‘เศรษฐพุฒิ’ ห่วงเสถียรภาพไทยลด เวิลด์แบงก์หั่น ‘จีดีพี’ วูบเหลือ

‘เศรษฐพุฒิ’ ห่วงเสถียรภาพไทยลด เวิลด์แบงก์หั่น ‘จีดีพี’ วูบเหลือ

“เศรษฐพุฒิ” ชี้เสถียรภาพการเงินไทยเผชิญแรงกดดัน แม้ทุนสำรองยังอยู่ระดับสูง ดูแลค่าเงินได้ แต่หนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะพุ่ง เตือนไทย “พายุ” กำลังมาจากสงครามการค้า

KEY

POINTS

  • ผู้ว่าการแบงก์ชาติห่วงเสถียรภาพประเทศ ปัจจุบันไม่แข็งแรงเท่าที่ควร หากเทียบกับ 5-6 ปีที่ผ่านมา จากหนี้ครัวเรือน-หนี้สา

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในพิธีรับมอบทองคำจากคณะศิษยานุศิษย์องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ณ สวนแสงธรรม กรุงเทพมหานคร ว่า หากดูทุนสำรองระหว่างประเทศในปัจจุบันถือว่ามีมากกว่าช่วงที่เริ่มโครงการผ้าป่าช่วยชาติพอสมควร และมากกว่าปี 2541 พอสมควร

โดยอดีตทุนสำรองฯ มีเพียง 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ปัจจุบันทุนสำรองอยู่ระดับสูงถึง 2.76 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 10 เท่า ส่วนหนึ่งมาจากความศักดิ์สิทธิ์โครงการฯ

“ในส่วนเงินตราของประเทศ เป็นสิ่งที่เรายังชะล่าใจไม่ได้ แม้เสถียรภาพเราดีกว่าเมื่อช่วงตอนปี 2541 อย่างชัดเจน แต่ว่าถ้าเทียบกับเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ก็ไม่ได้แข็งแรงเท่าที่ควรเป็น จากเรื่องของหนี้ครัวเรือน และหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น”

อย่าชะล่าใจ “พายุ” กำลังมา

ดังนั้น ชะล่าใจเรื่องของเสถียรภาพไม่ได้ ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ยิ่งหากมองไปข้างหน้าเห็นชัดเจน “พายุ” กำลังจะมาจากเรื่องของสงครามการค้าที่กำลังเกิดขึ้นที่เห็นแล้วว่า ผลกระทบเหล่านี้มาแน่นอนถึงแม้ผลวันนี้อาจยังไม่เกิดเต็มที่ ดังนั้นต้องใส่ใจเรื่องของเสถียรภาพมีความจำเป็นที่สูงมาก

หากเทียบเคียงก็เหมือนกับเรือ ออกไปแล้วเราเห็นว่าพายุมันกำลังมา เราต้องทำเรือให้มันแน่น อุดรูรั่วต่างๆ ให้ได้ โดยทั้งหมดนี้ต้องมาจากการร่วมมือ การหันหน้าเข้าหากัน ทำงานเพื่อส่วนร่วม สามัคคีกัน ซึ่งเราจะบอกว่าวันนี้ผมอยู่ในส่วนนี้ของเรือแล้ว ผมมั่นใจว่าในห้องนี้ของผมมันจะไม่รั่ว มันไม่ได้ เพราะถ้าส่วนหนึ่งของเรือมันรั่ว ก็ต้องไปกันหมด ดังนั้นเรื่องของความเสียสละ ความสามัคคี ความร่วมมือร่วมใจ มีความสำคัญมีความจำเป็นอย่างสูงโดยเฉพาะในยามนี้

 

เหล่านี้ก็เหมือนคำสอนของหลวงตามหาบัวฯ ที่กล่าวไว้ ที่ผมคิดว่ายังมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เรากำลังเจอ ถ้าประเทศมีปัญหาไปไม่รอด ทุกคนไม่ว่าเศรษฐี พ่อค้า ประชาชนก็พังไปกันหมด อันนี้ก็ตัวอย่างเหมือนกัน และที่เทียบเคียงกับเรือ หากเรือรั่ว และเราไม่ช่วยกันอุดรู ท้ายที่สุดเรือมันก็ไปกันหมด และเมืองไทยจะรอดได้ด้วยพลังแห่งความสามัคคี และความรักชาติทั้งหลายเหล่านี้ อย่างอื่นไม่มี เราอย่าไปหวังพึ่งภายนอกเขา ชาติไหนภาษาใดก็ตามเราอย่าไปหวังพึ่งมีคนไทยเราเท่านั้น”  

