“สถาพร งามเรืองพงศ์” ซุ่มเก็บหุ้น TEAMG ทะลุ 5%
“สถาพร งามเรืองพงศ์” นักลงทุนรายใหญ่สาย “วีไอ” ซุ่มเก็บหุ้น TEAMG เมื่อ 22 ก.ย. 65 จำนวน 6.33 ล้านหุ้น หรือ 0.9306% ถือเพิ่มทะลุ 5.8823% หลังก่อนหน้านั้น โด่งดังเพราะเคยหลงเสน่ห์ 2 หุ้นใหญ่ “KTC - OR” มาแล้ว
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รายงานการได้มาหุ้น บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAMG ของ นายสถาพร งามเรืองพงศ์ ซึ่งเป็นการได้มา เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2565 ในจำนวน 6,328,300 หุ้น หรือ 0.9306% โดยเป็นการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้
โดยจำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการได้มาหุ้น TRAMG เพิ่มขึ้นเป็น 40,000,000 หุ้น คิดเป็น 5.8823% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ จากเดิมถือหุ้นจำนวน 33,671,700 หุ้น หรือ 4.9517%
หลังก่อนหน้านี้ นักลงทุนรายใหญ่อย่าง “สถาพร งามเรืองพงศ์” หรือ ที่รู้จักกันว่า “เซียนฮง” โด่งดังจากการถือหุ้น บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ซึ่งทยอยซื้อลงทุนตั้งแต่ปี 2556 จนกระทั่งในปี 2563 ขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ “อันดับ 3” ในหุ้น KTC ด้วยจำนวนหุ้นรวมกว่า 128 ล้านหุ้น ราคาหุ้นช่วงนั้นอยู่ที่ประมาณ 31 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 4 ,000 ล้านบาท ก่อนจะเทขายในเวลาต่อมาไม่นานนัก
และกลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง ! ภายหลังปรากฏรายชื่อถือหุ้น “หุ้นขวัญใจมหาชน” อย่าง บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR และ OR ได้ปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อเตรียมจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งปรากฏว่า รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ “อันดับ 2” ไม่ใช่นักลงทุนสถาบันจากที่ไหน แต่เป็นนักลงทุนบุคคลธรรมดาที่มีชื่อ “สถาพร งามเรืองพงศ์” หลัง OR ได้เสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปเมื่อวันที่ 11 ก.พ.2564 ซึ่งปัจจุบันได้ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้น OR แล้ว
โดย สถาพร งามเรืองพงศ์ มีรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ของ OR ถือหุ้นรวม 244,298,900 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 2.04% หรือคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 7,756.49 ล้านบาท คำนวณจากราคาปิดของหุ้น OR ณ วันที่ 22 มี.ค. 2564 ซึ่งอยู่ที่ 31.75 บาท
โดย “สถาพร งามเรืองพงศ์” ถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่ นักลงทุนคุณค่า (ประเทศไทย) หรือ VI ในแวดวงการลงทุน เริ่มลงทุนในตลาดหุ้นเมื่อราวๆ ปี 2547 ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นเพียง “แสนบาท” ซึ่งตอนนั้นยังเรียนอยู่เพียงชั้นปี 1 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และหลังจากนั้นก็ยึดอาชีพ “นักลงทุน” เลี้ยงตัวเองมาต่อเนื่องตั้งแต่เรียนจบ
และกลยุทธ์การเลือกลงทุนใช้เมื่อสมัยที่พอร์ตการลงทุนยังไม่ใหญ่มากนักคือ การเลือกหุ้นที่เพิ่งทำกำไรนิวไฮ พร้อมกับวิเคราะห์อนาคตในไตรมาสที่เหลือของปีนั้นๆ ว่า จะสามารถรักษากำไรในระดับที่ดีได้ต่อเนื่องหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อพอร์ตการลงทุนเริ่มใหญ่ขึ้นจนเข้าใกล้หลักหมื่นล้านบาท ทำให้เขาต้องปรับกระบวนยุทธ์การลงทุนใหม่ โดยเน้นปัจจัยพื้นฐานเกือบ 100%
ส่วนหุ้นที่เลือกเข้าลงทุนจะเน้นดูว่าหุ้นนั้นมีความสามารถการแข่งขันชัดเจนแค่ไหน ที่สำคัญ “เก่งกว่า” คู่แข่งหรือไม่ โดยมุ่งไปที่อุตสาหกรรมที่สามารถเติบโตได้ในระยะยาว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์