MGC ลุยขายหุ้น ‘ไอพีโอ’ นำเงินระดมทุน มุ่งสู่ธุรกิจ ‘น่านน้ำใหม่’

MGC ลุยขายหุ้น ‘ไอพีโอ’ นำเงินระดมทุน มุ่งสู่ธุรกิจ ‘น่านน้ำใหม่’

"มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย)" น้องใหม่ไอพีโอที่กำลังจะนำธุรกิจ "ยานยนต์ระดับลักซ์ชัวรี่" เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 26 เม.ย. นี้ พร้อมนำเงินขยายสู่ธุรกิจ "น่านน้ำใหม่" อย่าง ธุรกิจมารีน เพื่อสร้างการเติบโตครั้งใหม่ !

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ! การแพร่ระบาดของ “โควิด-19” น็อกเศรษฐกิจแทบทุกภาคส่วน ทว่าปัจจุบันสัญญาณทางเศรษฐกิจทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการฟื้นตัว “โดดเด่น” หนีไม่พ้น “อุตสาหกรรมยานยนต์” หลังจากช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมต้องเผชิญทั้งปัญหาโควิด-19 และการขาดแคลนชิปรุมเร้า แต่ตอนนี้ความต้องการ (ดีมานด์) เพิ่มขึ้นของอุปสงค์ และอุปทาน 

ปัจจัยบวกดังกล่าว กำลังส่งผลดีต่อหุ้นน้องใหม่ไอพีโอ บริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) หรือ MGC ที่เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 280 ล้านหุ้น คิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออก และชำระแล้ว ราคาหุ้นละ 7.95 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (Par) หุ้นละ 0.50 บาท มูลค่ารวม 2,152.6 ล้านบาท โดยเข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) 26 เม.ย.2566

ปัจจุบัน MGC ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจอย่างครบวงจรในอุตสาหกรรมยานยนต์ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม นั่นคือ “ธุรกิจค้าปลีกยานยนต์” ซึ่งกลุ่มบริษัทเป็นผู้นำเข้า และ/หรือผู้จำหน่าย รถยนต์ บิ๊กไบค์ , เรือยอชต์ และเรือแม่น้ำ รวมถึงให้บริการจัดหาลูกค้าสำหรับธุรกิจให้เช่าเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว โดยแบรนด์ยานยนต์ชั้นนำระดับโลก กลุ่มบริษัทยังเป็นผู้จำหน่ายยานยนต์ BMW, MINI และ BMW Motorrad อันดับ 1 ของไทย

“ธุรกิจให้บริการหลังการขาย และให้บริการซ่อมบำรุงรถยนต์อิสระ” โดยมีศูนย์บริการครอบคลุม ช่วยสนับสนุนธุรกิจหลัก และสร้างรายได้ รวมถึงผลกำไรแก่กลุ่มบริษัทอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค 

“ธุรกิจให้บริการเช่ารถยนต์ และพนักงานขับ” โดยธุรกิจให้บริการเช่ารถยนต์ระยะยาว เน้นการให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าบริษัทขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีระยะเวลาการเช่า 2-5 ปี พร้อมให้บริการครบวงจรตลอดระยะเวลาของสัญญาเช่า บริการเช่ารถยนต์ระยะสั้นภายใต้แบรนด์ระดับโลก “Sixt Rent a Car” ที่มีศูนย์บริการมากกว่า 4,500 สาขา ในกว่า 105 ประเทศทั่วโลก และ “กลุ่มธุรกิจให้บริการอื่นๆ” เช่น บริการทางการเงินสำหรับยานยนต์ นายหน้าประกันภัย

MGC ลุยขายหุ้น ‘ไอพีโอ’ นำเงินระดมทุน มุ่งสู่ธุรกิจ ‘น่านน้ำใหม่’ จุดเด่นสำคัญ ! ของหุ้น MGC เป็น “ผู้นำ” ในธุรกิจค้าปลีกยานยนต์ “Lifestyle Mobility Ecosystem” ที่มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 20 ปี โดยมีการมุ่งพัฒนาระบบนิเวศน์ทางธุรกิจภายใต้ชื่อ “MGC-ASIA Ecosystem” สร้างการเติบโตอย่างมั่นคงให้แก่กลุ่มธุรกิจหลัก 

“ดร.สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม MGC ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นครั้งนี้ ! เพื่อต้องการสร้างการเติบโตครั้งใหม่

สะท้อนผ่านเงินระดมทุนนำไปลงทุนใน “บริษัท อัลฟา เอกซ์ จำกัด” (Alpha X) ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เพื่อให้บริการทางการเงินอย่างครบวงจร ครอบคลุมสินเชื่อเช่าซื้อ ลีสซิ่ง และสินเชื่อรีไฟแนนซ์ สำหรับยานยนต์ ระดับลักซ์ชัวรี่ และมารีน และมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นปี 2569 ในธุรกิจการเงิน

และนำเงินไปขยายธุรกิจบริการหลังการขาย ซึ่งสร้างรายได้อย่างมั่นคง และต่อเนื่อง ทั้งศูนย์ให้บริการซ่อมบำรุงรถยนต์อิสระภายใต้ยี่ห้อ MMS Bosch Car Service ที่ปัจจุบันมีอยู่ 21 สาขา ในพื้นที่ กรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด โดยวางแผนเพิ่มเป็น 35 สาขาภายในปี 2569 เพื่อรองรับลูกค้าทั่วประเทศ

ขณะเดียวกัน ในแผนธุรกิจ 3-5 ปีข้างหน้า กลุ่มบริษัทตั้งเป้าเป็น “ผู้นำ” ในธุรกิจมารีน ซึ่งมองว่าเป็น “น่านน้ำใหม่” (Blue Ocean) โดยเตรียมแผนลงทุนสร้าง Marine Ecosystem ในเมืองไทย เพื่อเป็น Prototype สำหรับโอกาสอนาคตที่อาจจะขยายธุรกิจไปยังอาเซียน

เพื่อตอบสนองความต้องการ และไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วของกลุ่มเป้าหมายใหม่ ผ่านทุกแพลตฟอร์มธุรกิจ และบริการนายหน้าประกันภัย ผ่านบริษัท ฮาวเด้น แมกซี่ อินชัวรันส์ โบรกเกอร์ จำกัด และอื่นๆ

ทั้งนี้ MGC มีแบรนด์ยานยนต์ชั้นนำอย่าง Rolls-Royce BMW และ MINI ที่สามารถ “ตอบโจทย์” กลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบน รวมถึงมีบริการหลังการขาย ศูนย์ซ่อมบำรุงอิสระ บริการทางการเงิน ประกันภัย และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องครบวงจร 

นอกจากนี้ ยังมีโอกาสเติบโตจากการได้รับสิทธิที่จะลงทุนในแบรนด์ Peugeot , Jeep และ Maserati ซึ่งเป็นแบรนด์ภายใต้กลุ่ม Stellantis รวมไปถึงแบรนด์ Aston Martin ผนวกกับสภาพอุตสาหกรรมที่เริ่มกลับสู่สภาวะปกติการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ และอุปทานภายหลังสถานการณ์ โควิด-19 ซึ่งบริษัทมีการเตรียมพร้อมทั้งในด้านสินค้า และบริการเพื่อรองรับการเติบโต 

และเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่กำลังเข้ามาก็อยู่ในเทรนด์ตรงนี้เช่นกัน ซึ่งเตรียมพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้เรื่องตลาดรถยนต์ EV มากขึ้น ทั้งส่วนบริการหลังการขาย ที่ปรึกษาการขาย รวมถึงลงทุนด้าน Infrastructure เพื่อรองรับเทรนด์ของรถยนต์ EV ที่มีอัตราการเติบโตสูง

สำหรับสัดส่วนหุ้นของ “ผู้มีส่วนร่วมในการบริหาร” ที่ไม่ติด silent period จำนวน 224 ล้านหุ้น คิดเป็น 20% ของจำนวนหุ้นที่ออก และเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลัง IPO 

อย่างไรก็ตาม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ “รัตนา ธรรมชวนวิริยะ” “ศุกลกานต์ ธรรมชวนวิริยะ” “เจิดนภางค์ ธรรมชวนวิริยะ” และ “ดร.สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ” ลงนามในสัญญาไม่จำหน่ายหุ้นที่ถือที่นอกเหนือจากส่วนที่ห้ามขายหุ้น รวมจำนวน 112 ล้านหุ้น คิดเป็น 10% เป็นระยะเวลา 180 วันนับแต่วันแรกที่หุ้นสามัญของบริษัททำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

ท้ายสุด “ดร.สัณหวุฒิ” บอกไว้ว่า เราดำเนินธุรกิจมากว่า 2 ทศวรรษ โดยสร้างความแข็งแกร่งด้วยการพัฒนาระบบนิเวศน์ทางธุรกิจ ผ่านการขยายผลิตภัณฑ์ บริการและฐานลูกค้า เพื่อตอกย้ำศักยภาพการเป็นผู้นำทางธุรกิจที่มุ่งตอบสนองไลฟ์สไตล์แห่งการเดินทางอย่างครบวงจร

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์