ดาวโจนส์ร้อนแรง พุ่ง 700 จุด คาดเฟดชะลอขึ้นดบ. หลังเงินเฟ้อแผ่ว

ดาวโจนส์ร้อนแรง พุ่ง 700 จุด คาดเฟดชะลอขึ้นดบ. หลังเงินเฟ้อแผ่ว

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันศุกร์(6ม.ค.)ทะยาน 700 จุด ขานรับรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตร รวมทั้งดัชนีภาคบริการของสหรัฐ ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ บวก 700.53 จุด หรือ 2.13% ปิดที่  33,630.61

ดัชนีเอสแอนด์พี 500  ปรับตัวขึ้น 86.98 จุด หรือ 2.28% ปิดที่ 3,895.08 จุด

ดัชนีแนสแด็ก ปรับตัวขึ้น 2.6% หรือบวก 264.05 ปิดที่ 10,569.29 จุด

ทั้งนี้ สหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสูงกว่าคาดในวันนี้ แต่ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน ซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณเกี่ยวกับเงินเฟ้อ ได้ออกมาต่ำกว่าคาด บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว ซึ่งจะเป็นปัจจัยชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ขณะเดียวกัน สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐหดตัวครั้งแรกรอบกว่า 2 ปี ซึ่งเป็นสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดได้ช่วยลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐ

นอกจากนี้ ISM เปิดเผยว่า ดัชนีราคาในภาคบริการร่วงลงสู่ระดับ 67.6 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2564 ซึ่งบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเงินเฟ้อ

นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นการประชุมนโยบายการเงินนัดแรกของเฟดในปีนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยรายงานจ้างงานนอกภาคเกษตรและดัชนีภาคบริการในวันนี้

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 77.2% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. และให้น้ำหนักเพียง 22.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50%

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 223,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ตำแหน่ง
 ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.5% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.7%

กระทรวงแรงงานสหรัฐ ยังได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนพ.ย. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 256,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 263,000 ตำแหน่ง

ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน โดยชะลอตัวจากระดับ 0.6% ในเดือนพ.ย. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.4%

เมื่อเทียบรายปี ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือนธ.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.0%

ส่วน ISM เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 49.6 ในเดือนธ.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 55.0 จากระดับ 56.5 ในเดือนพ.ย.

ดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้การหดตัวของภาคบริการ โดยเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2563

ดัชนีภาคบริการของสหรัฐได้รับผลกระทบจากการดิ่งลงของการจ้างงานและคำสั่งซื้อใหม่

ส่วนดัชนีราคาในภาคบริการร่วงลงสู่ระดับ 67.6 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2564 และบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ดัชนีภาคบริการของ ISM ประกอบด้วยอุตสาหกรรม 17 กลุ่ม ซึ่งรวมถึงอสังหาริมทรัพย์ การขนส่ง การก่อสร้าง และเหมืองแร่