ทองคำช่วยรักษาเสถียรภาพประเทศ

ทั้งนี้ ประโยชน์ของการบริจาคทองคำผ่านผ้าป่าช่วยชาติ มีประโยชน์หลายด้าน

โดยเฉพาะช่วยเรื่องเสถียรภาพ โดยการที่มีทองคำที่บริจาคเข้ามาอยู่ในบัญชีทุนสำรองเงินตรา มีส่วนช่วยหนุนหลังธนบัตรที่ออกใช้ หากเทียบกับประเทศอื่นที่มีการพิมพ์เงินออกไป เช่น ประเทศอาร์เจนตินา เวเนซุเอลา ซิมบับเว ที่เห็นเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็น 100-1,000% ส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้นมาก และเงินที่ออกมานั้นไม่มีค่า เพราะไม่มีอะไรหนุนอยู่เบื้องหลัง เหล่านี้เป็นการทำลายเสถียรภาพอย่างชัดเจน

ดังนั้น การมีทุนสำรองเงินตรา จึงมีส่วนช่วยให้เสถียรภาพเรื่องของราคาในการออกธนบัตรที่ออกใช้มีค่า และอีกด้านที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือ ช่วยรักษาทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่ช่วยเรื่องเสถียรภาพด้านต่างประเทศ เพราะหากทุนสำรองระหว่างประเทศไม่เพียงพอ อาจไม่มีเสถียรภาพด้านค่าเงิน ค่าเงินก็อาจอ่อนค่าทำให้อาจเผชิญกับเหตุการณ์เหมือนหลายประเทศ

เช่น ลาวในปัจจุบันที่มีปัญหาจากค่าเงินอ่อนค่า กระทบต่อการนำเข้าสินค้าต่างๆ แพงขึ้น ดังนั้น การมีทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพียงพอจะมีส่วนช่วยเสถียรภาพด้านนี้ได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทองคำ ที่บริจาคเข้าคลังทุนสำรองเงินตราฯ มีความปลอดภัย อยู่ครบถ้วน โดยความปลอดภัยที่ว่ามีความปลอดภัยในเชิงวัตถุ ในเชิงรูปธรรม และความปลอดภัยอีกอย่างที่สำคัญคือ ความปลอดภัยในเชิงกรอบกฎหมายที่ปกป้องทองคำไว้

หวั่นแก้ กฎหมายรวมบัญชีทุนสำรองเผชิญเสี่ยง

โดยภายใต้กรอบกฎหมายของ ธปท.ปัจจุบันอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. 2 ฉบับ ที่เป็นกรอบกฎหมายช่วยคุ้มครองความปลอดภัยของเงิน และทองที่หลวงตาได้บริจาค โดยกรอบกฎหมายดังกล่าวอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ธปท.และ พ.ร.บ.เงินตรา ที่มีการแยกบัญชีชัดเจน บัญชีแรกเป็นบัญชีที่ใช้ธุรกรรม การซื้อขายต่างๆ รวมถึงการดูแลเสถียรภาพที่เกี่ยวกับค่าเงินต่างๆ

อีกบัญชี คือ บัญชีทุนสำรองเงินตรา ภายใต้บัญชีนี้จะแยกออกมาอีก 3 บัญชี ซึ่งทองที่รับบริจาคจากหลวงตาฯ ถูกเก็บไว้ในบัญชีสำรองพิเศษ ถ้าจะเทียบเคียงก็เหมือนกับเป็นเงินก้นถุงที่มีความปลอดภัยตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม หากมีการแก้กฎหมาย และรวมสองบัญชีนี้เข้าด้วยกัน มองว่าจะเป็นจุดที่เสี่ยง ดังนั้น เป็นสิ่งที่ต้องจับตามอง เพราะถ้ามีการรวมกันโอกาสที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อเรื่องทุนสำรองเงินตรา รวมถึงเงินทองภายใต้โครงการทอดผ้าป่าช่วยชาติจะมีความเสี่ยง และมีโอกาสถูกนำไปใช้ต่างๆ ได้ แต่เวลานี้การที่ตนอยู่ตรงนี้สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น

เวิลด์แบงก์หั่นจีดีพีไทยลดฮวบ

ด้านธนาคารโลก (World Bank) เปิดเผยรายงานอัปเดตแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับเดือนเม.ย.2025 โดยปรับลดประมาณการ การเติบโตทางเศรษฐกิจของ “ประเทศไทย” ปี 2568 เหลือเพียง 1.6% หรือลดลงมากถึง 1.3 จุดเปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่เพิ่งจะปรับขึ้นคาดการณ์จีดีพีของไทยไปอยู่ที่ 2.9% ในรายงานอัปเดตฉบับเดือนม.ค. 

ส่วนในปีหน้า 2569 ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยลงมาเหลือ 1.8% ลดลง 0.9 จุดเปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่ 2.7% ในคาดการณ์เดือนม.ค.

การปรับลดประมาณการจีดีพีของไทยในครั้งนี้ยังนับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน เมื่อเทียบกับเขตเศรษฐกิจในระนาบเดียวกัน แต่รายงานไม่ได้รวมสิงคโปร์ และบรูไน ส่วนเมียนมาเป็นเคสเฉพาะที่เกิดสงครามกลางเมืองภายใน และแผ่นดินไหวครั้งใหญ่

เวิลด์แบงก์ ยังปรับลดคาดการณ์จีดีพีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (EAP) ลงมาอยู่ที่ 4.0% จากคาดการณ์ล่าสุดเดือนม.ค. ที่ 4.6% ผลงานทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ถูกกำหนดโดยปัจจัยภายนอก 3 ประการคือ

1.ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นของนโยบายเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการค้า

2.การจำกัดทางการค้าที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาษีนำเข้า 

3.การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ซึ่งทั้งสามปัจจัยนี้ล้วนส่งผลสำคัญต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค 

โดยมี "กัมพูชา" และ "เวียดนาม" เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงด้านอุปสงค์จากสหรัฐมากที่สุด รองลงมาคือ "ประเทศไทย และมาเลเซีย

อย่างไรก็ดี “แนวโน้มการเติบโตดังกล่าวอาจปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้อีก” ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับแนวโน้มการเติบโตในภาพรวมและอีกส่วนขึ้นอยู่กับนโยบายในการตอบสนองต่อความไม่แน่นอนของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกของแต่ละประเทศ

การบริโภคเคยเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตในภูมิภาค แต่เริ่มชะลอตัวลงในปัจจุบัน ยกเว้นในประเทศไทยเนื่องจากมีมาตรการกระตุ้นการบริโภคในช่วงครึ่งหลังของปี 2567

อย่างไรก็ดีในอนาคตนั้น ระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นในภูมิภาคโดยเฉพาะประเทศไทย และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น จะกดดันการเติบโตของการบริโภคในภูมิภาคลง

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนนั้น ประเทศไทยมีตัวเลขการลงทุนที่ลดลงท่ามกลางภาวะสินเชื่อตึงตัว เนื่องจากรัฐบาลควบคุมหนี้ภาคเอกชนที่สูง สวนทางกับมาเลเซียที่มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) เพิ่มขึ้นในด้านไอซีที และภาคการผลิต โดยเฉพาะดาต้าเซนเตอร์ ส่วนการลงทุนภาครัฐในจีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ช่วยชดเชยการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลงได้

“ในขณะที่ต้องหาทางรอดท่ามกลางโลกที่ผันผวน ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ก็ยังมีโอกาสที่จะรักษาแนวโน้มทางเศรษฐกิจของตนเองให้แข็งแกร่งขึ้นได้โดยการลงทุน และรับเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ รวมถึงเพิ่มโอกาสทางธุรกิจผ่านการปฏิรูปอย่างจริงจัง และสร้างความร่วมมือระดับสากลในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น” มานูเอลา วี. เฟอโร รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าว

แนะ 3 ทางออกไทย

ทางธนาคารโลกเสนอแนะแนวทางตอบสนองเชิงนโยบาย 3 ประการ ดังนี้ 

1. นำเอาเทคโนโลยีใหม่ที่จะสามารถกระตุ้นผลิตภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังการสร้างงานที่เพิ่มขึ้นมาใช้ ดังที่ “มาเลเซีย” และ “ไทย” ได้ดำเนินการไว้

2.ปฏิรูปเพื่อยกระดับการแข่งขัน โดยเฉพาะการบริการ ช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ดังที่เห็นได้จากกรณีของ “เวียดนาม”

 3.พัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศให้มากขึ้น ช่วยเสริมความแกร่งทางเศรษฐกิจได้

“การผสมผสานระหว่างการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ กับการปฏิรูปที่จริงจัง และความร่วมมือเชิงนวัตกรรมสามารถช่วยให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคสามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน และความท้าทายในระยะยาวได้” อาดิตยา แมตทู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ของธนาคารโลก กล่าว “นั่นคือ สูตรสำหรับการเพิ่มผลิตภาพและการสร้างงานที่ดีขึ้นกว่าเดิม”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์