อ ภาษีขายไว้เป็นหลักฐาน
ใครบ้างมีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี
ผู้ที่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีให้กับผู้ซื้อได้นั้น สามารถทำได้เฉพาะผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 0% หรือ 7% ส่วนกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีให้กับผู้ซื้อ
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจดทะเบียนออกใบกำกับภาษีจะต้องมีองค์ประกอบคือ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้มีการขายสินค้าหรือให้บริการแก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ โดยจะต้องออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการนั้น ไม่สามารถออกให้บุคคลอื่นได้
ใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่มีสิทธิออกตามกฎหมาย
ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ใบกำกับภาษีจะสามารถออกได้เฉพาะผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ดังนั้น ผู้ซื้อสินค้าและบริการที่ได้ใบกำกับภาษีมา และภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่จะนำมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ผู้ออกจะต้องเป็นผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีเท่านั้น ซึ่งบุคคลที่ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้
1.บุคคลที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (มาตรา 86/13)
2.ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่อยู่นอกราชอาณาจักร และได้ให้ตัวแทนออกใบกำกับภาษีแทนตามมาตรา 86/2 (ตัวแทนออกใบกำกับภาษี ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน) (มาตรา 86/1(1))
3.ผู้ประกอบการที่ทรัพย์สินถูกนำออกมาขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นโดยบุคคลอื่นตามมาตรา 83/5 (การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายทอดตลาด) (มาตรา 86/1(2))
4.ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามประมวลรัษฎากรร มาตรา 83(6(3))
5.ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ไม่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการแต่ได้ออกใบกำกับภาษี
โทษและความผิดกรณีออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออก และใบกำกับภาษีปลอม
1.ออกใบกำกับภาษี (ใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้) โดยไม่มีสิทธิออกตามกฎหมาย
ความรับผิดทางแพ่ง
1) เสียเบี้ยปรับอีก 2 เท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือลดหนี้
2) เสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินที่ต้องเสียภาษี นอกจากนี้จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่แสดงในใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้หรือลดหนี้
โทษทางอาญา ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน – 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท – 200,000 บาท
2.นำใบกำกับภาษีปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนมาใช้ในการคำนวณภาษี
ความรับผิดทางแพ่ง
1) เสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของจำนวนภาษี ตามใบกำกับภาษี
2) เสียเบี้ยปรับ 1 เท่า ฐานยื่นภาษีไว้เกิน และเสียภาษีไว้คลาดเคลื่อน
3) เสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของจำนวนเงินภาษี
โทษทางอาญา นำใบกำกับภาษีปลอมหรือใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิตภาษีโดยเจตนา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน – 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท – 200,000 บาท
สรุป...ใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ไม่มีสิทธิ ส่งผลเสียทั้งผู้ออกและผู้นำไปใช้
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการหรือผู้ซื้อ เมื่อมีการซื้อขายสินค้าและบริการ จะต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่ากิจการของตนเองมีสิทธิคิด vat 7% และออกใบกำกับภาษีหรือไม่ ส่วนผู้ซื้อก็ต้องตรวจเช็กให้แน่ใจว่าได้รับใบกำกับภาษีจริงจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือหากพลาดนำใบกำกับภาษีปลอมไปใช้ประโยชน์ทางภาษี อาจกลายเป็นผู้ทำผิดกฎหมายโดยไม่ตั้งใจได้
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting