ALT จ่อร่วมทุนพันธมิตร วางสายสื่อสารใต้ดินให้เช่า
“เทคโนโลยีดิจิทัล”เข้ากับการดำเนินธุรกิจมากขึ้นหลายๆ องค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชนเริ่มมีความตื่นตัว และเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ “ยุคดิจิทัล” มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19
“ปรีญาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับ “พันธมิตร” เพื่อให้เข้ามาร่วมลงทุนวางสายสื่อสารใต้ดินเพื่อให้เช่า ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และทั่วประเทศ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในระยะเวลา 1-2 เดือนต่อจากนี้ โดยในช่วงที่ผ่านมาได้วางสายสื่อสารลงใต้ดินไปแล้วในพื้นที่พหลโยธิน ปฏิพัทธ์ พญาไท และสุขุมวิท 1 ถึง 71
สำหรับเป้าหมายในระยะปานกลาง 3 - 5 ปี บริษัทจะเน้นการพัฒนาธุรกิจในกลุ่มกิจการ 1. Network infrastructure enhancement คือ การเดินหน้าการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายสื่อสารเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงที่กลุ่มกิจการมี ส่งเสริมให้เกิดการเช่าใช้ร่วมกันของกลุ่มผู้ประกอบการ เชื่อมโยงโครงข่ายภายในประเทศเข้ากับโครงข่ายภาคพื้นน้ำระหว่างประเทศ
2. Smart energy คือ การพัฒนาต่อยอดโครงการโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) การผลิตมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Meter) โครงการพัฒนาพลังงานทางเลือก (Renewable Energy
3. Intelligent Transport คือ การพัฒนาธุรกิจด้านขนส่งอัจฉริยะ ช่วยส่งเสริมให้การขนส่งและเดินทางมีความคล่องตัวมากขึ้นในแง่มุมเกี่ยวกับการบันทึกติดตามรถยนต์ การชี้บ่งยานพาหนะที่ใช้ เพื่อประโยชน์ด้านความปลอดภัย และความรวดเร็วของการจ่ายชำระค่าผ่านทาง
และ 4. Smart e-Platform คือ การร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาระบบงาน หรือกระบวนการต่างๆ โดยอาศัย e-Platform ที่สามารถชี้บ่งตัวสินค้าเข้ากับสู่ศูนย์ข้อมูลส่วนกลาง
ขณะที่บริษัทชะลอการลงทุนเพิ่มเติมในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (รูฟท็อป) ในสัญญาแบบระหว่างเฉพาะเจาะจงระหว่างองค์กร (Private PPA) เพื่อหาช่องทางจัดหาเงินทุนเพิ่มเติม เนื่องจากโครงการดังกล่าวต้องใช้เงินทุนค่อนข้างมาก และเป็นการลงทุนระยะยาว คาดว่าจะเห็นความชัดเจนเร็วๆ นี้
โดยปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าในมือแล้ว 12 เมกะวัตต์ อายุสัญญาระหว่าง 10-20 ปี คาดว่าจะสร้างรายได้รวมตลอดอายุสัญญาประมาณ 680 ล้านบาท หรือมีรายได้เฉลี่ยต่อปี 44 ล้านบาท ระยะเวลาการคืนทุนเฉลี่ย 8 ปี และ “อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน” (IRR)ราว 9% โดยบริษัทตั้งเป้าจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 50 เมกะวัตต์ ภายในปี 68 และสามารถสร้างผลกำไรได้ 50 ล้านบาท/ปี
สำหรับทิศทางผลประกอบการในปีนี้ บริษัทคาดว่าช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก โดยได้รับปัจจัยหนุนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้ทุกธุรกิจกลับมาฟื้นตัว
ขณะที่บริษัทมีงานในมือ (Backlog) รวม 3,361 ล้านบาท โดยจะสามารถรับรู้รายได้ส่วนหนึ่งในไตรมาส 3 ปี 2565 ราว 272.98 ล้านบาท และไตรมาส 4 ปี 65 ราว 229.21 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่องในปีถัดๆ ไป
ส่วนการให้บริการสายสื่อสารระหว่างประเทศยังคงมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และการให้บริการสถานีชายฝั่งเพื่อเชื่อมต่อเคเบิ้ลใต้น้ำระหว่างประเทศ (CLS) ที่ จังหวัดสตูล ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบแล้วเมื่อเดือนก.ค. ที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้าเพิ่มเติมเพื่อที่จะรองรับความต้องการใหม่ๆ ทั้ง 3 พื้นที่ คือ จ.สตูล จ.สงขลา และ จ.ระยอง
สุดท้าย “ปรีญาภรณ์”บอกไว้ว่า เราขยายฐานธุรกิจโทรคมนาคมไปสู่ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน หรือธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี และเกี่ยวเนื่อง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์