ภาษีซื้อขายหุ้น : ร้อนแรงจนเถียงกันไม่จบ
ประเด็นเรื่องการเก็บภาษีหุ้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาตลอดตั้งแต่กระทรวงการคลังประกาศเรื่องนี้มาตอนต้นปี จนกระทั่ง ครม. ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาแล้ว และคาดว่าจะบังคับใช้ต้นปีหน้าเลย
ใครที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของผมจะทราบดีว่า ผมสนับสนุนแนวคิดเรื่องนี้มาแต่ไหนแต่ไร และได้แสดงความเห็นผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของผมมาตลอด
จนกระทั่งเมื่อวันก่อนทาง สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) ได้จัดสัมมนาเรื่องนี้ขึ้นเลยมีคนถามมาอีกครั้งว่า อยากเปลี่ยนจุดยืนไหม ก็ต้องบอกว่าไม่ครับ และเลยอยากเสนอมุมมองของผมอีกครั้ง
เมื่อวาระบังคับใช้ภาษีหุ้นตัวนี้ใกล้เข้ามา เราจะเห็นบรรดาผู้ที่อยู่ในตลาดทุนไทยร่วมกันให้ข้อมูล และยกตัวเลขต่างๆ มาสร้างเป็นวาทกรรมที่สร้างความวิตก กังวลกับหลายๆ ฝ่าย
ไม่ว่าจะเป็น การบอกว่า “จะได้ไม่คุ้มเสีย เก็บภาษีหุ้นได้ไม่ถึงหนึ่งหมื่นล้านบาทแน่ๆ” หรือจะเป็น “ถ้าต้นทุนเพิ่มนักลงทุนต่างชาติหนีแน่นอน สภาพคล่องตรงนี้หายไปเกือบทั้งหมด”
หรือจะเป็น “กระทบธุรกิจที่จะเข้ามาระดมทุน อาจทำได้ไม่ดีเท่าเดิมเพราะสภาพคล่องหาย” และที่วาดภาพได้น่ากลัวมากๆ คือ “จะทำให้ตลาดทุนไทยถอยหลังกลับไป 10 ปี”
ความเห็นทั้งหลายมักจะอ้างอิงถึงตลาดหลักทรัพย์เพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ที่บอกว่าของเค้ายังไม่มีเก็บภาษีตัวดังกล่าวเลย ถ้าเริ่มเก็บจะทำให้ตลาดทุนไทยถดถอยสู้เค้าไม่ได้ เงินทุนไหลไปที่นั่นหมด
ซึ่งต้องบอกว่าลองมาดูโครงสร้างตัวเลขกันให้ชัดๆ สักนิดจะดีไหม
ของไทยเราบอกว่า ปีแรกนั้นจะมีการจัดเก็บภาษีหุ้นในอัตรา 0.055% (รวมภาษีท้องถิ่นแล้ว) ส่วนปีถัดไปจะเริ่มเก็บในอัตรา 0.11% (รวมภาษีท้องถิ่นแล้ว)
ทั้งนี้เ มื่อนำภาษีหุ้นมารวมกับค่าธรรมเนียมต่างๆ ในปัจจุบัน ผู้ซื้อขายหุ้นจะเสียภาษีขายรวมค่าธรรมเนียม ปีแรกในอัตรา เพียงแค่ 0.195% ส่วนปีถัดไปในอัตรา 0.22%
แล้วลองมาดูตัวเลขอย่างสิงคโปร์ที่มักจะถูกยกมาอ้างอิงนั้น ค่าธรรมเนียมรวมเสียที่ 0.20% แต่ดูโครงสร้างอย่างละเอียดจะเห็นว่า ค่าธรรมเนียมของโบรคเกอร์เก็บ 0.14% ในขณะที่เราเก็บ 0.15% ซึ่งสูงกว่าเขานะครับ
สิงคโปร์เองมีค่าธรรมเนียมอื่นๆ 0.04% ในขณะที่ของเรามีแค่ 0.01%
ดังนั้น แม้เราจะเพิ่มอัตราภาษีขายหุ้นเข้าไปเต็มแม็ก 0.11% สุดท้ายตัวเลขก็ไม่ได้ต่างกับเขามากขนาดนั้น
ผมก็จะบอกว่าอย่าเปรียบเทียบกับสิงคโปร์อย่างเดียว มันสามารถมีอคติได้ ลองดูมาเลเซียบ้าง ตอนนี้ค่าธรรมเนียมรวมภาษีจะโดนอยู่ที่ 0.29% หรือฮ่องกงจัดเก็บในอัตรา 0.38%
จะได้เห็นภาพที่กว้างขึ้นครับว่า ตัวเลขของไทยไม่ได้สูงก้าวกระโดดจนน่ากลัวอย่างที่คิดกัน
นอกจากนี้ วาทกรรมที่บอกว่า “ภาษีหุ้นเป็นเรื่องที่เราต้องคิดถึงประโยชน์โดยรวมของประเทศ ว่ามีมากน้อยเท่าใด”
อันนี้ผมไม่แน่ใจว่าเราจะสามารถชูเรื่องผลกระทบของตลาดทุนเป็นเรื่อง “ผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ” ได้ขนาดนั้นเชียวหรือ
ผมคิดว่ายังมีมิติอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องสภาพคล่องของตลาดทุนที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำ
อย่าลืมนะครับว่าการเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นี้ได้รับการยกเว้นมากกว่าหลายสิบปี เป็นเรื่องที่ควรทำเพื่อสร้างความเป็นธรรมกับการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย เพราะมีกฎหมายไว้แล้วแต่ได้รับการยกเว้น
มองไปรอบๆ ตัว ทุกธุรกิจที่เกิดการทำธุรกรรมนั้นจะถูกจัดเก็บภาษี แล้วทำไมธุรกรรมการขายหุ้นจึงจะไม่ถูกจัดเก็บ เพราะมันคือความเป็นธรรมที่ต้องมีสำหรับทุกภาคเศรษฐกิจครับ
ในด้านของความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่งนั้น หลักการชัดเจนว่าถ้าหากรายได้ส่วนใหญ่ของเศรษฐีมาจาก ทุน หรือ ความมั่งคั่ง ในขณะที่รายได้ของชนชั้นกลางและชั้นล่างมาจากค่าแรงเป็นหลัก
และหากผลตอบแทนจากทุนสูงกว่าค่าแรงที่ล้อไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่มีทางเลยที่เราจะลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำได้ ดังนั้น การเก็บภาษีหุ้นจึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะในการลดช่องว่างดังกล่าว
อย่าไปมองถึงเรื่องการเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้นเลยครับ เพราะการสร้างระบบที่จะบันทึกและหักลบผลกำไรขาดทุนอย่างเที่ยงตรง ต้องใช้เงินลงทุนอีกเยอะและไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น ทางเลือกที่เหมาะสมรองลงมาก็คือการเก็บภาษีซื้อขายหุ้นตรงๆ นี่แหละครับ
ถึงจะถามอีกสักกี่ครั้ง ผมก็ยังเชื่อว่าการจัดเก็บรายได้ใหม่ๆ กับผู้มีความมั่งคั่ง อย่างเช่นภาษีซื้อขายหุ้นหรือการเพิ่มจัดเก็บภาษีมรดก จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยครับ.