โบรกเร่งคุมความเสี่ยงหลักประกัน หลัง MORE ป่วน’หุ้นเล็ก’
“หุ้นมอร์”สร้างความเสียหายโบรก “บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง” แจงอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางปิดความเสี่ยงเพิ่ม "บล.โกลเบล็ก" วอนตลท.แจ้งเตือนทันท่วงที "บล.กสิกรไทย" เผยแต่ละโบรกมีติดแบล็คลิสต์ 20-30 หุ้น "บล.ซีจีเอส -ซีไอเอ็มบี" เชื่อไม่เกิดอวสานหุ้นเล็ก
กรณีการซื้อขายหุ้นของบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ที่ผู้ซื้อได้รับวงเงินจากบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) หลายแห่งเพื่อ นำมาซื้อหุ้น แต่ไม่สามารถชำระค่าหุ้นได้ ทำให้โบรกเกอร์ในฝั่งซื้อต้องควักเงินบริษัทมาจ่ายใหักับทางสำนักหักบัญชี (ประเทศไทย)จำกัด (TCH)
หม่อมหลวงทองมกุฎ ทองใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด (KTX) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะสามารถดำเนินการอะไรเพิ่มขึ้นอีกบาง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างให้ฝ่ายบริหารความเสี่ยงช่วยดู เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของบริษัท
ทั้งนี้แนวทางอาจจะให้วงเงินลูกค้าในการซื้อขายหลักทรัพย์อาจจะมีการเข้มงวดในหุ้นบางตัวที่ลูกค้านำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งหากพิจารณาแล้วมีความเสี่ยงอาจจะให้วงเงินลูกค้าการซื้อขายหลักทรัพย์ต่ำกว่าเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ และของบริษัท เป็นต้น แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป
อย่างไรก็ตามมาตรการที่ บล. กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จะนำมาใช้นั้นจะต้องมีผลกระทบกับลูกค้าและต่อบรรยากาศการลงทุนภาพรวมให้น้อยที่สุด
“กรณีหุ้น MORE เชื่อว่าทุกโบรกก็จะเข้าไปดูว่าจะสามารถปิดความเสี่ยงอะไรได้มากขึ้น ซึ่งในส่วนของเรานั้นมีความเข้มงวดเรื่องการให้วงเงิน และ KYC อยู่แล้ว ซึ่งกำลังดูว่าจะทำอะไรได้อีกบ้างเพื่อเป็นการลดความเสี่ยง โดยที่ไม่กระทบกับลูกค้า”
นายธนพิศาล คูหาเปรมกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.โกลเบล็ก จำกัด (GLOBLEX) กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่ามาตรการหรือกลไกตลาดในปัจจุบันนั้นเพียงพอแล้ว แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากการเปิดบัญชีกับหลายแห่ง โดยที่่บล.ไม่สามารถรู้ได้ ซึ่งผู้ที่ทราบคือตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตลท.)ว่า มีนักลงทุนได้วงเงินมาจากหลายๆโบรก ดังนั้นเมื่อตลท.รู้ข้อมูลก็ต้องเตือนบล.ให้ระมัดระวัง
โดยส่วนตัวมองว่าการวางหลักทรัพย์ค้ำประกันปัจจุบันที่ 20% เป็นระดับที่เหมาะสมแล้ว และหากมีการให้ซื้อหุ้นด้วยบัญชีเงินสดเท่านั้น ไม่ให้วงเงิน หรือการห้ามซื้อขายหลักทรัพย์หักกลบลบหนี้ในวันเดียวกัน (เดย์เทรด) นั้นก็จะกระทบกับมูลค่าการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยให้ลดลง
รวมถึงหากมีเกณฑ์อะไรออกมาเพิ่ม จะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งส่วนตัวมองว่าการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจะต้องแก้ที่ต้นเหตุมากกว่า เช่น ตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมาย T1,T2 และT3 (Trading Alert Level) ให้ทันท่วงที เพราะ ตลท.เห็นข้อมูลมากกว่าโบรกว่าหุ้ตัวนี้ปรับตัวขึ้นมากเกินไปหรือยัง และหุ้นกระจุกตัวอยู่ที่ใคร ก็จะช่วยไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหมือนกับที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่าจากกรณี หุ้น MORE ที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อการซื้อขายหุ้นเล็กอย่างไรนั้น เชื่อว่าแต่ละโบรกเกอร์จะพิจารณาปล่อยมาร์จินโลนเข้มงวดขึ้นอย่างชัดเจน เพิ่มจำนวนหุ้นในแบล็คลิสต์ ทั้งที่ไม่สามารถปล่อยได้และเสี่ยงที่จะปล่อยได้ยากขึ้น ซึ่งปัจจุบันทุกโบรกจะมีรายชื่อหุ้นที่ห้ามปล่อยมาร์จิ้นอยู่แล้ว 20-30 ตัว จากหุ้นในตลาดฯ 500-600 ตัว
อย่างไรก็ตามต้องติดตามว่าตลท.จะมีโอกาสปรับเกณฑ์การให้วงเงินมาร์จินโลนมากน้อยแค่ไหน คาดว่าคงจะมีการทำเฮียริ่งกับธุรกิจโบรกเกอร์ก่อน
"กรณี หุ้น MORE เป็นปัญหาเฉพาะตัว ยังมีหุ้นเล็กอีกหลายตัวที่ธุรกิจดี กำไรเติบโตสามารถปล่อนมาร์จิ้นในระดับที่เหมาะสมตามเกณฑ์เดิมได้ และหากเป็นหุ้นเล็กในกลุ่มที่นักวิเคราะห์ติดตามข้อมูล จำนวน 5-6โบรกเกอร์ดูแลอยู่นั้น นักลงทุนยังสามารถนำข้อมูลมาเฉลี่ยรวมกันเพื่อประเมินพื้นฐานได้ เป็นสิ่งการันตีได้ว่า หุ้นเล็กตัวนั้น ไม่ได้แย่"
นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี(ประเทศไทย) กล่าวว่า หลังจากนี้ธุรกิจโบรกเกอร์คงจะพิจารณาในเรื่องของการปล่อยมาร์จินมากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงทบทวนหุ้นที่อาจอยู่ในข่ายปล่อยกู้มีความเสี่ยงเกินพื้นฐานหรือมีพี/อีสูง ทั้งนี้ในส่วนของบริษัท ค่อนข้างเข้มงวดอยู่แล้วหากเป็น ถ้าเป็นหุ้นกลางและหุ้นเล็ก จะดูปัจจัยพื้นฐานประกอบก่อนและให้วงเงินจำกัด
อย่างไรก็ตามระยะข้างหน้ายังมองว่า หุ้นเล็กคงไม่หายไปจากตลาด เพราะยังมีหุ้นอื่นๆ ที่มีธุรกิจสามารถโตตามพื้นฐานได้ เพียงแต่นักลงทุนต้องระวังการลงทุนหุ้นเล็กมากขึ้น ทั้งการซื้อขายหุ้นขนาดเล็กต้องพิจารณาการกระจุกตัวของการซื้อขายหุ้น ประวัติของผู้ถือหุ้นรายใหญ่มากขึ้น และพื้นฐานธุรกิจเชิงลึกมากขึ้น ที่มีกำไรกับราคาหุ้นไปในทิศทางเดียวกัน