‘ภาคการเงิน‘ เร่งทรานส์ฟอร์ม ผนึกความร่วมมือปูทางสู่ ’ความยั่งยืน’
ภาคการเงิน เร่งส่งผ่านความยั่งยืน เชื่อการมุ่งไปสู่แนวทางนี้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เพื่อสร้างตระหนักรู้ สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น เหล่านี้คือทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก
"กรุงเทพธุรกิจ” จัดงาน Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business ระหว่างวันที่ 3-4 ธ.ค.2567
โดยมีภาครัฐและภาคเอกชนร่วมนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินนับเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีความตื่นตัวในเรื่องของความยั่งยืนภายในงานนี้มีตัวแทนระดับสูงในภาคการเงินชั้นนำของไทยเข้าร่วนำเสนอแนวทางที่น่าสนใจ
ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในหัวข้อ Climate Finance toward SDGs โดยระบุว่า หากกลับมามองประเทศไทย พบว่า เรายังต้องใช้เงินจำนวน 5-7 ล้านล้านบาท ในการสนับสนุนการดำเนินการด้านลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้ Nationally Determined Contributions (NDCs) ภายในปี 2030
อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินไม่ใช่ประเด็นเดียวที่ต้องพิจารณาของประเทศไทย เนื่องจากยังมีความท้าทายอีกหลายประการจากบริบทเฉพาะตัวที่แตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่
โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมียังสัดส่วนธุรกิจที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ brown อยู่มาก โดยภาคอุตสาหกรรมยังพึ่งพาการใช้พลังงานจากถ่านหินและน้ำมันสูงถึง 60% และใช้เทคโนโลยีแบบเดิม
ธปท.มองไทยเปราะบางต่อภูมิอากาศ
ประเทศไทยมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ขณะที่ขีดความสามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ในอันดับท้ายๆ รวมทั้งประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม และ เอสเอ็มอี ยังไม่ค่อยตระหนักถึงความเร่งด่วนและความจำเป็นของการปรับตัว นอกจากนี้ เอสเอ็มอี ยังขาดองค์ความรู้และเงินทุน จึงไม่สามารถปรับตัวด้วยความเร็วใกล้เคียงกับธุรกิจรายใหญ่ได้
ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนในบริบทของไทย จึงต้องสร้างสมดุลระหว่างการปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้ทันการณ์ กับการจำกัดความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบอย่างฉับพลันในวงกว้างต่อเศรษฐกิจ การดำเนินการจึงต้องพิจารณาให้เหมาะสมทั้งจังหวะเวลาและความเร็ว
สุดท้าย การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ภาคใดภาคหนึ่งทำคนเดียวไม่ได้ ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐ ภาคธุรกิจโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่และภาคการเงิน ต้องมีกลไกความร่วมมือนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างครบวงจร จึงจะช่วยให้ประเทศไทยเกิดการปรับตัวที่เห็นผลได้จริง เพราะ “การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนคือทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก”
“ออมสิน”ชูภารกิจ S ดึงฐานรากเข้าถึงการเงิน
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในหัวข้อ Financial for Sustainability ว่า ทุกองค์กรต่างมุ่งสู่ความยั่งยืนหรือ ESG ออมสินตั้งเป้าหมายปี 3030 ต้องลดปล่อยคาร์บอนให้ได้ 50% ของจำนวนคาร์บอนทั้งหมดที่ปล่อยออกมาซึ่งไม่ยากและอยู่ในสโคปที่ 3
ทั้งนี้ ธนาคารออมสินชูภารกิจตัว S คือ หรือ Social ช่วยคนช่วยสังคมดึงคนยากจน กลุ่มฐานรากให้เข้าสู่ระบบทางการเงินให้มากที่สุด
"Position โดยรวมของธนาคารแต่ละแบรนด์มีทิศทางเดียวกัน คือ ดูแลลูกค้าที่อาจแตกต่างกัน ทั้งการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ และรายเล็ก ถ้าเอสเอ็มอีต้องเข้าไปสอนก่อนว่าทำอย่างไรเพื่อทำธุรกิจคาร์บอนต่ำ แต่สิ่งที่เราทำเพิ่มนอกจากการสนับสนุนธุรกิจใหม่ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ทำอีเอสจีสกอร์ โดยพัฒนาสกอร์ขึ้นมาช่วยลูกค้าในระดับ 1-10 หากใครได้คะแนนสูง 8-10 ก็จะลด ดอกเบี้ยให้ถือเป็นข้อกำหนดสินเชื่อกรอบวงเงิน 500 ล้านบาท ขึ้นไป ซึ่งสามารถลดดอกเบี้ยไปแล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ออมสินต่างจากธนาคารอื่น ภารกิจธนาคารต้องเปลี่ยนผ่านธุรกิจสีเขียว ทำให้เกิดโปรแกรมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน การลดดอกเบี้ยยังคงเป็นประเด็นสำคัญ เป็นหน้าที่เพื่อผลักดันเป้าหมายประเทศสู่เป้า Net Zero ดังนั้นธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินของเอสเอ็มอีจะมีปัญหาซึ่งจำนวนมากที่กู้ไม่ได้ เพราะธนาคารต่างต้องลดความเสี่ยง เราอาจต้องยอมทำโครงการที่เจ็บตัวบ้าง เพื่อให้เอสเอ็มอีส่วนที่เหลือมีเครดิตดี มีหลักประกันให้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อได้
“ไทยพาณิชย์”ทำธุรกิจบนพื้นฐานความยั่งยืน
ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ องค์กร 117 ปี ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง และโจทย์หลักในเรื่อง ESG ถือเป็นกลยุทธ์หลักธนาคาร ไม่ใช่เป็นเรื่อง CSR แต่เป็นกลยุทธ์หลักของการที่เราจะต้องนำพาทั้งธนาคารและลูกค้าเดินไปด้วยกัน
หากพูดถึงความยั่งยืน หลักๆ มี 3 แกนสำคัญ ส่วนแรกมองความยั่งยืนเป็นสิ่งท้าทายของโลก การดำเนินธุรกิจของธนาคารเน้นอยู่บนเป้าหมายที่ท้าทาย โปร่งใส ตรวจสอบได้ อยากให้มั่นใจว่าสิ่งที่ทำจะก่อให้เกิดผลและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมไทย รวมถึงใช้กลไกทางการเงินสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าธนาคารปรับตัว สุดท้ายมองว่าการผนึกทุกภาคส่วนต่างๆ ในสังคมจะช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและสังคมไปด้วยกัน
“ในส่วนความยั่งยืน เราตั้งเป้าไปสู่ เน็ตซีโร่โดยจะทำให้เกิดขึ้นในปี 2030 และตั้งเป้าทำให้พอร์ตสินเชื่อธนาคารต้องเป็นเน็ตซีโร่ภายในปี 2050"
อย่างไรก็ตาม การเดินไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น ธนาคารต้องทำให้พอร์ตสินเชื่อมีความเป็นกรีนมากขึ้น และหากดูช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อพลังงานทดแทนไปแล้วเกือบ 2 แสนล้านบาท คิดเป็น 61%ในพอร์ตสินเชื่อที่ปล่อยไป ดังนั้น ธนาคารปักธงว่าหากเป็นการปล่อยสินเชื่อสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินธนาคารจะไม่ปล่อยสินเชื่อ หากจะปล่อยหากลูกค้าที่ทำโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อปรับตัวไปสู่พลังงานทดแทนมากขึ้น
“ทีทีบี” ชี้ความยั่งยืนให้ความสำคัญทั้งโลก
นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันความยั่งยืนเป็นสิ่งที่สังคมให้ความสำคัญมากทั้งโลก และตื่นตัวมากขึ้นทั้งในประเทศไทย โดยประเทศไทยประกาศไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 แต่จะเห็นการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ เชื่อว่าต้องเห็นการเปลี่ยนแปลงอีกมาก หรือต้องปฏิรูปหลายด้าน และต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลที่ประเทศไทยต้องใช้
การจะไปสู่เน็ตซีโร่ได้ ต้องทำให้เกิดการใช้พลังงานทางเลือกอีกมากถึง 68% ในปี 2040 และ ต้องเพิ่มเป็น 75% ในปี 2050 แต่ปัจจุบัน ประเทศไทยมีพลังงานทางเลือกเพียง 13% เท่านั้น ดังนั้นมองว่ากว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลเกือบ 8 แสนล้านบาท
ไม่เพียงเท่านั้น ภาคครัวเรือน ภาคพาณิชย์ ธุรกิจเอง ต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองอย่างมาก เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ทั้งนี้เชื่อว่า สถาบันการเงิน จะเป็นกลไกสำคัญในการที่จะหล่อลื่น ส่งเสริมที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง