‘มัสก์’ ขึ้นศาล ปัดทวิตหลอกนักลงทุน ย้ำมีกลุ่มทุนซาอุดีอาระเบีย ขอซื้อหุ้น Tesla จริง
อีลอน มัสก์ ชี้ปี 2561 มีนักลงทุนชาวซาอุฯ ต้องการสนับสนุนซื้อกิจการเทสล่าในอัตรา 420 ดอลลาร์ต่อหุ้นจริง แต่สุดท้ายกลุ่มนักลงทุนเปลี่ยนใจ ทั้งนี้ ส่วนตัวตั้งใจขายหุ้นสเปซเอ็กซ์เพื่อช่วยซื้อกิจการ ด้านทนายความผู้เสียหายจากข่าวดังกล่าวชี้บันทึกการประชุมชี้ไปคนละทาง
Key Points:
- อีลอน มัสก์ ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 61 ว่ามีนักลงทุนชาวซาอุดีอาระเบีย ต้องการสนับสนุนการซื้อบริษัทเทสล่าด้วยอัตรา 420 ดอลลาร์ต่อหุ้น แต่สุดท้ายดีลดังกล่าวไม่เกิดขึ้นจริง จนทำให้นักลงทุนจำนวนหนึ่งสูญเงินหลายล้านดอลลาร์เพียงเพราะทวีตดังกล่าว
- มัสก์ ระบุว่าเขาไม่ได้มีเจตนาหลอกนักลงทุน ในความเป็นจริงมีการพูดคุยกับนักลงทุนกลุ่มดังกล่าวจริง แต่สุดท้ายเขาตัดสินใจไม่สนับสนุนการซื้อกิจการ
- นิโคลัส ปอร์ริตต์ ทนายความของกลุ่มนักลงทุนที่ได้รับความเสียหายระบุว่า คำกล่าวอ้างของมัสก์ขัดกับรายงานการประชุมในครั้งนั้น ที่แสดงออกอย่างชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรว่ากลุ่มนักลงทุนชาวซาอุดีอาระเบีย ยังต้องการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการลงทุน
จากกรณีที่อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ทวีตข้อความเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 61 ว่า “เขามีเงินทุนสำหรับซื้อบริษัท เทสล่า มอเตอร์ส (TSLA) ในอัตรา 420 ดอลลาร์ต่อหุ้น และได้รับการยืนยันจากนักลงทุนเรียบร้อยแล้ว” ทว่าสุดท้ายดีลดังกล่าวกลับไม่เกิดขึ้น และมีนักลงทุนจำนวนหนึ่งสูญเงินหลายล้านดอลลาร์จากการทวีตครั้งนั้น
วันนี้ (24 ม.ค.66) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานถ้อยแถลงของอีลอน มัสก์ ต่อขณะลูกขุนว่า ย้อนไปเมื่อปี 2561 เขามั่นใจว่าจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากนักลงทุนชาวซาอุดีอาระเบียเพื่อซื้อบริษัทเทสล่าจริง รวมทั้งอาจใช้หุ้นของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ของเขาเพื่อเป็นทุนร่วมในการเข้าซื้อกิจการ (Buyout) ด้วย
“แต่จริงๆ แล้วเพียงแค่หุ้นของบริษัทสเปซเอ็กซ์อย่างเดียวก็สามารถซื้อบริษัทเทสล่าได้ทั้งหมด แต่ที่ผมยังไม่ทำก็เพราะขาดการสนับสนุนจากกลุ่มนักลงทุน ประกอบกับกระบวนการที่ยืดยาว”
