ที่สุดหุ้นไทย ปี 2567 “บจ.ระส่ำ – การลงทุนสุดผันผวน”
จบปี 2567 ไปแล้วสำหรับตลาดหุ้นไทยเต็มไปด้วย “ความบอบช้ำ” ของนักลงทุน และ “ความเสียหาย” ของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ก่อให้เกิดความระส่ำระสายในตลาดทุนไทย
หากตีเป็นมูลค่าสูงพอๆ กับปี 2566 ที่เกิด "เคสใหญ่" จนสั่นสะเทือนตลาดหุ้นไทยในรอบ 5 ทศวรรษ จนกล่าวได้ว่าเป็นปีที่เปิดแผล และราดแอลกอฮอล์เพื่อรักษา และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายในลักษณะแบบนี้ได้อีก
ด้านดีส่งผลทำให้การเดินหน้า ESG สร้างการเติบโตแบบยั่งยืน และยึดหลักการบริหารอย่างมีธรรมาภิบาล คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียเป็นเรื่อง “จริงจัง” และ "เข้มข้น" อย่างแท้จริง
@ กับดับบจ. “จำนำหุ้น-มาร์จิน – Forced sell”
ยกให้เป็นประเด็นใหญ่แห่งปีในตลาดหุ้นไทย และเป็นการส่งไม้ต่อความโกลาหลปี 2566 กรณี “ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้” ไล่เลียงกันแทบจะรายเดือน แม้ว่าปี 2567 จะมีปัญหาตามมาต่อเนื่องแต่ไม่แรงสะเทือนเท่ากับ บรรดาหุ้นมหาชน – ขวัญนักลงทุนสายเก็งกำไร ที่เจอปรากฏการณ์ ราคาหุ้นดิ่งฟลอร์ต่อเนื่องจนหาสาเหตุไม่ได้!!
ด้วยช่วงที่หุ้นตกหนักมีการระบุถึงธุรกรรม “Short sell” เป็นตัวการพาตลาดหุ้นไทยย่ำแย่ทั้งจากปัจจัยภายนอกด้านภูมิรัฐศาสตร์ ภายในประเทศก็อ่อนแอจากผลงานรัฐบาลที่ยังไม่เข้าตา ต่างชาติเทขายหุ้นไทยหนักหน่วงแตะ 2 แสนล้านบาท
กระแสราคาหุ้นตกต่ำเกิดขึ้นหลายบริษัท จนกระทบ “ความเชื่อมั่นหุ้นไทย” เพิ่มขึ้น จนเกิดปรากฏการณ์กับหุ้นขวัญใจมหาชนต่อเนื่อง เช่น กลุ่ม JMART ราคาหุ้นร่วงยกกลุ่มจากงบการเงิน SCG พลิกขาดทุน และมีข้อกังขางบการเงิน กระทบ SINGER และหุ้นแม่ JMART จะเผชิญปัญหาสภาพคล่องหุ้นกู้ จนผู้ถือหุ้นใหญ่ และผู้บริหารออกมายอมรับถูก Forced sell หุ้นนำหุ้นไปค้ำประกัน
เกิดผลกระทบรุนแรงยกให้ หุ้น SABUY ราคาหุ้นดิ่งต่อเนื่องจากผู้ถือหุ้นใหญ่เทขายหุ้น SABUY เกือบหมดพอร์ตเปลี่ยนมือเจ้าของ ราคาหุ้นดิ่งฟลอร์ถูก Forced sell ตามมาด้วยงบการเงิน บริษัทลูก SBNEXT ช่วง Q1/2567 รายการนำเงินออกจากบริษัทการกู้กลุ่ม SABUY และซื้อหุ้น เดียวกัน
"เคสที่เขย่าตลาดหุ้นไทย" หนักกว่านั้น NEX ราคาหุ้นดิ่งฟลอร์จากผลกระทบธุรกิจ ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นเทขายหุ้นออกมาจากการถูก Forced sell และรายงานข้อมูลขายหุ้นไม่ตรงกัน ลามกระทบหุ้น EA ผู้บริหาร-ผู้ถือหุ้นใหญ่ “สมโภชน์ อาหุนัย” ออกมายอมรับถูก Forced sell จำนำหุ้นตัวเอง หลังถูกกล่าวโทษ ก.ล.ต. ส่งไปยัง DSI และปปง. กรณีพบทุจริตจัดซื้อจัดจ้างมูลค่า 3,466 ล้านบาท และกลายเป็นสาเหตุต้องลาออกจากทุกตำแหน่ง
ก่อนจะมาปิดท้ายจบดีล บล.แซดคอม อดีตรายใหญ่โบรกเกอร์ที่มีพอร์ตมาร์จินในมือระดับ หมื่นล้านบาท ไล่ Forced sell และรับขาดทุนก้อนโตลูกหนี้ไม่มาชำระหนี้จนยุติบริการมาร์จินพร้อมเทขายหุ้นในพอร์ตสิ้นปี 2567 เพื่อเคลียร์หนี้ และอาจปิดบริษัท ทำให้หุ้นขนาดเล็กราคาหุ้นทยอยลงฟลอร์ว่าเล่น
