หุ้นกู้ ‘ALL’ จ่อครบดีลอื้อ - โบรกเกอร์ชี้น่าห่วง

หุ้นกู้  ‘ALL’  จ่อครบดีลอื้อ - โบรกเกอร์ชี้น่าห่วง

วงการอสังหาฯ ระส่ำหลัง ‘ออลล์ อินสไปร์ ’ เบี้ยวจ่ายหนี้ดอกเบี้ยหุ้นกู้ 10 ล้านบาท จากปัญหาสภาพคล่อง ขณะ ‘ไทยบีเอ็มเอ’ ชี้ ‘ออลล์’ ยังมีหุ้นกู้รอครบกำหนดปีนี้อีก 1.2 พันล้าน เชื่อไม่ลาม แต่ต้องจับตาหุ้นกู้ไฮยีลด์กลุ่มอสังหาฯ - ท่องเที่ยว เหตุโดนผลกระทบหนักจากโควิด

เรียกได้ว่าสร้างความระส่ำระสายในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ขึ้นมาทันที หลังจากที่ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ไม่สามารถชำระหนี้ดอกเบี้ยหุ้นกู้รุ่น ALL244A ที่ครบกำหนดชำระดอกเบี้ยงวดที่ 5 ในวันที่ 3 ม.ค.2566 จำนวน 10.65 ล้านบาท จึงเป็นเหตุให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้(ดีฟอลท์) ขึ้นมาทันที

สำหรับ(ALL244A) มีมูลค่ารวมทั้งหมด 709.90 ล้านบาท ออกเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2564  ครบกำหนดไถ่ถอน 1 เม.ย.2567  ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาเหตุของการผิดนัดชำระดอกเบี้ย เนื่องจากบริษัทขาดสภาพคล่อง กระแสเงินสดหมุนเวียนไม่เพียงพอ  

นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ทาง ALL ได้ทำหนังสือแจ้งมายังสมาคมฯ เรียบร้อยแล้วว่า เหตุการผิดนัดชำระหนี้ดอกเบี้ยหุ้นกู้ดังกล่าวในวันที่ 3 ม.ค. ที่ผ่านมา สาเหตุของปัญหามาจากบริษัทขาดสภาพคล่องเป็นหลัก  

โดยขั้นตอนต่อไปหลังจากนี้ จะมีตัวแทนของผู้ถือหุ้นกู้ดังกล่าว มาดำเนินการจัดเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ว่าจะตัดสินใจดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไปอย่างไร  เนื่องจากมูลค่าการผิดนัดชำระดอกเบี้ยของหุ้นดังกล่าว  ปัจจุบันยังเกิดขึ้นเพียง 10 กว่าล้านบาท   

"ทางสมาคมฯ ต้องรอผลการดำเนินการหลังจากนี้ที่ชัดเจนก่อน เพราะหากมีมูลค่าการผิดนัดชำระหนี้เกิน 400 ล้านบาทขึ้นไป ถึงจะเข้าเข้าเกณฑ์ข้อกำหนดสิทธิหุ้นกู้ ที่ระบุว่า ถ้ามีขนาดของการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ถ้าเกิน 400 ล้านบาทขึ้นไป จะส่งผลกระทบยังหุ้นกู้ตัวอื่นผิดนัดชำระหนี้ตามไปด้วย"     

ส่วนทางด้านผลกระทบของหุ้นกู้ ALL ที่ผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าว  ปัจจุบันมองว่ายังไม่ได้ส่งผลกระทบมาก เพราะเสนอขายในวงจำกัดให้กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ หรือ High Net Worth (HNW) เท่านั้น 

สำหรับการออกหุ้นกู้ ALL  ปี 2565  เดือนต.ค. มียืดอายุ 1 รุ่น มูลค่า 80.7 ล้านบาท ยืดอายุไป 1 ปี จนถึงปัจจุบัน All มีผิดนัด​ชำระ 1 รุ่นคือ​ ​ ALL244A  มูลค่า​ 709.90 ลบ.​(เป็นคนละรุ่นกับที่ยืดหนี้ปีก่อน) และปัจจุบัน​ มีมูลค่าคงค้างจำนวน​ 7 รุ่น​ มูลค่ารวม​ 2,334 ล้านบาท (รวมรุ่นที่ผิดนัดชำระ ALL244A) โดยในปีนี้จะมีครบกำหนด​ 4 รุ่นรวมมูลค่า​ 1,205 ล้านบาท 

