SCC รุกธุรกิจเมกะเทรนด์ หวังเป็นแวลูเชนอีวี หนุนรายได้เติบโต
‘เอสซีซี’ รุก “ธุรกิจแวลูเชนรถอีวี” จับมือพันธมิตร ตั้งโรงงานผลิตสารเคลือบแบตเตอรี่ ชี้ตลาดใหญ่ เหตุเทรนด์โลกหันมาใช้รถไฟฟ้า
คงต้องยอมรับว่า “วิกฤติเศรษฐกิจ” ในครั้งนี้ใหญ่ และ มีความท้าทายสูงมาก ! สะท้อนผ่านปัญหาความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ระหว่าง “รัสเซีย-ยูเครน” ลากยาว ส่งผลให้ราคาพลังงานตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นแบบรวดเร็ว กระทบต่อต้นทุนด้านพลังงานของธุรกิจ ขณะที่ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยเป็น “ขาขึ้น” ทำให้เกิดความกังวลต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก จะเข้าสู่ภาวะ “ถดถอย” ซึ่งจะกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน...
และหนึ่งในเอกชนขนาดใหญ่ที่มีต้นทุนพลังงานสูงระดับ 50% ของต้นทุนรวม ยกให้ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ที่มีธุรกิจหลัก “ปิโตรเคมี-ซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง” ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยธุรกิจปิโตรเคมีกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบสูง และกำลังผลิตใหม่เกินความต้องการของตลาด ส่วนธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง เจอผลกระทบราคาพลังงานพุ่งสูง
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC เล่าให้ฟังว่า ในทุกวิกฤติมีโอกาสใหม่ๆ เสมอ แม้ในช่วงวิกฤติรายได้ “ลดลง” แต่หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจคือ “รักษาสภาคล่อง” ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญมาก เนื่องจากจะทำให้ฐานะการเงินแข็งแกร่ง
เนื่องจากทุกวิกฤติธุรกิจที่จะ “รอด” และ “เดินต่อไปได้” คือ ธุรกิจที่มีการ “ปรับตัว” การยึดติดอยู่กับการดำเนินธุรกิจรูปแบบเดิมๆ โอกาสสร้างการเติบโตย่อมยากขึ้น ! ดังนั้น ทาง SCC จะบอกตลอดว่าพร้อมปรับตัว สร้างความยืดหยุ่นธุรกิจ เดินแผนรักษาฐานที่มั่นในธุรกิจเดิม พร้อมไปกับรุกสู่ “ธุรกิจใหม่” (New Business)
สะท้อนผ่าน บริษัทรุกเข้าไปใน “3 ธุรกิจใหม่” ที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลก “1.ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน” (Renewable Energy) ซึ่งมีเป้าหมายมุ่งลดต้นทุนพลังงานจากฟอสซิล โดยหันมาใช้พลังงานชีวมวล (Biomass) จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) ซึ่งปัจจุบันบริษัทสามารถใช้พลังงานทดแทนเกือบ 40% จากสัดส่วนการใช้พลังงานทั้งหมดในการผลิต ปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียน 220 เมกะวัตต์
โดยตั้งเป้าภายในปลายปี 2565 จะผลักดันให้เป็น 50% และมีแผนขยายกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์มและแบบลอยน้ำ) ด้วยการเข้าประมูลข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้ากับภาครัฐ (PPA) ซึ่งจะมีขนาดกำลังการผลิตตั้งแต่ 100-200 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งเป้าหมายในสเต็ปแรกใน 2-3 ปี จะมีกำลังผลิต 500 เมกะวัตต์ และภายใน 5 ปี กำลังผลิตจะเพิ่มเป็น 3,000 เมกะวัตต์
และอีกหนึ่งธุรกิจที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลกตลาดเติบโตแบบก้าวกระโดด คือ “ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า” (EV) หากมองในภาพรวมการใช้รถยนต์ทั่วโลกอยู่ที่ 1,400 คัน ซึ่งทวีปที่มีการสนับสนุนและมีทิศทางการใช้รถอีวีโดยมีเป้าหมายในปี 2025-2030 ในยุโรป และจีน จะเปลี่ยนมาใช้รถอีวีทั้งหมด ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือการใช้แบตเตอรี่อีวี !
