เปิดสัมพันธ์ลึก‘อภิมุข -เอกภัทร’ ก๊วนซิ่งรถหรูป่วนหุ้นมอร์
สำรวจความสัมพันธ์ระหว่าง “อภิมุข-เอกภัทร” ว่าทั้ง 2 คนนี้เป็นใครมาจากไหน ทำไมจึงหาญกล้าทำรายการซื้อขายที่สั่นสะเทือนวงการตลาดทุนเช่นนี้
หุ้น บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE กำลังเป็นประเด็นร้อนที่สะท้อนความเละเทะของตลาดทุนไทย โดยเฉพาะช่องโหว่และรูรั่วของการกำกับดูแลที่หลังจากนี้ทั้ง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมไปถึง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ต้องหาทางอุดรูรั่วนี้อย่างจริงจัง
ย้อนกลับไปที่ต้นเรื่อง คือ วันที่ 10 พ.ย.2565 ช่วงเปิดการซื้อขายภาคเช้า(ATO) ในตลาดหุ้นไทย พบวอลุ่มปริศนาราว 1,500 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 2.90 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 4,400 ล้านบาท ซึ่งวอลุ่มที่มหาศาลขนาดนี้ ถือว่าผิดปกติอย่างมากเมื่อเทียบกับการซื้อขายของหุ้น MORE ในช่วงที่ผ่านมา
หลังจากออเดอร์เหล่านี้จับคู่ซื้อขายกันเป็นที่เรียบร้อย ในเวลาต่อมาไม่นานหุ้น MORE ก็ร่วงลงจนติดเพดานการซื้อขายด้านล่าง(ฟลอร์) ตลอดทั้งวันของวันนั้น และยังลามต่อเนื่องในวัดถัดมา(11พ.ย.)ด้วย จากความผิดปกติเหล่านี้ ทำให้โบรกเกอร์ที่เกี่ยวข้องต่างเร่งหาสาเหตุ ซึ่งก็พบกับความผิดปกติที่ทัั้งวงการตลาดทุนต้องหันมามอง
จากการตรวจสอบของโบรกเกอร์ต่างๆ พบว่า ผู้ส่งคำสั่งซื้อหุ้น MORE จำนวนกว่า 1,500 ล้านหุ้น ในช่วง ATO มาจากบุคคลเพียงคนเดียว คือ นายอภิมุข บำรุงวงศ์ หรือ “ปิงปอง” ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 4 ของ MORE โดยเป็นการส่ง “คำสั่งซื้อ” ผ่านโบรกเกอร์กว่า 10 แห่ง ที่เขาไล่เปิดบัญชี Cash Account(บัญชีเงินสด) โดยใช้หุ้น MORE เป็นหลักประกัน และก็ได้วงเงินในการซื้อขายจากแต่ละโบรกหลักหลายร้อยล้านบาท ทำให้ นายอภิมุข มีกำลังซื้อหุ้น MORE อย่างมหาศาลจากวงเงินเหล่านี้
ทันทีที่โบรกเกอร์เหล่านี้พบว่า ผู้ซื้อมาจากออเดอร์โดยบุคคลเพียงคนเดียว คือ นายอภิมุข ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 4,400 ล้านบาท จึงเริ่มเกิดความวิตกกังวลว่า นายอภิมุข จะมีเงินมาชำระค่าหุ้นหรือไม่ และท้ายที่สุด นายอภิมุข ก็ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่าหุ้นได้ตามที่โบรกเกอร์ตั้งข้อสันนิษฐานเอาไว้ ทำให้โบรกเกอร์เหล่านี้ต้องหาเงินมาจ่ายค่าหุ้นแทนตามหลักกฎหมาย
ส่วนฝั่งขายแม้จะมีออกมาจากหลายบัญชี แต่เบื้องต้นตรวจสอบพบว่า มีราวๆ 26 รายที่เกี่ยวข้อง แต่มีหนึ่งรายที่ นายอภิมุข ให้ข้อมูลไว้กับหน่วยงานกำกับดูแลว่า ที่ทำรายการซื้อก็เพื่อจะรับผิดชอบค่าหุ้นให้กับ นายเอกภัทร พรประภา หรือ “คิม” เนื่องจาก นายอภิมุข เป็นผู้ชักชวนให้ นายเอกภัทร เข้ามาลงทุนในหุ้น MORE แต่เนื่องจากสถานการณ์ราคาหุ้นไม่ได้เป็นไปอย่างที่ตกลงกันไว้
ประกอบกับมีความกังวลว่า หุ้น MORE ที่เกิดจากการแปลงวอร์แรนท์จะเข้ามาเทรดด้วย ยิ่งจะทำให้แนวโน้มราคาหุ้นปรับลดลง “อภิมุข” จึงขออาสารับภาระซื้อหุ้นเหล่านี้แทน จึงเป็นที่มาของการทำรายการในเช้าวันที่ 10 พ.ย.2565
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงคำบอกเล่าของ นายอภิมุข ที่ให้ไว้กับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเบื้องลึกกว่านั้นจะเป็นอย่างไร มีใครที่บงการอยู่เบื้องหลังอีกชั้นหรือจงใจจะมาล้วงเงินจากฝั่งโบรกเกอร์หรือไม่ ทั้งหมดนี้ยังไม่มีใครทราบ ต้องรอการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม “กรุงเทพธุรกิจ” พาไปสำรวจความสัมพันธ์ระหว่าง “นายอภิมุข” และ “นายเอกภัทร” ว่าทั้ง 2 คนนี้เป็นใครมาจากไหน ทำไมจึงหาญกล้าทำรายการซื้อขายที่สั่นสะเทือนวงการตลาดทุนเช่นนี้
