ทำความรู้จักกับ Specialty Finance

Specialty Finance คือ การลงทุนในสินทรัพย์เพื่อการจัดหาเงินทุนในรูปแบบที่เฉพาะเจาะจง ตัวอย่างของการลงทุนในสินทรัพย์เฉพาะทาง ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจ อย่างเช่น ภาคการบิน โครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยี เป็นต้น สินเชื่อผู้บริโภค

ตลาดการลงทุนมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มอบโอกาสให้นักลงทุนจัดสรรพอร์ตการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงและผลตอบแทนได้ตามความต้องการ ไม่เพียงแต่สินทรัพย์ในตลาด (Public Asset) ที่นักลงทุนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันเท่านั้น ยังมีกลุ่มสินทรัพย์นอกตลาด (Private Asset) ที่ช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดให้นักลงทุนเลือกกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ อย่างเช่น ตราสารทุน ตราสารหนี้ และอสังหาริมทรัพย์ ก็สามารถลงทุนได้เช่นเดียวกัน

ในช่วงที่ตลาดมีความคาดหวังว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และหลายประเทศทั่วโลกจะกลับสู่แนวโน้มขาลงในปีหน้า ทำให้ ‘ตราสารหนี้’ นับเป็นหนึ่งสินทรัพย์ที่กลับมาน่าสนใจลงทุนอีกครั้ง และไม่ใช่เฉพาะตราสารหนี้ทั่วไปเท่านั้น แต่ยังรวมถึง ตราสารหนี้นอกตลาด ซึ่งนับเป็นการลงทุนในอีกทางเลือกหนึ่ง ที่เรียกว่า “Specialty Finance” หรือ “การเงินเฉพาะทาง” ที่ถือเป็นการลงทุนที่ต่างไปจากเดิม และมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจ หรือบุคคลที่ต้องการเงินทุนในลักษณะที่มีความเฉพาะตัวมากขึ้น

Specialty Finance กับการลงทุน

Specialty Finance คือ การลงทุนในสินทรัพย์เพื่อการจัดหาเงินทุนในรูปแบบที่เฉพาะเจาะจง ตัวอย่างของการลงทุนในสินทรัพย์เฉพาะทาง ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจ อย่างเช่น ภาคการบิน โครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยี เป็นต้น สินเชื่อผู้บริโภค อย่างเช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย บัตรเครดิต สินเชื่อนักศึกษา สินเชื่อรถยนต์ เป็นต้น และสินทรัพย์เฉพาะทาง อย่างเช่น ค่าลิขสิทธิ์เพลง ค่าลิขสิทธิ์ยา และสิทธิบัตร เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว การทำธุรกรรมสินเชื่อประเภทนี้จะมีสินทรัพย์ค้ำประกัน (Collateral) ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ผู้กู้ใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อหรือเงินกู้จากผู้ให้กู้ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ผู้ให้กู้มีความมั่นใจว่าหากผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามที่ตกลง ผู้ให้กู้สามารถยึดสินทรัพย์นั้นเพื่อนำไปขายหรือใช้ประโยชน์อื่นๆ เพื่อชดเชยหนี้ที่ค้างชำระได้

บทบาทของ Specialty Finance เกิดขึ้นอย่างชัดเจน หลังจากวิกฤตการเงินโลกในปี 2551  ตลาดมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น จึงเพิ่มความเข้มงวดในกฎระเบียบข้อบังคับของสถาบันการเงินในการพิจารณาการปล่อยกู้ ส่งผลให้สินเชื่อนอกธนาคาร อย่าง Specialty Finance เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแหล่งเงินทุนที่มีความยืดหยุ่นในการเข้าถึงได้สะดวกกว่า ดังนั้น Specialty Finance จึงถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจและกระจายความเสี่ยงในระบบการเงิน

ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนในกลุ่ม Specialty Finance มีขนาดใหญ่และเติบโตอย่างรวดเร็ว ประมาณการมีมูลค่าสูงถึงราว 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ1 ซึ่งการเติบโตนี้ได้รับอานิสงส์จากข้อจำกัดและความเข้มงวดในกฎระเบียบของธนาคารเพื่อการปล่อยกู้ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา การยอมรับที่เพิ่มขึ้นจากนักลงทุนสถาบัน รวมถึงความต้องการของนักลงทุนที่ประสงค์กระจายการลงทุนไปยังแหล่งรายได้ที่มีความสม่ำเสมอ

ความน่าสนใจของ Specialty Finance ในมุมมองของนักลงทุน คือ (1) ศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนในการลงทุนที่สูงกว่าการให้กู้ยืมในระบบธนาคารโดยทั่วไป (2) ประโยชน์เพื่อใช้กระจายความเสี่ยงออกจากสินทรัพย์ลงทุนแบบดั้งเดิมในตลาด (3) ระยะเวลาในการลงทุนที่มักจะสั้นกว่าเมื่อเทียบกับการลงทุนในตราสารหนี้เอกชนหรือสินทรัพย์นอกตลาดประเภทอื่นๆ และ (4) ความเสี่ยงขาลงจากการขาดทุนหรือสูญเสียเงินต้นที่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากการมีสินทรัพย์ค้ำประกันและโดยส่วนใหญ่จะได้รับการจัดลำดับความสำคัญมีสิทธิเรียกร้องในการชำระหนี้เป็นอันดับต้นๆ ตาม Capital Structure หรือโครงสร้างเงินทุนของกิจการ อย่างไรก็ดี Specialty Finance ยังมีความเสี่ยงและลักษณะเฉพาะตัวที่ควรทำความเข้าใจ เนื่องจาก Specialty Finance มักจะเป็นการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ธุรกิจอาจมีความกระจุกตัว ลักษณะธุรกิจที่ต้องการเงินลงทุนมักจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก รวมถึงสินทรัพย์อาจมีความซับซ้อนและไม่สามารถซื้อขายได้ง่าย จึงอาจส่งผลต่อสภาพคล่องที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์แบบดั้งเดิม ดังนั้น นักลงทุนควรทำความเข้าใจ และศึกษาความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องก่อนตัดสินใจลงทุน

ที่มา: 1 PIMCO Economic and Market Commentary as of October 2024