‘ฮินเดนเบิร์ก’ ปะทะ ‘อดานิ’ ศึกชอร์ตหุ้นบริษัทของคนที่รวยที่สุดในเอเชีย

‘ฮินเดนเบิร์ก’ ปะทะ ‘อดานิ’ ศึกชอร์ตหุ้นบริษัทของคนที่รวยที่สุดในเอเชีย

ฮินเดนเบิร์ก รีเสิร์ช ขายชอร์ตหุ้นบริษัทในเครืออดานิ กรุ๊ป เพื่อยืนยันสมมติฐานว่ามีการทุจริตภายในบริษัท ทำให้มูลค่าบริษัทในเครือลดลง 1.2 พันล้าน นักวิเคราะห์ ชี้ ฮินเดนเบิร์ก เสียเปรียบในการต่อสู่ครั้งนี้ ทว่าแอนเดอร์สัน ผู้ก่อตั้งบริษัทชี้ มีงานอีกมากรอให้ทำ

Key Points:

1.บริษัทฮินเดนเบิร์ก รีเสิร์ช ขายชอร์ตหุ้นของบริษัทในเครืออดานิ กรุ๊ป เพื่อยืนยันสมมติฐานว่า โกตัม อดานิ เจ้าของบริษัทในเครืออดานิ กรุ๊ป กระทำการทุจริตโดยการใช้เงินของบริษัท

2. นักวิเคราะห์หลายฝ่ายยังคงตั้งคำถามกับอำนาจการต่อรองของแอนเดอร์สัน ที่อาจมีน้อยกว่าโกตัม รวมทั้งสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างโกตัม กับ นเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย ทำให้ท้ายที่สุดภารกิจของแอนเดอร์สันอาจไม่สำเร็จ

3. อย่างไรก็ตาม แม้โอกาสในการต่อสู้ครั้งนี้จะมีไม่มาก แต่แอนเดอร์สัน เคยกล่าวกับสำนักข่าวเดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ในบริบทคล้ายกันว่า “ยังมีงานการฉ้อฉลอีกมากที่รอให้เขาไปตรวจสอบ”

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ชื่อของ ‘นาธาน แอนเดอร์สัน’ เป็นที่พูดถึงในหมู่นักวิเคราะห์ทางการเงิน และเป็นชื่อที่ทำให้ราคาหุ้นจำนวนมากดิ่งลงเหว ซึ่งขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านการขายชอร์ตหุ้นจากบริษัทฮินเดนเบิร์ก ผู้นี้กำลังคิดการใหญ่ด้วยการขายชอร์ตหุ้นกลุ่มบริษัทในเครืออดานิ ของ โกตัม อดานิ มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในเอเชีย จนทำให้มูลค่าตลาดของกลุ่มบริษัทดังกล่าวร่วงลงไปถึง 1,200 ล้านดอลลาร์

บริษัท ฮินเดนเบิร์ก รีเสิร์ช ระบุในรายงานซึ่งเผยแพร่ในวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า โกตัมมีกลุ่มธุรกิจที่ใช้เพื่อหลบเลี่ยงภาษี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจในหมู่เกาะแคริบเบียน ในประเทศมอริเชียส บริเวณแอฟริกาตะวันออก หรือในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยเขามักใช้กลุ่มธุรกิจในสถานที่เหล่านี้ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการทุจริต ฟอกเงิน ทุจริตทางภาษี ผ่านการรับเงินจากกลุ่มบริษัทจดทะเบียนในเครืออดานิ กรุ๊ป

ด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า โกตัมเป็นมหาเศรษฐีที่รวยมากกว่า บิลล์ เกตส์ นักธุรกิจชาวอเมริกัน และหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ รวมทั้งรวยกว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักธุรกิจ และนักลงทุนชาวอเมริกัน ด้วยความมั่งคั่งสุทธิ 1.134 แสนล้านบาท

เมื่อไม่นานมานี้ ฮินเดนเบิร์ก รีเสิร์ช ผู้เชี่ยวชาญด้านการขายชอร์ตหุ้นเพื่อตรวจสอบการทุจริตในองค์กร เคยใช้วิธีซื้อหุ้นในลักษณะเดียวกันเพื่อตรวจสอบการทุจริตของบริษัทนิโคลา คอร์ป สตาร์ตอัปดาวรุ่งที่ประกาศตัวจะผลิตรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า และพลังงานไฮโดรเจนได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม คำถามที่น่าติดตามต่อไปคือ “นักลงทุนจะเชื่อคำกล่าวอ้างของแอนเดอร์สันที่มีต่อ โกตัม มหาเศรษฐีชาวอินเดียที่รวยแบบขัดแย้งกับสภาพเศรษฐกิจในประเทศหรือไม่”

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ย้ำว่า เป็นเรื่องที่น่าลำบากใจหากต้องชี้ว่าการต่อสู้ระหว่างแอนเดอร์สัน และโกตัมครั้งนี้ไม่เท่าเทียมเพียงใด ทางฝั่งโกตัม ใช้เวลากว่า 4 ทศวรรษในการสร้างอาณาจักรธุรกิจที่ครอบคลุมถึงด้านพลังงาน ด้านเกษตร ด้านอสังหาริมทรัพย์ และด้านการสู้รบ อีกทั้งมีข้อมูลว่าโกตัมมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ นเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย

ที่น่าสนใจคือ ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า ความทะเยอทะยานและความต้องการของโกตัมนั้นสอดคล้องไปกับสิ่งที่ นเรนทระ โมที ให้ความสำคัญ กลับกัน ฮินเดนเบิร์ก ก่อตั้งมาไม่ถึง 5 ปี และใช้เงินทุนอันน้อยนิดของตัวเองในการซื้อขายในตลาดหุ้น และแอนเดอร์สันก็ไม่ใช่บุคคลที่ ‘บิ๊กเนม’ มากเมื่อเทียบกับนักวิเคราะห์ทางการเงินรายอื่น

ทว่าท่ามกลางความกังวลดังกล่าวก็ยังมีความหวัง นักวิเคราะห์จากสำนักข่าวบลูมเบิร์กให้ข้อมูลว่า ในปี 2563 บริษัทฮินเดนเบิร์กตั้งเป้าหมายการชอร์ตหุ้นบริษัทเป้าหมายราว 30 บริษัท หลังจากกระบวนการขายชอร์ตหุ้นดังกล่าวสำเร็จ ในวันถัดมา หุ้นของบริษัทเหล่านั้นร่วงลงกว่า 15% และลงต่อไปอีก 26% ในช่วง 6 เดือนให้หลัง

ทั้งนี้ แอนเดอร์ปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ในประเด็นดังกล่าว แต่บริษัทฮินเดนเบิร์กของเขายังคงตอบโต้ทุกท่าทีของกลุ่มบริษัทอดานิอย่างทันท่วงที

ท่ามกลางเสียงดังครึกโครมที่บริษัทฮินเดนเบิร์กสร้างขึ้น แอนเดอร์สันยังคงไม่ออกมาตอบคำถามใดกับสังคม

หากย้อนกลับไปในอดีต แอนเดอร์สันเติบโตขึ้นในเมืองเล็กๆ ในมลรัฐคอนเนตทิคัต ทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกา และเรียนจบด้วยดีกรีด้านธุรกิจจากมหาวิทยาลัยคอนเนตทิคัต

ต่อมา เขาใช้เวลาช่วงหนึ่งทำงานในฐานะพนักงานทางการแพทย์ พร้อมกับเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยฮีบรู ประเทศอิสราเอล หลังจากเรียนจบเขาทำงานเป็นนักวิเคราะห์ทางการเงิน ก่อนที่จะรับงานตรวจสอบดีลทางธุรกิจที่มีศักยภาพให้เหล่าเศรษฐี โดยแอนเดอร์สันเคยกล่าวว่า แพสชันของเขาคือ “ค้นหากลโกง”

ช่วงแรกของการทำงาน แอนเดอร์สันใช้เวลาจำนวนมากในการตรวจสอบ “พอนไซ สกีม” หรือ ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ผิดกฎหมายที่หลอกลวงให้ประชาชนสนใจร่วมลงทุน ผ่านการให้ผลตอบแทนจำนวนมาก จากนั้นจึงได้สร้างทีมกับ แฮร์รี มาร์โคโปลอส นักบัญชีทางนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการนำวิธีการทางบัญชีมาใช้สืบคดีและสรุปเป็นหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ทางกฎหมาย 

ทั้งนี้ มาร์โคโปลอส คือ บุคคลที่พยายามเตือนหน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐเกี่ยวกับคดีแชร์ลูกโซ่อื้อฉาวของ เบอร์นาร์ด มาดอฟฟ์ ในปี 2552 ซึ่งจากเหตุการณ์นั้น แอนเดอร์สันยกย่องมาร์โคโปลอส ว่าเป็นบุคคลต้นแบบ

ราวปี 2557 แอนเดอร์สันเริ่มยื่นคำร้องเกี่ยวกับการทุจริตภายในบริษัทต่างๆ จากผู้ร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อหวังเงินรางวัล

การแจ้งเบาะแสครั้งสำคัญของแอนเดอร์สันกับมาร์โคโปลอส คือ การตรวจสอบ “เฮดจ์ฟันด์แพลทินัมพาร์ทเนอร์” จนกระทั่งผู้บริหารกองทุนดังกล่าว 7 คนถูกตั้งข้อหาว่ากระทำการทุจริต

ปัจจุบันบริษัทฮินเดนเบิร์กมีพนักงานราว 10 คน ประกอบด้วยนักข่าวและนักวิเคราะห์ ซึ่งในบางครั้งเฮดจ์ฟันด์จำนวนหนึ่งก็ตัดสินเข้าเทรดร่วมกับบริษัทฮินเดนเบิร์กด้วย

ท้ายที่สุด สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า แม้บริษัทฮินเดนเบิร์กจะไม่สามารถเอาชนะโกตัมได้ เนื่องจากอัตราการต่อรองของมหาเศรษฐีคนดังกล่าวที่มีมากกว่า แต่แอนเดอร์สันก็ยังมีงานอีกมากมายรอให้เขาตรวจสอบ

“ในประเทศนี้ยังมีการฉ้อโกง และการทุจริตอีกเยอะให้ผมค้นหา และเมื่อใดก็ตามที่เรื่องพันนั้นหมดไป ผมจะไปปลูกมะเขือเทศ หรือไปปลูกอะไรกิน” แอนเดอร์สันให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเดอะนิวยอร์ก ไทมส์เมื่อเดือนต.ค.ปีที่ผ่านมา

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์