ทั้งนี้ อีลอน มัสก์ ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าเขาหลอกลงทุนจากการทวีตข้อความในทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2561 เพราะในตอนนั้นเขามั่นใจอย่างแท้จริงว่าจะได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนชาวซาอุดีอาระเบีย โดยหุ้นของบริษัทเทสล่าพุ่งสูงขึ้นอย่างร้อนแรงหลังจากอีลอน มัสก์ ทวีตข้อความดังกล่าว จากนั้นจึงเริ่มย่อตัวลงหลังจากตลาดเห็นว่าการซื้อกิจการไม่เกิดขึ้นจริง
อีลอน มัสก์ กล่าวต่อ นิโคลัส ปอร์ริตต์ (Nicholas Porritt) ทนายความของกลุ่มนักลงทุนที่ได้รับความเสียหายว่า ในวันที่ 31 ก.ค. 2561 เขาได้พบกับตัวแทนของกองทุนความมั่งคั่งแห่งซาอุดีอาระเบีย ชื่อว่า The Public Investment Fund จริง โดยการพบกันครั้งนั้นเกิดขึ้นที่โรงงานของเทสล่าที่ แคลิฟอร์เนีย “ซึ่งการเจรจาครั้งนั้นยังไม่มีการกล่าวถึงราคาซื้อกิจการ (takeover price) ทว่าตัวแทนจากซาอุดีอาระเบีย แสดงออกอย่างชัดเจนว่าต้องการให้เกิดการบายเอาท์จริง”
อย่างไรก็ตาม อีลอน มัสก์ กล่าวว่า สุดท้ายดีลครั้งนั้นไม่เกิดขึ้นเนื่องจาก ยาเซอ อัล-รูเมย์ยาน (Yasir Al-Rumayyan) ผู้จัดการกองทุนตัดสินใจยกเลิกการซื้อกิจการดังกล่าว
“ผมอารมณ์เสียอย่างมากหลังจากรู้ข่าว เพราะในตอนแรกพวกเขาดูจริงจังว่าต้องการสนับสนุน เทสล่าแต่สุดท้ายพวกเขากลับเปลี่ยนใจ”
ทั้งนี้ ทนายความของ ยาเซอ อัล-รูเมย์ยาน ยังไม่ตอบรับในการให้การชั้นศาล
นิโคลัส ปอร์ริตต์ กล่าวต่อศาลในเวลาต่อมาว่า หลักฐานแบบลายลักษณ์อักษร หนึ่งในนั้นคือ รายงานการประชุมระหว่างอีลอน มัสก์กับกลุ่มนักลงทุนชาวซาอุดีอาระเบีย ที่ยื่นต่อศาลไม่สนับสนุนคํากล่าวอ้างของมัสก์ เพราะรายงานการประชุมดังกล่าวมีนัยว่ากลุ่มนักลงทุนต้องการพิจารณารายละเอียด และทัศนคติของอีลอน มัสก์เพิ่มเติม ก่อนการตัดสินใจลงทุน
อีลอน มัสก์ ให้การต่อว่า ในตอนนั้นเขามีความตั้งใจจะขายหุ้นของบริษัทสเปซเอ็กซ์เพื่อช่วยเป็นเงินทุนในการซื้อบริษัทเทสล่า เหมือนกับที่เขาขายหุ้น บริษัทเทสล่าเพื่อเข้าซื้อทวิตเตอร์เมื่อปีที่แล้ว
ด้าน เอ็ดเวิร์ด เฉิน (Edward Chen) ผู้พิพากษาชาวสหรัฐ ตัดสินเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วว่า ทวีตของอีลอน มัสก์ ไม่น่าเชื่อถือ และขาดความรับผิดชอบ
ทั้งนี้ สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สหรัฐ (SEC) ฟ้องอีลอน มัสก์เกี่ยวกับทวีตดังกล่าวเช่นเดียวกัน จนท้ายที่สุดมัสก์ และเทสล่ายอมจ่ายเงิน 40 ล้านดอลลาร์ เพื่อยุติคดี รวมทั้งข้อกำหนดให้ทนายความของบริษัทเทสล่าคัดกรองข้อความของอีลอน มัสก์ ทุกครั้งก่อนทวีตถึงบริษัท
อย่างไรก็ตาม มัสก์ ทิ้งท้ายว่า “ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นประชาธิปไตยอย่างมาก ดังนั้นไม่ใช่ทุกคนที่จะเชื่อทุกข้อความที่ผมทวีต”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์