นายสมจินต์ กล่าวว่า  หุ้นกู้ไฮยีลด์ เซ็กเตอร์เสี่ยงต้องจับตา  ได้แก่  กลุ่มอสังหาริมทรัพย์  และท่องเที่ยว   โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาฯ มีสัดส่วน 50% ของหุ้นกู้ไฮยีลด์  ส่วนโรงแรมมีสัดส่วนไม่มาก เนื่องจากทั้ง 2 เซ็กเตอร์ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และธุรกิจเริ่มฟื้นตัว ซึ่งการฟื้นตัวของธุรกิจ ขึ้นกับสถานการณ์ของแต่บริษัทนั้นๆ

ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ เปิดเผยมูลค่าหุ้นกู้คงค้างที่มีปัญหาทั้งระบบ ณ 30 ธ.ค.2565 มีมูลค่ารวม 89,221 ล้านบาท แบ่งเป็น1.เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูมูลค่า 71,608 ล้านบาท (การบินไทย )2.ปรับโครงสร้างยืดอายุ มูลค่า 14,273 ล้านบาท (16 ราย เช่น JCK(3,480), CGD(3,281), PHUKET(1,769), DR(1,210), IRIS(1,160)) และ3.ผิดนัดชำระหนี้ 3,340 ล้านบาท ( 2 ราย ได้แก่ ACAP(2,575), APEX (765) อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขปัญหา) 

ธปท.มั่นใจดอกเบี้ยขึ้นไม่เกี่ยวเบี้ยวหนี้

นางสาวพิมพ์พันธ์ เจริญขวัญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า การปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ที่ผ่านมา ไม่น่าจะมีผล ทำให้บริษัทเอกชน มีการผิดนัดชำระหนี้ดอกเบี้ยหุ้นกู้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ มีการกำหนดไว้ตั้งแต่เริ่มต้น หรือมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ ตั้งแต่เริ่มขาย ไม่ใช่ดอกเบี้ยลอยตัว ทำให้ไม่เป็นภาระดอกเบี้ยของผู้ประกอบการ แม้ กนง.มีการปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น จึงเชื่อว่า การผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ น่าจะมาจากปัญหาสภาพคล่องภายในบริษัท ซึ่งไม่ได้กระทบเป็นวงกว้าง

“โดยรวมไม่น่าจะเกี่ยวกับ ดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น เพราะดอกเบี้ยมีการกำหนดจ่ายไว้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ดังนั้นแม้กนง.ปรับดอกเบี้ยขึ้น ภาระดอกเบี้ยหุ้นกู้ต่างๆ จะยังคงไม่ปรับขึ้น”

เตือนอสังหาฯ นอกเมืองฟื้นตัวช้า

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า การผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้บางบริษัท ไม่น่ากระทบต่อภาพรวมของตลาดหุ้นกู้เป็นวงกว้าง เพราะน่าจะมาจากปัญหารายบริษัทนั้นๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าว เป็นกรณีที่น่าศึกษา โดยเฉพาะในภาคอสังหาฯ ที่เสี่ยงฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะอสังหาฯ นอกเมือง ที่เน้นเจาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่น่าจะฟื้นตัวช้ากว่ากลุ่ม รายได้ระดับกลาง-บน ที่ได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจแล้ว ซึ่งอาจต้องรอถึงครึ่งปีหลังที่จะเริ่มเห็นเม็ดเงินกระจายตัวสู่ภาคธุรกิจ เอสเอ็มอีต่างๆ อีกทั้งผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น มีผลกระทบกับกลุ่มเปราะบาง มากกว่ากลุ่มอื่นๆ

สำหรับการผิดนัดชำระหนี้ของหุ้น ALL ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการที่บริษัทไม่สามารถเพิ่มทุนได้สำเร็จ เนื่องจากได้ยกเลิกการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด(PP) ไปในช่วงก่อนหน้านี้(19 ธ.ค.2565) โดยเดิมจะขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับ นายฉัตรเฉลิม เฉลิมชัยวัฒน์ จำนวน 78.12 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 0.32 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 25 ล้านบาท