“อภิมุข บำรุงวงศ์” มีชื่อเล่นว่า “ปิงปอง” อายุเพียง 32 ปี อดีตเป็นเจ้าหน้าที่การตลาดของโบรกเกอร์แห่งหนึ่ง ซึ่ง อภิมุข เคยให้สัมภาษณ์ผ่านรายการในช่องยูทูปแห่งหนึ่งว่า เขาเกิดมาในครอบครัวนักธุรกิจ คุณพ่อทำธุรกิจส่งออกไปต่างประเทศ แต่ประสบปัญหาช่วงวิกฤตซัพไพร์มจนที่บ้านล้มละลาย เวลานั้นเป็นจังหวะเดียวกับที่เขาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย จนมีความคิดว่าอยากลาออกมาทำงานเพื่อมาช่วยที่บ้าน แต่ทางบ้านไม่ยอมจึงกัดฟันเรียนต่อจนจบ
หลังจากเรียนจบก็ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่การตลาดให้กับโบรกเกอร์แห่งหนึ่ง ซึ่งในช่วงนั้นเขาเริ่มรู้จักกับ นายอมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ หรือ เฮียม้อ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ MORE ซึ่ง อภิมุข ให้การนับถือ นายอมฤทธิ์ ไม่ต่างจากผู้มีพระคุณ
ช่วงเวลานั้น อภิมุข เริ่มร่ำรวยจากการลงทุนในตลาดทุน และเริ่มเข้าสู่วงการรถหรู โดยสะสม ซูเปอร์คาร์ ซึ่งปัจจุบันเขามีรถซูเปอร์คาร์ประมาณ 12 คัน มูลค่ารวมกว่า 250 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็น Lamborghini Aventador SVJ , McLaren 765LT , Ferrari 812 Superfast , Porsche Taycan Turbo S , Lamborghini Urus Performante และ Nissan GT-R Nismo special แต่ละคัน ล้วนเป็นรถแรงระดับโลกทั้งสิ้น ซึ่งช่วงเวลานี้เอง เป็นช่วงที่ อภิมุข เริ่มรู้จักกับ “เอกภัทร พรประภา” หรือ “คิม”
สำหรับ “เอกภัทร พรประภา” หรือ คิม เป็นทายาทรุ่นที่ 4 ของ “ตระกูลพรประภา” เป็นบุตรของ “ดร.อรรณพ - นางอรพินธุ์ พรประภา” ผู้บุกเบิกและร่วมก่อตั้งบริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด ตำนานรถจักรยานยนต์ฮอนด้า ในประเทศไทย และเจ้าของธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์และท่าเรือขนส่งระหว่างประเทศที่แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี และยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ MORE ที่กำลังร้อนฉ่าด้วย
“เอกภัทร” ร่วมถือหุ้น MORE โดยพบข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 9 จำนวน 122,118,400 หุ้น หรือ 1.87% และพบรายชื่อผู้ถือหุ้นใน NVDR (MORE-R) ลำดับ 2 จำนวน 160,525,9000 หุ้น หรือ 2.46%
นอกจากนี้ “เอกภัทร” เคยเข้าไปถือทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ แกรนด์ โฮสพีทาลิตี้ หรือ GAHREIT จำนวน 500,000 หุ้น หรือ 0.28%
โดย “เอกภัทร” เริ่มสนิทสนมกับ “อภิมุข” ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีความชื่นชอบในรถยนต์ซูเปอร์คาร์เหมือนกัน
ประวัติการศึกษาของ “เอกภัทร” ถือว่าไม่ธรรมดา จบการศึกษาปริญญาตรีที่ London Metropolitan University ประเทศอังกฤษ คณะบริหารธุรกิจ เกียรตินิยมอันดับ 2
ปัจจุบันรับช่วงต่อเข้ามาบริหารธุรกิจของครอบครัวอย่างเต็มตัว อาทิ บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด , บริษัท บางกอกเมทอลเวอร์ค จำกัด ผลิตชิ้นส่วนประกอบรถยนต์และรถจักรยานยนต์ , บริษัท เอ.พี.พริวิเลจ จำกัด ให้บริการให้เช่า การขาย การซื้อ และการดำเนินงานด้านอสังหาริมทรัพย์ , เอ เอ แอล ทรานสปอร์ตเทชั่น จำกัด ธุรกิจโลจิสติกส์ บริหารจัดการด้านการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เอกภัทร คลุกคลีกับรถยนต์มากแต่เด็ก ทำให้เขาชื่นชอบและหลงใหลรถซูเปอร์คาร์เป็นชีวิตจิตใจ นอกจากนี้เขายังถือเป็นนักสะสมรถซูเปอร์คาร์ตัวยง มีรุ่นลิมิเต็ดและสเปเชียลอิดิชั่นในพอร์ตเพียบ โดยปัจจุบันพอร์ตรถยนต์ซูเปอร์คาร์ของ เอกภัทร รวมๆ กันมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5,900 ล้านบาท
แม้ว่าเวลานี้ยังไม่มีใครฟันธงว่า ทั้ง “อภิมุข” และ “เอกภัทร” เกี่ยวพันกันอย่างไรในกรณีซื้อขายหุ้น MORE และที่สำคัญมีผู้อยู่เบื้องหลังของอภิมหาดีลการซื้อขายในครั้งนี้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ทั้ง 2 คน นับเป็น “สายซิ่ง” เหมือนกัน!