‘กูรู’แนะจับตาเงินเฟ้อไทย ครึ่งหลังเสี่ยงกดดันลงทุน
กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลข ‘เงินเฟ้อ’ ของไทยประจำเดือนม.ค. 2566 ที่ 5.02% ต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 5.12% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน แต่หากเทียบเป็นรายเดือนเพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือนก่อนหน้า จากผลของการปรับขึ้นราคาน้ำมัน-ค่าไฟฟ้า-ก๊าซหุงต้ม -อาหารนอกบ้าน เป็นหลัก
ขณะที่ทิศทางเงินเฟ้อไทยในเดือนก.พ. 66 คาดว่าจะ ‘ต่ำ’ กว่าระดับ 5% ภายใต้สมมุติฐานราคาน้ำมันในระดับปัจจุบัน และมีมุมมองเงินเฟ้อจะทยอยปรับตัวลงต่อเนื่องจนถึงปลายปีนี้ที่คาดเงินเฟ้อจะอยู่ในกรอบ 2-3%
อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้ายังถือว่ามี ‘ปัจจัยกดดัน’ เงินเฟ้อขยับตัวขึ้นได้ โดยเฉพาะในครึ่งปีหลัง ‘นายกรรณ หทัยศรัทธา’ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า การเปิดประเทศเปรียบเสมือนดาบสองคม แม้จะเป็นบวกจากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งบล.กสิกรไทย คาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 27.4 ล้านคนในปี 2566 และจีดีพีไทยโต 3.7% จากปีก่อน แต่เศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะมาพร้อมกับปัจจัยด้านราคาสินค้าและบริการ โดยเฉพาะจากฝั่งบริการที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน รวมไปถึง ค่าแรง, ค่าจ้างที่สูงขึ้น ทำให้ความเสี่ยงของเงินเฟ้อไทย จะอยู่ในครึ่งปีหลังของปีนี้
ทั้งนี้ หลังปัจจัยพื้นฐานจบลงเชื่อว่าเงินเฟ้อไทยมีโอกาสทรงตัวในระดับสูงที่บริเวณ 2.5-3% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า สอดรับกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงจุดยืนชัดเจนเรื่องความกังวลต่อเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ดังนั้น ตัวเลขเงินเฟ้อไทยในเดือน ม.ค. ออกมาต่ำกว่าคาดและเดือนก.พ. มีแนวโน้มต่ำลง บล.กสิกรไทย คาดว่าผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยค่อนข้างจำกัด
ดังนั้น แนะนำลงทุนหุ้น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มธนาคารอย่าง TTB, KTB ที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น รวมถึง BLA จากบอนด์ยีลด์ที่สูงขึ้นเช่นกัน และ 2.หุ้นที่มีลูกค้า, กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้มีรายได้สูง, ทนทานต่อการปรับราคาสินค้าขึ้น และ ได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศอย่าง CPN ,CRC ,BDMS ,MINT .SC ,AAI
'นายกิจพณ พรไพศาลกิจ' ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ความเสี่ยงเงินเฟ้อของไทยอยู่ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ จากอิทธิพลด้านราคาพลังงานที่ปรับลดลงเริ่มหมดไปในช่วงครึ่งปีแรกนี้ รวมถึงหากเศรษฐกิจจีนกลับมาเปิดประเทศได้เร็ว ยิ่งทำให้ราคาพลังงานขยับขึ้นได้เช่นกัน
นอกจากนี้ เศรษฐกิจหลายประเทศหากไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยในครึ่งปีหลังจะส่งผลต่อภาพรวมลงทุนทำให้เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยน้อยกว่าปีก่อนหรือชะลอตัวกว่าที่คาดไว้ได้การลงทุนจะเป็นลักษณะกระจายตัว เช่น จีน ยุโรป หรืออื่นๆ ไม่ได้มุ่งตรงมาไทยเหมือนปีก่อนตลาดหุ้นไทยเป็นที่พักปลอดภัย ดังนั้น ต้องติดตามช่วงกลางปีจะสามารถกดตัวเลขเงินเฟ้อไทยลงมาต่ำที่ระดับ 2-3% หรือไม่
แนะกลยุทธ์ลงทุนหุ้น ยังคงเป็นหุ้นที่ได้รับประโยชน์การเปิดเมือง สลับเปลี่ยนกลุ่มท่องเที่ยว มาเป็นบริโภค ค้าปลีก เช่น MAKRO BJC CPALL หากเงินเฟ้อไทยยังทรงตัวในระดับสูงแต่ชะลอตัวจากปีก่อน โอกาสขึ้นดอกเบี้ยนโยบายน้อยลง คนมีเงินเหลือจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และนักท่องเที่ยวจีนกลับมาบริโภคในไทย รวมถึงหุ้นโรงภาพยนตร์ เช่น MAJOR เปิดเมืองช่วยธุรกิจฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ
'นายณัฐพล คำถาเครือ' ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจัยเดียวที่ทำให้เงินเฟ้อครึ่งปีหลังปรับขึ้นได้ หากมีการปรับเพิ่มค่าไฟ (FT) ไม่หยุด เพราะการที่ค่าไฟยังปรับตัวสูงยาวนานจะทำให้ผู้ประกอบการรับภาระต้นทุนไม่ไว้ไม่ไหวจนต้องผลักภาระมาที่ราคาสินค้า แต่เชื่อว่าเงินเฟ้อไทยผ่านระดับสูงสุดแล้วและปีนี้ชะลอตัวลงลดระดับความร้อนแรงลงมาสิ้นปีนี้ อยู่ที่ 2-3%
มองว่าเป็นปัจจัยหนุนเชิงจิตวิทยาการลงทุนหุ้นในช่วงนี้ โดยตรงต่อหุ้น Domestic play เช่น ค้าปลีก ไฟแนนซ์ อาหารเครื่องดื่ม สื่อสาร และ REIT