‘อมรเทพ’ แนะ 3 ปัจจัยตั้งรับ ผลกระทบ ‘ทรัมป์’ เตือนไทยหาทางรอด

‘อมรเทพ’ แนะ 3 ปัจจัยตั้งรับ ผลกระทบ ‘ทรัมป์’ เตือนไทยหาทางรอด

‘อมรเทพ’ ชี้โลกเข้าสู่ยุคใหม่ของความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ หลังสหรัฐเดินหน้าตั้งกำแพงภาษี ไทยเสี่ยงถูกลูกหลงจากสินค้าจีนทะลักเข้า เตือนเร่งปรับตัว รับมือ 3 โจทย์ใหญ่

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวในงาน เสวนาโต๊ะกลม (Roundtable) “Trump’s Global Quake : Thailand Survival Strategy” ที่จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ และโพสต์ทูเดย์ว่า มองว่าสิ่งที่น่าจับตามากกว่า เรื่องของ Reciprocal Tariffs ไม่ใช่เพียงการกีดกันทางการค้าจากภาษีเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องที่เกี่ยวกับ Non tariff barrier คือ ข้อจำกัดที่ไม่ใช่ภาษีที่จะตามมาอีกหลังจากนี้ 

นอกจาก ต้องการใช้ Recirprocal Tariffs กับประเทศอื่นๆ เป้าหมายสหรัฐยังต้องการพึ่งตัวเองได้มากขึ้น โดยเฉพาะในภาคการผลิตทั้ง รถยนต์ เหล็ก อะลูมิเนียม ยุทโธปกรณ์ รวมไปถึง ยา เวชภัณฑ์ ที่สหรัฐต้องการผลิตเอง

สิ่งที่จะเห็นหลังจากนี้ที่จะเห็นคือ โลกาภิวัตน์ที่จะถูกฉีกออกมา 2 ด้าน สหรัฐ และจีน จากการที่สหรัฐต้องการลดการพึ่งพาจีน ดังนั้น วันนี้สหรัฐกับจีนเหมือนเป็นแฝดสยาม ที่เป็นตัวเชื่อมโลกเชื่อมโยงกันทั้งหมด ดังนั้นหากต้องแยกกันต้องผ่าตัดครั้งใหญ่ คือสิ่งที่ต้องเผชิญในระยะข้างหน้า ต้องแยกกันเดิน และพยายามแข่งขันกัน

ดังนั้นอีกโจทย์หนึ่งที่ต้องติดตามคือ ว่า ประเทศไทย และอาเซียนเอง จะเป็นอย่างไร ซึ่งวันนี้หลายประเทศอาเซียนถือเป็นประตูที่ให้สินค้าจีนทะลักเข้ามา เพื่อส่งออกไปสหรัฐ ดังนั้นนอกจากการไปเจรจาหาข้อตกลงกับสหรัฐแล้ว

สิ่งที่ต้องตั้งรับ คือ การไปดูตัวเลขมูลค่าเพิ่มที่ไทยผลิตได้ในประเทศเป็นอย่างไร  เพราะการที่จีน และสหรัฐสู้กัน ประเทศไทยไม่ใช่เพิ่งมากระทบ แต่หากดูการส่งออก และการผลิตพบว่าเราแทบไม่โต จ้างงาน การใช้จ่ายต่างๆ ก็ไม่ดี ฉะนั้นนอกจากการเจรจาสหรัฐแล้ว ประเทศไทยจำเป็นต้องไปดูว่าเราจะอยู่อย่างไร ในภาวะบริบทของสหรัฐกับจีนที่กำลังขัดแย้งกันอยู่ 

ทั้งนี้มองว่า 3 ปัจจัยที่ต้องเตรียมรับมือกับจีน เรื่องส่งออกศูนย์เหรียญที่เป็นโจทย์ใหญ่มากๆ เลยว่าแก้ให้ได้

ถัดมารับมือกับสหรัฐ ภายใต้เศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังชะลอ การออมมากขึ้น การลงทุนอาจจะโตไม่ทัน ในระยะสั้นตัวนี้เศรษฐกิจที่กำลังชะลอเราจะไปขายเขาอย่างไร หากการบริโภคสหรัฐลดลง และสุดท้ายการรับมือในประเทศว่าจะรับมือกับ Recirprocal Tariffs ให้เร็วที่สุดอย่างไร

โดยเฉพาะรับมือกับจีน จากสินค้าจีนที่ทะลักเข้าไทย อดีตเราเคยมีปัญหาจากทัวร์ศูนย์เหรียญ นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาจำนวนมาก แต่ไม่ได้เข้ามาซื้อสินค้าไทย ไม่เช่าโรงแรมไทย ถัดมาคือ ลงทุนศูนย์เหรียญ ปัจจุบันเห็นเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามามาก แต่ไม่ได้ใช้ซัพพลายเชนจากไทย ทำให้ภาคการผลิตไทยแทบไม่เติบโต ดังนั้นสิ่งที่ต้องคิดคือ รัฐบาลไทยจะรับมือกับจีนตรงนี้อย่างไร ให้เกิดการกระจายตัวให้มากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนที่ต้องมีซัพพลายเชนจากบริษัทไทยให้เกิดการลงทุนต่างๆมากขึ้น  

ทั้งนี้หากถามว่าสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่นั้น ไม่คิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่เติบโตช้าลง จากเดิมที่คาดสหรัฐจะเติบโตได้ 2% จะเติบโตเหลือเพียง 1% หรือไม่

ดังนั้น เศรษฐกิจสหรัฐวันนี้ยังมองว่าชะลอตัว แต่ยังไม่ถึงกับการเติบโตติดลบ เช่นเดียวกับประเทศไทย มองว่า แม้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสลดลงกว่าประมาณการที่มองไว้ ซึ่งซีไอเอ็มบีไทย อยู่ระหว่างการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยลดลง 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์