เหลียวหลังแลหน้า เศรษฐกิจโลก-ไทย ปี 2024-25

ปี 2025 เป็นปีสุดท้ายแห่งการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยธนาคารกลางทั่วโลกเตรียมปรับลดดอกเบี้ย ท่ามกลางความท้าทายจากนโยบายการค้าของสหรัฐและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ด้านเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 2.7% ใกล้เคียงกับปี 2024 โดยเราปรับประมาณการลงจาก 3.0% หลังจาก ธปท. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25% ซึ่งบ่งชี้ถึงการไม่เร่งทำโยบายการเงินผ่อนคลาย ซึ่งจะทำให้สภาวะสภาพคล่องยังคงตึงตัว 

ในปี 2024 เป็นปีที่ธนาคารกลางทั่วโลกประสบความสำเร็จในการควบคุมเงินเฟ้อ นำไปสู่การเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังคงต้องเผชิญความท้าทายในหลายด้าน 

โดยเศรษฐกิจสหรัฐ ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดย GDP ไตรมาสที่ 3/2024 มีทิศทางเร่งตัวขึ้นจาก ครึงปีแรก ขณะทีเงินเฟ้อมีทิศทางชะลอตัวลง แม้ว่าจะชะลอลงช้ากว่าที่คาดก็ตาม

ด้านสถานการณ์เศรษฐกิจจีนยังคงเป็นทิศทางที่ชะลอตัวลง โดย GDP ไตรมาส 3/2024 ที่ 4.6% ต่อปี ชะลอต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก รัฐบาลจีนได้ปรับเปลี่ยนโมเดลการบริหารเศรษฐกิจจาก “ระมัดระวัง” เป็น “กระตุ้น” อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อบรรเทาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและกระตุ้นให้ตลาดหุ้นขยายตัวได้ โดยได้ออกมาตรการกระตุ้นหลายด้าน เช่น การอัดฉีดสภาพคล่อง การช่วยเหลือรัฐบาลท้องถิ่น และการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์

ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจไทย แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นในไตรมาสที่ 3/2024 โดยขยายตัว 3% แต่การฟื้นตัวเป็นเพียงบางจุด ขณะที่ในภาพใหญ่แล้ว การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2024 ขยายตัวที่ 2.6% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปีที่ประมาณ 3-4% เนื่องจาก 

(1) โครงการ Digital Wallet ไม่เป็นไปตามแผน 

(2) นโยบายการคลังล่าช้าในช่วงต้นปี หลังจากการจัดทำงบประมาณล่าช้าถึงกว่า 8 เดือน กระทบการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ และ 

(3) นโยบายการเงินที่ตึงตัวตลอดทั้งปี โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้งในเดือน ต.ค. สู่ 2.25% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมากในรอบ 10 ปี ท่ามกลาง สินเชื่อหดตัวในรอบ 14 ปี ดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในระดับสูง เงินบาทเมื่อเทียกับคู่ค้าคู่แข่งแข็งค่าต่อเนื่อง และ เงินเฟ้อที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย

เข้าสู่ในปี 2025 เรามองว่า จะเป็นปีสุดท้ายแห่งการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยธนาคารกลางทั่วโลกเตรียมปรับลดอัตราดอกเบี้ย ท่ามกลางความท้าทายจากนโยบายการค้าของสหรัฐและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โดยเรามองว่า ปี 2025 ธนาคารกลางขนาดใหญ่จะทำนโยบายการเงินผ่อนคลายเป็นปีสุดท้าย 

โดยธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) น่าจะสามารถลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในครึ่งปีแรก ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจลดถึง 4 ครั้งท่ามกลางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ด้านญี่ปุ่นกลับตรงข้าม โดย ธนาคารกลาง (BOJ) อาจขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในเดือน พ.ค. ส่วนดอกเบี้ยไทย เรามองว่า ธปท. มีแนวโน้มลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง รวม 0.75% ในเดือน ก.พ. มิ.ย. และ ต.ค. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว

ในส่วนภาพเศรษฐกิจ เรามองว่า เศรษฐกิจสหรัฐ มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะ Soft Landing จากดอกเบี้ยที่อยูสูงในระดับหนึ่งและจะกดดันการบริโภค ลงทุน และภาคการผลิตมากขึ้น ขณะที่เงินเฟ้ออาจจะลดลงมาอยู่ที่ 2.5% ภายในสิ้นปี แต่ต้องจับตานโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ที่อาจสร้างความผันผวนในช่วงครึ่งหลังของปี 

