3 ประเด็นรายย่อยพร้อมไหม ก่อน TRUE - DTAC สวอปหุ้น
เหลือระยะเวลาเพียงแค่สัปดาห์เดียว ดีล ทรู คอร์ปอเรชั่น TRUE – โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอร์ปอเรชั่น DTAC เดินหน้ารวมกิจการภายใต้บริษัทใหม่ผ่านเงื่อนไขการสวอปหุ้นของผู้ถือหุ้นทั้ง 2 บริษัท
เพื่อไปยังบริษัทใหม่ ทำให้มีระยะเวลาการซื้อขายหุ้นจนถึงวันที่ 17 ก.พ.2566 นี้เท่านั้น เพื่อตัดสินใจจะ “ถือหุ้นต่อ “ “ซื้อหุ้นเพิ่ม” หรือ “ขายเพื่อลดความกังวลใจ”
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของ 2 บริษัทใหญ่สื่อสารจะมีผลต่อคาดการณ์แนวโน้มผลบวกและผลเสียที่อาจจะเกิดทั้ง TRUE – DTAC รวมไปถึงบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ที่จะต้องเตรียมพร้อมรับกับรูปแบบการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป
สำหรับ TRUE มีจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด 77,239 ราย (26 ม.ค.2566) เป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยทั้งหมด 74,211 ราย (14 มี.ค.2565) ขณะที่ DTAC มีจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด 39,949 ราย (26 ม.ค.2566) เป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยทั้งหมด 20,900 ราย (14 ก.พ.2565) รวมแล้วทั้ง 2 บริษัทมีจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยถึง 95,111 ราย
ด้วยระยะเวลา และผู้ถือหุ้นจำนวนมากทำให้มีถึง 4 ประเด็นที่ต้องไม่พลาด ประเด็น1.ระยะเวลาการถือหุ้นเพื่อสวอป โดยมีการจัดตั้ง “ซิทริน เวนเจอร์โฮลดิ้งส์” และ “ Citrine Investment SG “ เป็นผู้รับซื้อหุ้นกรณีผู้ถือหุ้นคัดค้านควบรวมซึ่งกำหนดราคารับซื้อคืน DTAC ที่หุ้นละ 50.50 บาท และ TRUE ที่หุ้นละ 5.15 บาท
หากผู้ถือหุ้นไม่คัดค้านกำหนดระยะเวลาการซื้อขายหุ้นภายใต้บริษัทเดิมถึง 17 ก.พ. ส่วนDW อ้างอิง DTAC และ TRUE จะมีการปรับวันหมดอายุของ DW ทุกตัวที่อายุยาว ให้หมดอายุไม่เกิน 17 ก.พ. ซึ่งจะทำให้วันซื้อขายสุดท้าย คือ (last trade date) 14 ก.พ.
หลังจากนั้นระงับการซื้อขาย 9 วันทำการ (20 ก.พ.- 2 มี.ค.66) และจะกลับมาทำการซื้อขายใหม่ วันที่ 3 มี.ค.ภายใต้บริษัทใหม่ (จากการควบรวม) “ทรู คอร์ปอเรชั่น” หรือ TRUE ซึ่งราคาหุ้นในช่วงเวลาดังกล่าวจึงเคลื่อนไหวไม่มาก และไม่ผันผวน หากซื้อในช่วงนี้ และขายไม่ทันทำให้มีความเสี่ยงสำหรับนักลงทุนรายใหม่
ทั้งนี้นักเก็งกำไร ต้องขายหุ้นไม่เกินวันที่ 17 ก.พ. นี้ เพราะหลังจากนั้นจะหยุดการซื้อขายชั่วคราว และกลับมาเทรดใหม่ในนามบริษัทใหม่ ในวันที่ 3 มี.ค.66
ประเด็นที่ 2 สัดส่วนการสวอปหุ้น และกรณีไม่สวอปหุ้น และทำการขายคืนซึ่งได้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติไปแล้วนั้น หากเป็นการสวอปหุ้นจากบริษัทใหม่ภายใต้ทุนจดทะเบียน 138,208 ล้านบาท มีหุ้นจำนวน 35,552 ล้านหุ้น ที่ราคาพาร์ 4 บาท มีการแลกหุ้นตามสัดส่วน TRUE 1 หุ้นเดิมต่อ 0.60018 หุ้นในบริษัทใหม่ และ DTAC 1 หุ้นเดิมต่อ 6.13444 หุ้นในบริษัทใหม่
หากเป็นการคัดค้านการควบรวมระยะเวลาการรับซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นที่คัดค้านได้เริ่มไปตั้งแต่ในวันที่ 27 ม.ค. - 9 ก.พ.2566 ที่ผ่านมา โดยกำหนดราคารับซื้อคืน DTAC ที่หุ้นละ 50.50 บาทต่อหุ้น และ TRUE ที่หุ้นละ 5.15 บาทต่อหุ้นไปเป็นที่เรียบร้อย
สิ่งที่น่าสนใจคือ มูลค่าราคาหุ้นภายใต้บริษัทใหม่ ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุหากยึดจากราคารับซื้อหุ้น TRUE ที่ราคา 5.15 บาท เป็นราคาเป้าหมายของ TRUE จะเหลือ upside เพียง 5.5%
ทั้งนี้สัดส่วน TRUE ที่ 5.15 บาท และสัดส่วนการแปลงคือ 1 หุ้น TRUE ต่อ 0.60018 หุ้น จะได้ราคาเป้าหมายบริษัทใหม่ที่ 8.57 บาท และสัดส่วนแปลงหุ้น DTAC คือ 1 หุ้น DTAC ต่อ 6.13444 หุ้นบริษัทใหม่ เปรียบเท่า ราคาเป้าหมาย DTAC ที่ 52.60 บาท
ประเด็นที่ 3 หลังจากกลับมาทำการซื้อขายใหม่ภายในวันที่ 3 มี.ค. บริษัทใหม่ยังคงแบรนด์ DTAC และ TRUE ไว้เหมือนเดิม และยังคงแยกกันให้บริการลูกค้าของตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอทางเลือกที่หลากหลายสำหรับผู้บริโภค และสามารถแข่งขันได้ในตลาดต่อไป ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามข้อกำหนดที่กสทช.ตั้งเงื่อนไขไว้ก่อนหน้านี้ว่าต้องแยกแบรนด์ให้บริการหลังควบรวมราว 3 ปี
บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) คาดว่าการประหยัดต้นทุนจากการควบรวมกิจการ 3 รายการแรก (สถานีเครือข่าย ด้านการค้า และระบบไอที) จะช่วยเพิ่มอัตรากำไร EBITDA ได้ ในขณะที่อัตราการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกลงจะช่วยให้ประหยัดการลงทุนในเครือข่าย โดยนายนกุลเชื่อว่า EBITDA margin ของบริษัทใหม่จะเพิ่มขึ้นแตะระดับของ ADVANC ในที่สุด (ค่าเฉลี่ยปี 2563-2565 อยู่ที่ 49.9%)นอกจากนี้ เขายังคาดว่าบริษัทใหม่จะลดงบประมาณการลงทุนลงเหลือเท่ากับของ ADVANC(อัตราส่วนการลงทุนเครือข่ายต่อรายได้จากการบริการเฉลี่ย 3 ปีอยู่ที่ 21.3%)
สอดคล้องกับ บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มองว่าการควบบริษัท จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานทั้ง 2 องค์กร และการ Synergy ร่วมกันจะช่วยให้เกิดการลดต้นทุน และประหยัดต่อขนาดในอนาคต แม้จะยังไม่เห็นผลที่ชัดเจนในปีนี้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์