สอดรับที่ บริษัท เอสซีจี เคมิคอล (SCGC) ร่วมลงทุนกับ บริษัท Denka ประเทศญี่ปุ่น ผู้ผลิตอะเซทิลีนแบล็ค (Acelylene Black) ใช้เป็นส่วนประกอบในแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบชาร์ไฟได้สำหรับรถอีวี และใช้เป็นวัสดุสำหรับผลิตสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง โดย SCGC ถือหุ้นในสัดส่วน 40%
โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างทำแผนและวงเงินลงทุนสร้างโรงงานผลิตสารเคลือบแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในซัพพลายเชนที่ผู้ประกอบการผลิตแบตเตอรี่รถอีวีต้องใช้ โดยเฟสแรกจะมีการลงทุนโรงงาน กำลังผลิตประมาณ 1.1 หมื่นตันต่อปี และมีโอกาสที่จะขยายกำลังผลิตเพิ่มขึ้นได้อี
“เราถือว่าโชคดีการได้เจอกับพาร์ตเนอร์ที่ดี ซึ่งทำให้เราสามารถเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของรถอีวีได้ ซึ่งจะทำให้บริษัทเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เป็นเทรนด์ของโลก”
2.ธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจรรายใหญ่ในอาเซียน (ASEAN Logistics) จากการควบรวมธุรกิจโลจิสติกส์กับ บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ (JWD) เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรรายใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน ด้วยบริการที่หลากหลายทั้งบริการคลังสินค้า ระบบห้องเย็น บริการขนส่งสินค้าทั้งทางบก เรือ อากาศ บริการท่าเทียบเรือ และบริการนำเข้า-ส่งออกครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ
และ 3. ธุรกิจ Smart Living ถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้สะดวก คุ้มค่า ปลอดภัย รักษ์โลก ได้แก่ นวัตกรรมอัจฉริยะ เพื่อคุณภาพอากาศและประหยัดพลังงาน อาทิ โซลูชั่นจัดการคุณภาพอากาศ กำจัดเชื้อโรค และลดการใช้พลังงานในอาคาร , เทคโนโลยีควบคุมการเปิด-ปิดนวัตกรรมในบ้านอัจฉริยะ , เทคโนโลยีวัดค่าสุขภาพของผู้อาศัยในบ้าน หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะแจ้งเตือนไปยังโรงพยาบาลได้ทันที
อย่างไรก็ตาม ปี 2566 ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจยังสูง บริษัทจึงต้องเตรียมตัว เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่ไม่รู้ว่าต้องอยู่กันไปอีกนานแค่ไหน ! ในแง่ของบริษัทต้อง “ติดตาม” และ “ประเมิน” อีกครั้ง
ในส่วนของ “งบลงทุน” ปีหน้าคาดว่าจะยังไม่กลับไปสู่ “ระดับสูง” เหมือนเดิม ในท่ามกลางวิกฤติแบบนี้ เพราะในแง่ของบริษัทเราจำเป็นต้องคำนึงถึงฐานการเงินที่เข้มแข็ง แต่ในเรื่องของการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ที่เป็นเทรนด์ของโลกยังเป็นสิ่งที่ต้องลงทุน
ทั้งนี้ การปรับตัวของ SCC ในครั้งนี้มองเป็น 2 ด้าน คือ “ด้านการปรับตัว” เนื่องจากต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับกับวิกฤติที่ยังไม่รู้จะนานแค่ไหน ดังนั้น สิ่งที่บริษัทต้องไปดูก็จะเรื่องของต้นทุน , กำลังการผลิต และกลุ่มสินค้าพิเศษที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (HVA) เป็นต้น ขณะที่ เรื่องของ 3 เทรนด์ธุรกิจใหม่ ซึ่งเป็น “ด้านการรุกธุรกิจ”
สำหรับผลประกอบการปีนี้ แนวโน้มรายได้จากการขายจะเติบโตตามเป้า 10% ขณะที่แนวโน้มในไตรมาส 4 ปี 65 คาดรายได้คงปรับลงเล็กน้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่มีความผันผวน และภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย แต่บริษัทยังคงจะเดินหน้าปรับราคาสินค้าขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งเน้นคงความสามารถในการทำกำไร
ส่วนงบลงทุนในปีนี้ได้มีการปรับลดลงมาแล้วที่ 5.5 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ 8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีการเลื่อนแผนซื้อกิจการไปในปีหน้า หรือปีถัดๆ ไปแทน แต่การลงทุนในโครงการเน้นการลดต้นทุนยังคงเดินหน้าต่อ
ขณะที่ ความคืบหน้าการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และการนำหุ้นของ SCGC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่าจะเข้าจดทะเบียนได้ในปี 2566 แต่ก็จะพิจารณาในเรื่องภาวะตลาดที่มีความเหมาะสม หรือรอจังหวะให้เงินทุนต่างชาติไหลกลับมาก่อน จากปัจจุบันที่ยังไหลออกต่อเนื่องจากผลกระทบการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ท้ายสุด “รุ่งโรจน์” บอกว่า วิกฤติครั้งนี้มีความท้าทายสูง แต่เชื่อจะผ่านไปได้ และกลับมาเข้มแข็งกว่าเดิมเหมือนทุกครั้ง จากการปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจอย่างทันท่วงที ลดต้นทุน ชะลอโครงการลงทุนที่ไม่เร่งด่วน ปรับแผนการผลิตให้เหมาะกับความต้องการตลาด ขณะเดียวกันลงทุนเพิ่มในธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพสูง (New S-Curve) ส่วนธุรกิจที่ SCGP เข้าไปลงทุนยังเติบโตต่อเนื่องด้วยดี