LPH แตกไลน์สู่ "กัญชาทางการแพทย์" เสริมรายได้เติบโต !
“รพ.ลาดพร้าว” เปิดเกมลุย "ธุรกิจกัญชาทางการแพทย์" จ่อขอบอร์ดอนุมัติเงินลงทุน 20 ล้านบาท “เทคโอเวอร์” ธุรกิจต้นน้ำ (ปลูกกัญชา) พ.ย. นี้ พร้อมเดินหน้าต่อยอดสู่ "ผลิตภัณฑ์การแพทย์" หวังผลักดันรายได้เติบโตในอนาคต !!
เป็นธุรกิจที่ไม่ตาย ! แม้ในภาวะเศรษฐกิจทั้งโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ธุรกิจยังสร้างการเติบโตต่อเนื่อง สำหรับ “โรงพยาบาลเอกชน” และยังจะเป็น “ธุรกิจค้างฟ้า” ยังไม่มีใครทดแทนได้ ทว่า ในปัจจุบันธุรกิจโรงพยาบาลอัตราการเติบโตอาจจะไม่รวดเร็วทันใจเช่นเดิม เนื่องจากในการการลงทุนแต่ละครั้งต้องใช้เวลา...กว่าจะสร้างผล “กำไร !”
“ดร.อังกูร ฉันทนาวานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลลาดพร้าว จำกัด (มหาชน) หรือ LPH เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ” ฟังว่า หากต้องการสร้างการเติบโตของธุรกิจให้ “โดดเด่น” การยึดติดอยู่กับการดำเนินธุรกิจรูปแบบเดิมๆ ด้วยการเดินแผนขยาย-เพิ่มศักยภาพ และรักษาฐานที่มั่นในธุรกิจเดิมคือ “ธุรกิจโรงพยาบาล” พร้อมไปกับรุกสู่ “ธุรกิจใหม่” (New Business)
สะท้อนผ่านในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโควิด-19 เปลี่ยนพฤติกรรม “คน” ไปมาก... โดยหันมาดูแลในเรื่องสุขภาพมากขึ้น ดังนั้น รพ.ลาดพร้าว มองเห็นเมกะเทรนด์รักสุขภาพ จึง “ปรับพอร์ตรายได้” (Diversify) มุ่งสู่ธุรกิจใหม่คือ “ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์” ที่มีส่วนผสมของ “พืชกัญชา” ภายใต้บริษัทใหม่ บริษัท กัญราชา จำกัด ถือหุ้นโดย LPH 100% ซึ่งจะเป็นบริษัทที่ลงทุนในธุรกิจกัญชา
โดยภายหลังวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดนครราชสีมา มีการลงทุนปลูกพืชกัญชาให้กับทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี แต่พอมาถึงจุดหนึ่ง “เงินทุนหมด” ดังนั้น ทางวิสาหกิจชุมชนจึงมองหาพันธมิตรเพื่อใส่เงินทุนเข้ามา ซึ่งทางรพ.ลาดพร้าวสนใจลงทุนในธุรกิจดังกล่าว โดยในเดือนพ.ย. 2565 บริษัทจะขอที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) อนุมัติเงินลงทุนจำนวน 20 ล้านบาท ในการ “ซื้อกิจการ” (เทคโอเวอร์) ธุรกิจปลูกพืชกัญชา จำนวน 7-8 ไร่ ซึ่งบริษัทจะให้ทางมหาวิทยาลัยฯ จัดการทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้ารอซื้อผลิตภัณฑ์จากต้นกัญชาทั้งหมดแล้ว ทั้ง ต้น ราก ใบ และ ดอก
สำหรับการซื้อกิจการปลูกกัญชาเป็นแค่ “จุดเริ่มต้น” เป้าหมาย 3-5 ปีข้างหน้า (2566-2570) บริษัทต้องการ “ต่อยอด” สู่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น เช่นที่ใช้รักษาบรรเทาอาการของผู้ป่วยโรคมะเร็ง , อาการโรคนอนไม่หลับ เป็นต้น โดยคาดว่าจะเห็นผลิตภัณฑ์ตัวแรกในปี 2566 จะเป็น น้ำมันกัญชา , น้ำผสมวิตามิน รวมทั้งการลงทุน “สร้างโรงงานสกัด” ในปี 2567
ทั้งนี้ ในปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยสุรนารี มีทำการวิจัยผลิตภัณฑ์แล้วประมาณ 10 รายการ ซึ่งมีการขอ “สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา” (อย.) ไปแล้วประมาณ 4-5 รายการ ซึ่งปัจจุบันบริษัทกำลังเลือกว่าจะวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวไหน เพื่อต่อยอดมาจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในตลาดและรักษาทางการแพทย์
รวมทั้ง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ AMARC ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับทางการแพทย์เช่นเดียวกัน
“ทิศทางการเติบโตของ รพ.ลาดพร้าว การขยายตัวในธุรกิจรพ. คงไม่สามารถทำได้ทางเดียวที่เราเคยคิดไว้แล้ว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีธุรกิจใหม่เข้ามาเสริมฐานรายได้”
ดร.อังกูร แจกแจงต่อว่า “ธุรกิจการให้บริการตรวจสุขภาพนอกสถานที่” ซึ่งในปีนี้ได้งานตรวจสุขภาพเข้ามาหลายรายต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว เช่น เครือบริษัทเบทาโกร , ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB ซึ่งในปีหน้าคาดจะมีรายได้เติบโตขึ้นอยู่ที่ 150 ล้านบาท จากเป้าหมายปีนี้ 100 ล้านบาท
เนื่องจาก ในปีหน้าบริษัทมีการลงทุนโรงพยาบาลตรวจสุขภาพเพิ่มขึ้น จากเดิมเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่มีพนักงานหลักพัน-หมื่นคน แต่ในปีหน้าบริษัทจะเพิ่มลูกค้ารายกลาง-เล็ก ที่มีพนักงานระดับ 100 คนขึ้นไป โดยจะมีการเปิดโรงพยาบาลตรวจสุขภาพเพิ่มขึ้น “ใน 3 ภูมิภาค” คือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งดำเนินการอยู่ และกำลังดำเนินการขออนุญาตเปิดโรงพยาบาลตรวจสุขภาพเพิ่มอีก 2 แห่ง คือ “นครราชสีมา และ ฉะเชิงเทรา” เพื่อรองรับโรงงานขนาดกลาง-เล็ก ส่วนโรงงานขนาดใหญ่รพ.ลาดพร้าวจะเป็นคนดำเนินการ
สำหรับแนวโน้มธุรกิจในครึ่งหลังปี 2565 คาดว่ารายได้จาก ค่ารักษาและบริการต่างๆ (ไม่รวม โควิด-19) จะเติบโตอย่างชัดเจนจากครึ่งแรกปี 2565 เพราะเป็นช่วงที่เข้าสู่สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งถือเป็นไฮซีซันของอุตสาหกรรมและของบริษัท ผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการเพิ่มสูงขึ้น
อีกทั้งบริษัทมีแนวทางทำตลาดผู้ป่วยชาวต่างประเทศเพิ่มเติม โดยเฉพาะในส่วนของตะวันออกกลางและกัมพูชา ซึ่งหากเป็นไปตามที่วางไว้คาดจะมีรายได้ จากฐานผู้ป่วยส่วนนี้มากกว่า 100 ล้านบาทในปีนี้ และในปี 2566 ตั้งเป้า 120 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 บริษัทคาดว่ารายได้ลดลง 5-10% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากรายได้ในส่วนของการรักษาโควิด-19 ลดลงมาก หลังสถานการณ์คลี่คลายแล้ว แต่ว่ายังมีรายได้ในส่วนของธุรกิจนอนโควิดที่มีการเติบโตที่ดี จากการทำตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เพิ่มเติม ตลอดจนมีการขยายฐานการให้บริการรักษาในส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่องด้วย
สำหรับการลงทุนในปี2565 การก่อสร้างอาคารจอดรถอัตโนมัติขนาด 250 คัน ล่าช้ากว่ากำหนดเนื่องจากผู้รับเหมาก่อสร้างขาดแคลนแรงงานและเป็นช่วงฤดูฝน คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนพ.ย. นี้ หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลจักษุอินเตอร์ฯ ลาดพร้าว และโรงพยาบาลศัลยกรรมเฉพาะทางลาดพร้าว คาดว่าจะเริ่มได้ภายในเดือนม.ค. 66 คาดว่าแล้วเสร็จกลางปี 2567 เปิดให้บริการต้นปี 2568
ขณะที่ “คนไข้ประกันสังคม” ได้รับโควตาจำนวน 200,000 คน โดยมีผู้ประกันตนจำนวน 170,000 คน คาดว่าปลายปีนี้จะมีผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นเต็มจำนวนโควตา ทางโรงพยาบาลได้เช่าพื้นที่ตรงข้ามโรงพยาบาล ปากซอยลาดพร้าว 120 เปิดศูนย์การแพทย์ประกันสังคมโรงพยาบาลลาดพร้าว ขนาดพื้นที่ใช้สอย ประมาณ 2,000 ตารางเมตร รองรับผู้ป่วยนอกได้วันละ 800-1,000 คน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 4 ปี 65
สุดท้าย “ดร.อังกูร” บอกไว้ว่า นับตั้งแต่ปีหน้ารพ.ลาดพร้าวจะไม่ได้มีแค่ธุรกิจสถานพยาบาลแล้ว แต่จะมีธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาเสริมพอร์ตรายได้มากขึ้น เนื่องจากทิศทางธุรกิจในปัจจุบันจะมีแค่ธุรกิจเดียวอย่างที่เคยมองไว้ไม่ได้แล้ว