"หุ้นไทย" อาจหมดเสน่ห์ โดยนโยบายภาครัฐ
"ตลาดหุ้นไทย" ได้ชื่อว่าเป็นตลาดหุ้นที่มีสภาพคล่องการซื้อขายสูงเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย แต่ภาษีที่รัฐบาลจะเริ่มเก็บในปี 2566 กำลังจะทำให้เสน่ห์ตรงนี้หายไปทันที เพราะต้นทุนการซื้อขายของนักลงทุนจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
เรียกได้ว่าเป็นความ ‘ซวย’ ส่งท้ายปี 2565 ก็ว่าได้ สำหรับตลาดทุนไทย ที่เผชิญกับเรื่องหนักๆ ถึง 2 เรื่องภายในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องแรกกรณีหุ้น บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ซึ่งปัจจุบันปัญหานี้ยังไม่ทันจบดี ก็มาเจอกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เปิดไฟเขียวให้เก็บภาษี Transaction Tax หรือ ‘ภาษีขายหุ้น’ ในอัตรา 0.11% ของมูลค่าการขาย โดยที่จะเริ่มเก็บก่อนในปี 2566 อัตรา 0.055% ก่อนขยับเป็น 0.11% ในปี 2567 แต่ภาษีที่ ครม. เพิ่งอนุมัติให้จัดเก็บได้นี้ มีการประเมินกันว่าอาจทำให้ตลาดหุ้นไทย ‘หมดเสน่ห์’ ได้เลยทีเดียว
ก่อนอื่นต้องบอกว่า "ตลาดหุ้นไทย" ได้ชื่อว่าเป็นตลาดหุ้นที่มีสภาพคล่องการซื้อขายสูงเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย กลายเป็นเสน่ห์ที่สำคัญของตลาดหุ้นไทยที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อขายจำนวนมาก เพราะเข้าง่าย-ออกง่าย ต้นทุนการซื้อขายไม่สูงเกินไป แต่ภาษีที่รัฐบาลจะเริ่มเก็บในปี 2566 กำลังจะทำให้เสน่ห์ตรงนี้ของตลาดหุ้นไทยหายไปทันที เพราะต้นทุนการซื้อขายของนักลงทุนจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
บริษัทหลักทรัพย์ เอเชียพลัส ประเมินว่า อัตราภาษีขายหุ้นที่เรียกเก็บ 0.11% ทำให้ภาระค่าคอมมิชชั่นของผู้ลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 64% จากปัจจุบันที่มีค่าเฉลี่ยซึ่งต้องจ่ายเป็นค่าคอมมิชชั่นอยู่ที่ราวๆ 0.086% ในจำนวนนี้ผู้ลงทุนต่างชาติเป็นผู้รับภาระค่าคอมมิชชั่นสูงที่สุด เนื่องจากนักลงทุนกลุ่มนี้มีจำนวนรอบหมุนเวียนการซื้อขาย (Turnover) สูงถึง 150%
นอกจากนี้ถ้าดูสถิติการซื้อขายในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา (2554-2565) พบว่า ผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดหุ้นไทยมักไม่ค่อยดีในช่วงที่สภาพคล่องการซื้อขายต่ำ ดังนั้นนอกจากสภาพคล่องการซื้อขายที่มีแนวโน้มว่าลดลงแล้ว ยังอาจทำให้ดัชนีหุ้นไทยไปไหนได้ไม่ไกลด้วย
ทีนี้มาดูสถานการณ์ที่นักลงทุนรายย่อยจับมือกันจำลองขึ้นมา เมื่อต้องเก็บภาษีขายหุ้นกัน โดยผู้ลงทุนที่ไม่เห็นด้วยกับภาษีดังกล่าวพากันเรียกร้องผ่านโซเชียลมีเดีย ขอให้ร่วมแสดงพลังประท้วงด้วยการ ‘หยุดเทรด’ หนึ่งวัน ในวันที่ 8 ธ.ค. 2565
แม้ไม่มีใครฟันธงได้ชัดๆ ว่าการประท้วงครั้งนี้ได้ผลหรือไม่ แต่ก็ทำเอาวอลุ่มการซื้อขายวันดังกล่าวลดลงถึง 35% มาอยู่ที่ระดับ 4.26 หมื่นล้านบาท จากปกติที่ซื้อขายกันในระดับ 6-7 หมื่นล้านบาท โดยวอลุ่มเทรดของรายย่อยลดลง 23% ขณะที่วอลุ่มของนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศลดลงถึง 30-42%
นักวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ ประเมินว่า ด้วยวอลุ่มที่ลดลงยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของมูลค่าหุ้น (Valuation Risk) ที่ลดตาม ถ้าเทียบก็เหมือนกับกรณีที่ เฟด เลิกทำคิวอีแล้วดูดเงินออกจากตลาด ราคาหุ้นก็ร่วงลงทันทีกระทบต่อมูลค่าหุ้นที่ลดลงตาม
ดังนั้นในอนาคตถ้าภาษีตัวนี้ทำให้วอลุ่มการซื้อขายเบาบางลงจริง ภาษีที่รัฐบาลคาดหวังว่าจะเรียกเก็บได้ในระดับ 1.6 หมื่นล้านบาทต่อปี ก็อาจเป็นเพียงแค่จินตนาการเท่านั้น แถมยังทำให้ตลาดหุ้นไทยหมดเสน่ห์ไปด้วย