@ จำนำหุ้น “นอกตลาด”
เปิดมุมสีเทาจนกลายเป็น “ดาร์คไซด์” ในตลาดหุ้นไทยหลังมีการเปิดเผยข้อมูลว่าผู้บริหาร บจ.แทบทุกราย “ได้รับการเสนอบริการ” บริหารหุ้นเพื่อเป็นเงินนำไปใช้ส่วนตัว หรือ ให้ “Market Maker” เข้ามาดูแลสภาพคล่อง และราคาหุ้นให้
เมื่อประเด็นจำนำหุ้นถูกเช็กบิล ทำให้ “เจ้าของ” หรือ “ผู้ถือหุ้นใหญ่” สูญเสียหุ้นในมือหรือถึงขั้นเสียบริษัท แม้จะเป็นทรัพย์สินส่วนตัวสามารถนำไปกู้หรือปล่อยกู้ได้ แต่เมื่ออยู่ใน บจ. ย่อมมีผลโดยตรงเพราะหุ้นดังกล่าวถูกนำไปจำนำในสัดส่วนที่สูง
เคสที่ “กระทบอย่างรุนแรง” กลับกลายเป็นบุคคล และธุรกิจที่น่าเชื่อถือ “โรงพยาบาล” THG เมื่อมีชื่อ “หมอบุญ วนาสิน” ถูกออกหมายจับพร้อมพวก 9 ราย เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการปล่อยเงินกู้ให้ แต่ไม่ได้รับการจ่ายดอกเบี้ย และเงินต้น เพราะมีการสั่งจ่ายเป็น เช็คเงิน - ตั๋วเงินจำนวนมาก แต่ไม่สามารถขึ้นเงินได้ จนเจ้าหนี้ดำเนินการฟ้องร้อง และศาลออกหมายจับ
นอกจากไม่มีชำระหนี้แล้วยังมีประเด็น ใบหุ้นที่นำไปค้ำประกัน มีทั้งใบหุ้นจริง และเป็นใบหุ้นปลอมระบาดในธุรกิจโบรกเกอร์ช่วงเดือนก.ย. - ต.ค. ที่ผ่านมาจำนวนมาก เกิดเป็นประเด็นปลอมแปลงลายเซ็น และเอกสารเกิดขึ้น
โดยผลกระทบไม่ได้มีเพียงผู้เสียหายจากการปล่อยกู้ที่ตบเท้าเข้าดำเนินการฟ้องร้อง แต่ยังมีกลุ่มผู้เสียหายที่ยังไม่กล้าเปิดหน้าออกมาสู้คดี เพราะเกี่ยวพันเป็น “ผู้บริหาร บจ. ใหญ่ในตลาดหุ้น” “ตระกูลนักธุรกิจที่มีชื่อเสียง” “ตระกูลนักการเมือง” และยังมี “ผู้บริหารในวิชาชีพหมอ” เบื้องต้นความเสียหายทะลุหลัก 2 หมื่นล้านบาท โดยมีสาเหตุจาก “ความน่าเชื่อถือ” และ “การเสนอผลตอบแทนด้วยอัตราสูง” มาจูงใจ
@ รื้อเกณฑ์กำกับซื้อขายครั้งใหญ่ตลาดหุ้นไทย
เกิดเคสใหญ่ต่อเนื่อง และดังเป็นพลุแตกทำให้หน่วยงานตรงด้านการซื้อขาย “ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” หรือ ตลท. ถูกโจมตีมาตรการป้องกันหละหลวม และไม่เพียงพอจนเกิดเป็นช่องโหว่ในหลายๆ ปัญหาช่วงที่หุ้นไทยตกต่ำ
กลายเป็นวาระสำคัญที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องประชุมและเคาะมาตรการแบบสังคายนาเกณฑ์เดิมใหม่เกือบทั้งหมด และเป็นเกณฑ์เข้มในรอบเกือบ 5 ทศวรรษ ทั้งเกณฑ์กำกับซื้อขาย เกณฑ์ short sell เกณฑ์รับ บจ.ใหม่ หรือ IPO รวมทั้ง บจ.ที่อยู่ในตลาดหุ้น ทั้งโดยเพิกถอน และควบรวมกิจการ ผ่าน Backdoor Lising
โดยมีเฉพาะแนวทางการกำกับดูแล short selling และ program trading แบ่งเป็น 3 ระดับ
1.มาตรการกำกับดูแลการขายชอร์ต ทบทวนคุณสมบัติหลักทรัพย์ที่สามารถขายชอร์ตได้ (eligible securities) ด้วยการเพิ่มมูลค่ามาร์เก็ตแคปขั้นต่ำจาก 5,000 ล้านบาท เป็น 7,500 ล้านบาท กำหนดให้หุ้นมีสัดส่วนปริมาณการซื้อขายต่อเดือนเมื่อเทียบกับปริมาณหุ้นจดทะเบียน (monthly turnover) แล้วมากกว่า 2%