โดยเรามองว่า นโยบายทรัมป์ ส่งผลกระทบรุนแรง แต่ทำได้ไม่เร็วและขึ้นอยู่กับ Tactic โดยหากทรัมป์ทำสงครามการค้าแบบ Broad-base โดยการขึ้นภาษีทั่วโลก 10% จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอ โดยสหรัฐจะได้รับผลกระทบแรงสุด เราจึงมองว่าทรัมป์จะไม่รีบทำสงครามการค้า แต่จะโจมตีทีละประเทศ โดยเฉพาะที่เกินดุลการค้ามาก เช่น จีน EU เม็กซิโก และอาจเป็นการเรียกมาทำสนธิสัญญาการค้ารายประเทศ ขณะที่เร่งทำมาตรการลดภาษีนิติบุคคลลงจาก 21% สู่ 15% เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศแข็งแกร่งก่อน 

ด้านจีน แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่รัฐบาลเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรักษาเป้าหมายการเติบโตที่ประมาณ 5% ซึ่งเรามองว่า การเติบโตจะชะลอลงแต่ไม่ถึงกับวิกฤต โดยอาจขยายตัวได้ประมาณ 4.5% ขณะที่มาตรการการเงินการคลัง ออกมาเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกับตลาดเงินตลาดทุนเป็นหลัก 

ด้านเศรษฐกิจไทยในปี 2025 มีแนวโน้มขยายตัว 2.7% ใกล้เคียงกับปี 2024 โดยเราปรับประมาณการลงจาก 3.0% หลังจาก ธปท. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25% ซึ่งบ่งชี้ถึงการไม่เร่งทำโยบายการเงินผ่อนคลาย ซึ่งจะทำให้สภาวะสภาพคล่องยังคงตึงตัว 

ทั้งนี้ เรามองว่า การบริโภคภาคเอกชนไทยจะขยายตัว 2.2% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนอาจขยายตัวเพียง 0.5% ส่วนการส่งออกมีแนวโน้มทรงตัว (ไม่เติบโต) ส่วนเงินเฟ้อ เราคาดว่าจะยังคงอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 0.9% ขณะที่ค่าเฉลี่ยค่าเงินบาทมีแนวโน้มใกล้เคียงกับปัจจุบัน (ที่เฉลี่ย 35.3 บาทต่อดอลลาร์ในปี 2024) โดยเรามองว่า เงินบาทจะอ่อนค่าจากช่วง 24 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงต้นปี สู่ 35-36 บาทในครึ่งปีหลัง 

ขณะที่ในส่วนของสงครามการค้ากับสหรัฐนั้น เนื่องจากไทยไม่ติด 10 อันดับแรก แต่ก็เกินดุลการค้ากับสหรัฐมากถึง 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์ จึงอาจไม่โดนการขึ้นอัตราภาษีจากสหรัฐโดยตรง แต่อาจโดนมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barrier: NTB) เช่น การประเด็นการคุ้มครองและการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา การถูกกล่าวหาว่าประเทศผู้บิดเบือนค่าเงิน (Currency Manipulator) และถูกสหรัฐกดดันให้เปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมูที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง (Ractopamine) เป็นต้น ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว ผนวกกับการที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอลง ทำให้เรามองว่าการส่งออกไทยในปีหน้าจะไม่ขยายตัว 

จากมุมมองดังกล่าว ทำให้เราเสนอกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นไทยในรูปแบบ Selective Buy โดยมุ่งเน้น 2 กลุ่มหลัก คือ (1) หุ้นที่คาดได้อานิสงส์บวกจากรัฐเตรียมออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคและท่องเที่ยวเพิ่มในช่วงส่งท้ายปี ซึ่งในอดีตราคาหุ้นมักปรับตัวได้ดีอย่างน้อย 3 ใน 5 ปี แนะนำ กลุ่มพาณิชย์ (CRC) และกลุ่มท่องเที่ยว (AWC MINT) (2) หุ้น Earning Play ซึ่งมองราคาหุ้นยังไม่ได้ปรับขึ้นสะท้อนโมเมนตัมกำไร 4Q67 ที่คาดจะเติบโตดี YoY และ QoQ อีกทั้งยังมีศักยภาพการจ่ายปันผลได้สม่ำเสมอ เลือก GULF OSP AMATA AU TIDLOR BCP

ขอให้นักลงทุนโชคดี

- รวมทุกช่องทาง InnovestX official ให้คุณได้ติดตามข้อมูลข่าวสารการลงทุนรอบโลก คลิก : https://linktr.ee/InnovestX

- เปิดบัญชีลงทุน InnovestX วันนี้! เปิดครั้งเดียวลงทุนได้ครบทั้งจักรวาลการลงทุน โหลดเลย คลิก https://innovestx.onelink.me/23if/ek1n76zm

- ติดตามบทวิเคราะห์การลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติมจาก InnovestX คลิก : https://bit.ly/respublisher #InnovestX #InnovestXResearch #InnovestXApp #จักรวาลการลงทุนในมือคุณ

*ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้