GULF-GPSC-BGRIM ดาวเด่นรับอานิสงส์ขึ้นค่าเอฟที
“กลุ่มโรงไฟฟ้า” พุ่งรับข่าวทันที! หลังในที่สุดมีความชัดเจนเรื่องการคิดค่าไฟใหม่ งวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 หลังเฝ้ารอกันมาสักพัก ซึ่งดูจากราคาหุ้นที่กอดคอขึ้นมายกแผง สะท้อนว่ามติที่ออกมานั้นถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการอย่างแน่นอน
สำรวจ ราคาหุ้น ในการซื้อขายล่าสุด (16 ธ.ค.) เขียวสดใส “ปิดที่จุดสูงสุด” ถ้วนหน้า นำโดยพี่ใหญ่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ปิดการซื้อขายที่จุดสูงสุดของวัน 54.25 บาท เพิ่มขึ้น 0.75 บาท หรือ 1.40% ส่วนบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ธุรกิจโรงไฟฟ้าของกลุ่มปตท. ก็ไม่น้อยหน้า ปิดที่ระดับสูงสุดของวันเช่นกัน 73 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท หรือ 0.69%
เช่นเดียวกับบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ปิดที่จุดสูงสุด 39.75 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท หรือ 1.27% ส่วนบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ตามมาติดๆ ปิดไฮ 96.25 บาท เพิ่มขึ้น 1.25 บาท หรือ 1.32%
โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติคงค่า Ft สำหรับผู้ใช้ไฟบ้านไว้เท่าเดิม 93.43 สตางค์/หน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน 3.79 บาท/หน่วย เท่ากับว่ายังตรึงค่าไฟไว้เท่าเดิม 4.72 บาท/หน่วย เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ตามคำสั่งการของนายกฯ
ส่วนกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ บริษัท ห้างร้านต่างๆ ในทุกอุตสาหกรรม ทั้งขนาดเล็ก กลาง หรือ ใหญ่ ให้ขึ้นค่า Ft อีก 97.01 สตางค์/หน่วย เป็น 190.44 สตางค์/หน่วย ซึ่งเมื่อรวมกับค่าไฟฐาน 3.79 บาท/หน่วย ทำให้ค่าไฟของกลุ่มนี้เพิ่มเป็น 5.69 บาท/หน่วย สูงสุดเป็นประวัติการณ์
การขึ้นค่าไฟรอบนี้ย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าที่จะขายไฟได้ราคาดีขึ้น โดยปัจจุบันสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าของไทยส่วนใหญ่ 70% มาจากภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ ส่วนที่เหลืออีก 30% เป็นภาคครัวเรือน
ด้าน บล.กรุงศรี ระบุว่า การขึ้นค่า Ft จะส่งผลดีกับโรงไฟฟ้า SPP มากที่สุด และโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม ที่มี Adder 8 บาท/KWh ทั้งนี้ หากพิจารณาจากสัดส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมคิดเป็น 18% ของรายได้รวม BGRIM และคิดเป็น 46% ของรายได้รวม GPSC ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ซึ่งจากการวิเคราะห์ Sensitivity
พบว่าการขึ้นค่า Ft ทุกๆ 0.01 บาท/KWh จะทำให้กำไรสุทธิของ BGRIM เพิ่มขึ้น 23 ล้านบาท/ปี และกำไรสุทธิของ GPSC เพิ่มขึ้น 63 ล้านบาท/ปี ส่งผลให้กำไรสุทธิ BGRIM เพิ่มเป็น 2.2 พันล้านบาท จากเดิม 1.9 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ GPSC เพิ่มเป็น 6.1 พันล้านบาท จากเดิม 5.5 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กำไรที่เพิ่มขึ้นอิงจากฝั่งรายได้เท่านั้น แต่ผลกระทบที่แท้จริงจะน้อยกว่านั้น เพราะต้นทุนก๊าซ (BGRIM, GPSC) และถ่านหิน (GPSC) สูงขึ้น ซึ่งจากการวิเคราะห์ Sensitivity พบว่าต้นทุนก๊าซที่เพิ่มขึ้น 1 บาท/ล้านบีทียู จะทำให้กำไรสุทธิของ BGRIM ลดลง 18 ล้านบาท และของ GPSC ลดลง 30 ล้านบาท
บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ค่า Ft ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 สตางค์ ส่งผลให้กำไรของ GPSC เพิ่มขึ้น 60 ล้านบาท/ปี, BGRIM เพิ่มขึ้น 21 ล้านบาท/ปี และ GULF เพิ่มขึ้น 30 ล้านบาท/ปี แต่ขณะเดียวกันราคาก๊าซที่เพิ่มขึ้นทุก 1 บาท/ล้านบีทียู ทำให้กำไรของ GPSC ลดลง 30 ล้านบาท/ปี, BGRIM ลดลง 17 ล้านบาท/ปี และ GULF ลดลง 12 ล้านบาท/ปี
ด้านบล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มองว่า การแยกคิดค่าไฟฟ้าเป็น 2 กลุ่ม เป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มโรงไฟฟ้ามากขึ้นกว่าเดิม เพราะต้องปรับค่า Ft มากกว่าที่คาดการณ์ (1.5 บาท/หน่วย) เพื่อชดเชยในส่วนของบ้านอยู่อาศัยซึ่งใช้ไฟฟ้าเป็นสัดส่วนราว 25% ทำให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า SPP ทั้ง BGRIM และ GPSC สามารถปรับขึ้นค่าไฟฟ้าได้สูงกว่าเดิม ทำให้มาร์จิ้นจากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีหน้าจากต้นทุนก๊าซที่ทรงตัวและทำให้กำไรเติบโตสูงมากจากฐานต่ำในปีนี้ และระดับกำไรจะกลับไปใกล้เคียงช่วงปี 2563 ซึ่งเป็นจุดที่กำไรพีคที่สุด
นอกจากนั้น GPSC ยังมีประเด็นบวกเพิ่มเติมในการรุกธุรกิจแบตเตอรี่จาก “Nuovo Plus” (บริษัทร่วม ทุนกับ PTT) ด้วยกำลังผลิตเริ่มต้น 1,000 MWh ภายในไตรมาส 4 ปี 2566 และเพิ่มเป็น 2,000 MWh ภายในปี 2568