ด้านราคากำหนดราคาหุ้นขายชอร์ตลดลงมากกว่า 10% จากราคาปิดก่อนหน้า กำหนดให้ราคาขายชอร์ตต้องเป็นราคาที่สูงกว่าราคาล่าสุด (uptick rule) และกำหนดเพดานสูงสุดในการขายชอร์ตรายหลักทรัพย์ในแต่ละวัน (daily limit) หากพบการกระทำผิดเกี่ยวกับการขายชอร์ต โบรกเกอร์โทษปรับที่เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 3 เท่า และเสนอแก้ไขกฎหมายสามารถลงโทษผู้ลงทุนที่เป็นผู้กระทำผิดได้โดยตรงด้วย
2.มาตรการ การกำกับดูแล program trading เพิ่มเพดานการเคลื่อนไหวของราคาระหว่างวัน (dynamic price band) หากถึงระดับราคาดังกล่าวก็จะหยุดพักการซื้อขาย ส่วนกลุ่ม HFT เพิ่มความเข้มงวดของการกำกับ เช่น ต้องมีการแจ้งหรือขึ้นทะเบียน (register) พร้อมทั้งให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อน เป็นต้น
และ3 .ปรับปรุงเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล เช่น จัดทำข้อมูลรายชื่อผู้ลงทุนที่มีพฤติกรรมการส่งคำสั่งซื้อขายไม่เหมาะสมให้แก่โบรกเกอร์ทุกราย เพื่อให้บริษัทสมาชิกใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาดำเนินการกับผู้ลงทุนรายนั้น เช่น ปรับลดวงเงิน และเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นให้ครอบคลุมถึงกรณีการถือในรูปแบบ NVDR ตั้งแต่ 0.5% แต่ไม่น้อยกว่า10 ราย
@ พระเอกพยุงหุ้นไทย “กองทุนวายุภักษ์” –“Thai ESG”
หลังตลาดหุ้นไทยเผชิญภาวะการปรับตัวลดลง การเมืองไทยไม่นิ่ง จนได้รัฐบาลใหม่ “แพทองธาร ชินวัตร” ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน ซึ่งตลาดหุ้นไทยถือว่าเป็นกลไลสำคัญในการสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบด้วยจึงไม่พลาดที่ได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ ยิ่งมีเครื่องมือสำคัญ " กองทุนวายุภักษ์ " เข้ามาช่วยพยุงหุ้นเติมเม็ดเงินใหม่เข้า
กองทุนวายุภักษ์เพิ่มมูลค่ากองทุนไม่เกิน 1-1.5 แสนล้านบาท ส่งผลทำให้กองทุนจะมีมูลค่า 5 แสนล้านบาท (กองทุนเดิมมีมูลค่า ณ เดือนส.ค. 67,321,798 ล้านบาท) ส่งผลทำให้จะเป็นกองทุนใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นไทย
กองทุนแสนล้านที่จะเข้ามาเป็นตัวช่วยตลาดหุ้นไทยนาทีนี้ “กองทุนวายุภักษ์1” ด้วยการเสนอขายหน่วยลงทุนภายในไตรมาส 3 ปี 2567 เป็นการเพิ่มมูลค่ากองทุนไม่เกิน 1-1.5 แสนล้านบาท ส่งผลทำให้กองทุนจะมีมูลค่า 5 แสนล้านบาท ถือว่าใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นไทย ซึ่งได้ผลเพราะหลังประกาศดัชนีหุ้นไทยสามารถขึ้นได้ถึง 100 จุด ( 5 ส.ค.67 นิวโลว์ 1,282 จุด )
บวกกับการ " ปรับเกณฑ์ลงทุนกองทุน ThaiESG " ด้วยเกณฑ์ใหม่สำหรับเกณฑ์การลดหย่อนภาษีใหม่ของกองทุน TESG จากเดิมถือหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 8 ปี เหลือเพียง 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน และปรับวงเงินที่สามารถลดหย่อนภาษีได้มากขึ้นเป็น 300,000 บาท จากเดิมที่ 100,000 บาท ซึ่งเงื่อนไขใหม่ยังจะมีผลบังคับใช้ย้อนหลังสำหรับผู้ที่ซื้อหน่วยลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 ด้วย