สาเหตุที่ต้องยกเลิกการขายหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าว เนื่องจากราคาเสนอขายที่ 0.32 บาทต่อหุ้น ต่ำกว่ามูลค่าที่ตราไว้(พาร์) ที่ 0.50 บาท ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติบริษัท มหาชน จำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 52 ว่าด้วยกรณีที่บริษัทจะต้องมีการขาดทุนสะสม และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น จึงจะเสนอขายหุ้นต่ำกว่ามูลค่าหุ้นที่จดทะเบียนได้ส่งผลให้ALLขาดสภาพคล่อง จนต้องผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ เป็นบริษัทแรกของปี 2566

โบรกเกอร์ชี้ธุรกิจ ALL น่าห่วง

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ ALL ถือว่าน่ากังวลมาก สะท้อนว่า ALL ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง เพราะดอกเบี้ยหุ้นกู้แค่ 10.65 ล้านบาท ยังไม่สามารถนำเงินมาจ่ายได้ รวมถึง ALL มีหนี้ระยะยาวที่ครบกำหนดชำระภายใน 1 ปี จำนวน 1,876 ล้านบาท(ซึ่งข้อมูล ณ 30 ก.ย. 2565) ก็จะยิ่งไม่สามารถชำระได้เลย เพราะหากดูแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ชำระคืนหนี้ได้นั้นมี 3 แหล่ง คือ เงินสดของบริษัท,ธุรกิจของบริษัทดีหรือไม่ ซึ่งถ้าธุรกิจดีก็จะมีเงินสดเข้ามา และสุดท้ายคือ การเพิ่มทุน

ทั้งนี้หากดูจากสถานการณ์ของ ALL แล้วไม่สามารถที่จะนำเงินจาก 3 แหล่งดังกล่าวมาใช้ชำระหนี้ได้เลย เพราะเงินสะสมไม่มี ,กระแสเงินสดน้อย ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา(2562-2564) ALL มีสินค้าคงเหลือสูงถือระดับ4,000 ล้านบาท สามารถสะท้อนว่ามีโครงการที่ขายไม่หมด และมีโครงสร้างอยู่ระหว่างพัฒนาจำนวนมาก และราคาหุ้นที่ลงมากขึ้น ทำให้เงินที่จะได้จากการเพิ่มทุนมีน้อย

“ผลดำเนินงาน 9 เดือนปี 2565 ของ ALL ปรับตัวลดลงมาก และมีผลขาดทุนอิบิดาติดลบถึง100 ล้านบาท จากปี 2564 อยู่ที่ 80 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนว่าบริษัทไม่มีกระแสเงินสดจากการดำเนินเข้ามา โดยจะเป็นปัญหากับ ALL มากๆ เพราะบริษัทอสังหาฯ โตได้จากการกู้เงินมาพัฒนาโครงการ ซึ่งเมื่อเขามีปัญหาเรื่องนี้ ก็จะทำให้กู้เงินได้ยาก ทำให้ขนาดของบริษัทเล็กลง”

นายกิจพณ กล่าวว่า ALL มีหุ้นกู้จำนวน 7 รุ่น มูลค่ารวม 2,334.20 ล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดในปี 2566 จำนวน 4 รุ่น มูลค่า 1,200 ล้านบาท ในปีนี้ ซึ่งการจัดหาเงินเพื่อนำมาชำระหุ้นกู้ดังกล่าวอาจจะทำไม่สำเร็จ เพราะอาจจะกู้ยากขึ้นจากที่มีปัญหาการชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ ซึ่งหากกู้ได้ดอกเบี้ยก็สูงรวมถึงต้องวางหลักประกันด้วย และหากจะมีการออกหุ้นกู้อีกอาจจะขายยากแล้ว เพราะนักลงทุนอาจไม่เชื่อมั่น ไม่กล้าซื้อ หรือถ้าซื้อต้องการดอกเบี้ยที่สูง ซึ่งถ้าจะออกขายอีกเชื่อว่าควรจะออกเสนอขายนานแล้ว เพราะ ครั้งล่าสุดที่ ALL ขายหุ้นกู้ก็เดือนก.พ.2565

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์