อัดมาตรการแก้หนี้ 1.9 ล้านราย เล็งคลอดเฟส2 ช่วยลูกหนี้ ‘นอนแบงก์’ ต้นปี68

อัดมาตรการแก้หนี้ 1.9 ล้านราย เล็งคลอดเฟส2 ช่วยลูกหนี้ ‘นอนแบงก์’ ต้นปี68

ธปท.ชี้มาตรการแก้หนี้ช่วยมากกว่าในอดีต เตรียมขยายการออกมาตรการครอบคลุมลูกหนี้ “นอนแบงก์” คาดต้นปีหน้าเห็นตัวมาตรการชัด

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ปิดหนี้ได้ไวไปต่อได้เร็ว โดยทำผ่าน 2 มาตรการ จะช่วยเหลือลูกหนี้รักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้

โดยบรรเทาภาระหนี้ปัจจุบันและในอนาคตให้ลูกหนี้ โดยค่างวดที่ลดลงจะทำให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเหลือสำหรับดำรงชีพเพิ่มเติมระหว่างอยู่ในมาตรการ

ส่วนมาตรการ “จ่าย ปิด จบ” เป็นการช่วยลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย ไม่เกิน 5,000 บาท โดยเปลี่ยนสถานะการเป็นหนี้ จากหนี้เสียและปิดจบหนี้ เพื่อเริ่มต้นใหม่ได้เร็วขึ้น

โดยการทำมาตรการครั้งนี้ คาดว่าจะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้ราว 1.9 ล้านราย หรือ 2.1 ล้านบัญชี โดยมีวงเงินรวม 8.9 แสนล้านบาท

ลูกหนี้แบงก์พาณิชย์เข้าข่าย 1.5ล้านราย 

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า “สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก พร้อมสนับสนุนภาครัฐในโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย และผู้ประกอบธุรกิจรายเล็ก ซึ่งคาดว่าจะสามารถให้การช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์รวมถึงบริษัทลูกในกลุ่มได้ราว 1.5 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้กว่า 4 แสนล้านบาท 

โดยการร่วมมือกับภาครัฐเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ภายใต้โครงการนี้ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของสมาคมธนาคารไทยในการจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ไม่ทำให้ใครต้องตกไปอยู่นอกระบบจากโครงสร้างหรือข้อจำกัดของระบบ

และภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” นั้น ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบอย่างเป็นธรรม กระตุกพลังในการปรับโครงสร้าง เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

แบงก์รัฐมีลูกหนี้เข้าเกณฑ์ 6 แสนบัญชี

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า “สถาบันการเงินของรัฐ พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ และ ธปท. ในการสนับสนุนโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” อย่างเต็มที่

โดยจะช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีโอกาสรอดให้ฟื้นตัวกลับมาชำระหนี้ได้ และออกแบบกลไกการส่งเสริมวินัยทางการเงินควบคู่กับการป้องกันไม่ให้ลูกหนี้เสียวินัยในการชำระหนี้

ทั้งนี้ สถาบันการเงินของรัฐอยู่ระหว่างการหารือกับ ธปท. และกระทรวงการคลัง ในการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ของกลุ่ม Non-bank รวมถึงการพิจารณามาตรการเพิ่มเติม เพื่อส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้กลุ่มเปราะบางในวงกว้างมากขึ้น

ซึ่งจะไม่ทับซ้อนกับกลุ่มลูกหนี้ของโครงการนี้ ทั้งนี้ คาดว่ามีลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติที่ได้รับความช่วยเหลือผ่านมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs ทั้ง 2 มาตรการของสถาบันการเงินของรัฐ จำนวนประมาณ 6 แสนบัญชี คิดเป็นยอดหนี้กว่า 4.5 แสนล้านบาท”

หนี้ครัวเรือนสูงบั่นทอนศักยภาพเศรษฐกิจ

นางรุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า การที่ประเทศไทยของเรามีหนี้ครัวเรือนระดับสูง ถือว่ากระทบต่อเสถียรภาพการเงิน และหากสูงไปต่อเนื่อง และสูงจนเกินไปอาจบั่นทอนศักยภาพการเติบโตของประเทศในระยะยาวได้

ดังนั้นการดูแลหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ให้ประชาชนกินดีอยู่ดี ไม่ก่อหนี้เกินตัว หรือหากก่อหนี้ไปแล้ว ควรมีช่องทางให้สามารถหลุดพ้นจากการก่อหนี้ได้

โดย ธปท. หวังว่า มาตรการนี้จะช่วยช้อนลูกหนี้ ที่มีโอกาสฟื้นตัว ให้มีโอกาสกลับมาฟื้นตัวได้ โดยการช่วยเหลือให้เขาสามารถรักษาสินทรัพย์ เช่นบ้าน รถ และกิจการไว้ได้ในช่วง 3ปี เพื่อให้ลูกหนี้สามารถพ้นช่วงยากลำบากไปแล้ว และเชื่อว่าเมื่อลูกหนี้ผ่านพ้นช่วง 3ปีไปแล้ว ลูกหนี้จะเบาตัว และเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ลูกหนี้ก็สามารถมีโมเมนตัมที่จะไปต่อได้ ไม่ถูกหน่วงด้วยภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้โครงการแก้หนี้ “คุณสู้ เราช่วย” ถือเป็นมาตรการที่แตกต่างจากโครงการช่วยเหลือที่ผ่านมา ซึ่งเป็นมาตรการที่ลึกขึ้น

โดยการลดดอกเบี้ยในช่วง 3 ปี ที่ 0% ซึ่งไม่เคยมีมาตั้งแต่โควิด-19 ซึ่งตรงนี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะทำให้เงินต้นของลูกหนี้ลดลงมาก และเมื่อหมดมาตรการลูกหนี้จะมีก้อนหนี้ลดลง

แต่อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่ต้องช่วยเหลือกัน ทั้งภาครัฐ​แบงก์ ด้านลูกหนี้ต้องร่วมมือ โดยการไม่ก่อหนี้เพิ่ม ในช่วง 12เดือนแรก

แบงก์-นอนแบงก์เข้าร่วมโครงการแก้หนี้ 48 แห่ง

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการนี้มี 15 แห่ง และมีบริษัทลูกที่เป็นนอนแบงก์ ที่ประกอบธุรกิจด้านสินเชื่อที่เป็นลูกแบงก์ 27 แห่ง และธนาคารเฉพาะกิจ 6 แห่ง รวมทั้งสิ้น 48 แห่ง

อย่างไรก็ตาม ด้านรายละเอียดสำหรับโครงการแก้หนี้ มาตรการแรก “จ่ายตรง คงทรัพย์” ที่เป็นการช่วยเหลือเอสเอ็มอี สินเชื่อบ้าน วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท และสินเชื่อรถ วงเงินไม่เกิน 8 แสนบาท สินเชื่อเช่าซื้อ จำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาท

โดยการเข้าโครงการจะสามารถแก้หนี้ได้ 1 สัญญา ต่อประเภทสินเชื่อ ต่อหนึ่งสถาบันการเงิน เช่น หากมีบ้านราคาหลังละไม่เกิน 5 ล้านบาทอยู่ที่ 2 สถาบันการเงินก็สามารถเข้าโครงการได้ทั้งหมด แต่ต้องไม่เกินวงเงินที่กำหนดไว้ในเงื่อนไข 

สำหรับรูปแบบในการช่วยเหลือ จะมีการลดค่างวด 3 ปี โดยปีแรกจะลดค่างวดขั้นต่ำที่ 50% ปีที่สอง 70% และปีที่สาม 90% โดยจะนำค่างวดทั้งหมดไปตัดเป็นเงินต้น

และจะพักดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี และจะยกเว้นทั้งหมดให้ หากลูกหนี้ปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ตลอดสัญญาในช่วงที่อยู่ในมาตรการ

บัญชีเข้าเกณฑ์ต้องค้างชำระเกิน 30 วัน แต่ไม่เกิน 365 วัน

ทั้งนี้บัญชีที่สามารถเข้าโครงการได้ จะต้องทำสัญญาก่อน 1ม.ค. 2567 และต้องมีสถานะหนี้ ณ วันที่ 31ต.ค. 67 อย่างใดอย่างหนึ่ง และต้องเป็นหนี้ค้างชำระเกินกว่า 30วันแต่ไม่เกิน 12เดือนหรือ 365 วัน และได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตั้งแต่วันที่ 1ม.ค 2565

สำหรับเงื่อนไขการเข้าโครงการ ลูกหนี้ต้องทำสัญญาไม่ก่อหนี้ใหม่ในช่วง 12 เดือนแรก ยกเว้นสินเชื่อธุรกิจที่จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งขึ้นกับเจ้าหนี้พิจารณา ทั้งนี้ลูกหนี้ต้องรับทราบการรายงานข้อมูลต่อเครดิตบูโร (NCB) ถึงการเข้ามาตรการและหากลูกหนี้ไม่จ่ายชำระค่างวดขั้นต่ำตามกำหนดจะหลุดจากมาตรการและชำระดอกเบี้ยที่พักไว้ระหว่างเข้ามาตรการ

สุดท้าย หากสัญญาสินเชื่อมีผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันต้องยินยอมในการเข้ารวมโครงการและลงนามในสัญญาค้ำประกันใหม่ด้วย

จ่าย ปิด หนี้” มีลูกหนี้เข้าข่าย 3.4 แสนบัญชี

สำหรับมาตรการที่ 2 คือ “จ่าย ปิด จบ” เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ที่เป็นหนี้เสียต่อบัญชีไม่เกิน 5,000บาท โดยไม่จำกัดสินเชื่อ สามารถเข้าร่วมโครงการได้มากกว่า 1บัญชี โดยต้องเป็นลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียเกิน 90วัน ณ วันที่ 31ต.ค. 67

“มาตรการที่2 จ่าย ปิด จบหนี้ ในข้อมูลมีลูกหนี้ที่เข้าข่ายราว 3.4 แสนบัญชี หรือวงเงินหนี้รวมน้อยมาก โดยมีวงเงิน 1 พันล้านบาท กลุ่มนี้เป็นหนี้ทั้งแบงก์รัฐ แบงก์พาณิชย์ หรือนอนแบงก์​ที่ไม่รู้ว่าเป็นหนี้ค้างชำระ หรือมีวงเงินค้างชำระอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาแบงก์ไม่ได้ติดตามทวงหนี้เพราะวงเงินน้อยมาก ดังนั้นหากลูกหนี้จ่ายเพียง 10% ลูกหนี้ก็มีโอกาสปิดจบหนี้ได้ เพื่อล้าง และเคลียร์ประวัติออกจากระบบได้”

อย่างไรก็ตาม ลูกหนี้ที่เข้าโครงการเริ่มลงทะเบียนเพื่อเข้าโครงการวันที่ 12 ธ.ค.2567 ถึง 28 ก.พ.2567 ในเว็บไซต์ ธปท.

สำหรับมาตรการแก้หนี้ในระยะข้างหน้า จะมีการขยายกลุ่มไปสู่ ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ที่อยู่ภายใต้กำกับ ธปท.ด้วย โดยคาดว่า มาตรการจะมีความชัดเจนได้ในต้นปี 2568 แต่มาตรการสำหรับนอนแบงก์ จะไม่ช่วยเหลือมากเท่ามาตรการชุดแรกเพราะสินเชื่อที่อยู่กับนอนแบงก์ส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกัน และวงเงินสินเชื่อต่ำกว่าชุดแรก