เกณฑ์ใหม่ทำให้กองทุน TESG มีความน่าสนใจมากขึ้น และด้วยเกณฑ์ใหม่นี้ เมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนลดหย่อนภาษีประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นกองทุนเพื่อการส่งเสริมการลงทุนระยะยาว (SSF) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กลายเป็น กองทุน TESG กลับมีความน่าสนใจมากกว่า เนื่องจากระยะเวลาถือครองที่สั้นกว่า โดยกองทุน SSF ต้องถือนานถึง 10 ปี และกองทุน RMF ต้องถือครองจนถึงอายุ 55 ปีและยังถือว่าเป็นการเพิ่มเงินใหม่ในตลาดทุนไทยได้ผล
@ “บิ๊กคอร์ป” หมิ่นเหม่เกณฑ์ ESG
มาตรฐาน ESG ถูกท้าทายอย่างหนักเมื่อ “บิ๊กคอร์ป” ดำเนินธุรกิจจนกระทบความเชื่อมั่นอย่างจัง จนกลายเป็นประเด็นใหญ่ในตลาดหุ้นไทยส่งท้ายปี จนเกิดการตั้งคำถามถึงความเหมะสมด้าน ESG ตามมามากมาย
กรณี CPAXT เข้าร่วมลงทุนในโครงการ The Happitat มูลค่า 8,390 ล้านบาท จนทำให้เกิดความกังขาถึงการ เอื้อธุรกิจในกลุ่ม ทั้งที่ไม่ได้เป็นธุรกิจหลักที่มีความเชี่ยวชาญ ด้วยเม็ดเงินที่สูง และอาจจะกระทบฐานะการเงินในอนาคต จนบริษัทต้องไล่ชี้แจงหน่วยงานตลาดทุน นักลงทุน สถาบันและกองทุน เกี่ยวกับการลงทุนในบริษัทย่อยคือ บริษัท แอ็กซ์ตร้า โกรท พลัส จำกัด(AGP) และการเข้าร่วมลงทุนในทรัพย์สินในโครงการ Lotus’s Mall Bangnaภายใต้เครื่องหมายการค้า The Happitat
โดยเน้นย้ำเป็นธุรกิจหลัก และธุรกิจปกติที่มีความเชี่ยวชาญใน ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก และการบริหารพื้นที่เช่าอยู่แล้ว สอดคล้องกับแผนธุรกิจที่จะนำมาซึ่งการเติบโตของบริษัท “และมิได้เป็นการลงทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลใด” โดยบริษัทยึดถือ และปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลซึ่งคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของบริษัท และผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน
ช่วงไล่เลี่ยกัน ยักษ์ใหญ่ ธุรกิจโรงกลั่น TOP ออกมาแก้ไขปัญหาคาราคาซัง “โครงการ CFP ” ยอมใส่เงินลงทุน เพิ่มอีก 63,028 ล้านบาท และดอกเบี้ยระหว่างก่อสร้างราว 17,922 ล้านบาท แม้สาเหตุจะมาจากผู้รับเหมาฯ หลัก ไม่ชำระเงินค่าจ้างให้กับผู้รับเหมาฯ ช่วง ทำให้เกิดความล่าช้าในการก่อสร้าง สุดท้ายดันมูลค่าก่อสร้างแตะ 2.7 แสนล้านบาท จาก 1.6 แสนล้านบาท กินระยะเวลายาวนานถึง 7 ปี
ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ราคาหุ้น TOP ร่วงทำจุดต่ำสุดในรอบ 14 ปี ที่ 24.50 บาท (23 ธ.ค.67) จนบริษัทต้องออกมาแถลงการใหญ่ว่าการลงทุนเพิ่มครั้งนี้ไม่มีการเพิ่มทุน แต่แหล่งเงินลงทุนจะมาจากเงินสดในมือ การออกหุ้นกู้ และเงินกู้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์