กูรูฟันธง ‘เงินเฟ้อสหรัฐ’ กระทบหุ้นช่วงสั้น แนะลุยหุ้นพื้นฐานดี ปันผลสูง

กูรูฟันธง ‘เงินเฟ้อสหรัฐ’ กระทบหุ้นช่วงสั้น แนะลุยหุ้นพื้นฐานดี ปันผลสูง

ตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) ของสหรัฐเดือนม.ค.2566 ที่เติบโต 6.4% เป็นตัวเลขที่สูงกว่าการคาดการณ์ที่ 6.2% กระทบต่อสินทรัพย์การลงทุนหลายตัว นักลงทุนเริ่มกังวลเฟด จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จากเดิมคาดการณ์ ด้านนักวิเคราะห์ มอง ผลกระทบต่อตลาดหุ้นเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น

ตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) ของสหรัฐเดือนม.ค.2566 ที่เติบโต 6.4% เรียกว่า ‘ช็อก’ ตลาดการลงทุนพอสมควร เพราะเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการคาดการณ์ที่ 6.2% กระทบต่อสินทรัพย์การลงทุนหลายตัว เพราะนักลงทุนเริ่มกังวลว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จากเดิมคาดการณ์กันว่าจะขึ้นอีกเพียงครั้งเดียวในการประชุมรอบหน้า อย่างไรก็ตาม ‘นักวิเคราะห์’ ส่วนใหญ่เชื่อกันว่า ผลกระทบต่อตลาดหุ้นจะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น

กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐที่ออกมาสูงกว่าคาดการณ์ ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นในช่วงสั้นๆ เพราะนักลงทุนกังวลต่อทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐว่าจะเปลี่ยนไปจากที่คาดการณ์ไว้เดิมหรือไม่ ประกอบกับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาต่ำกว่าคาด จึงมีแรงเทขายค่อนข้างมากในหุ้นสหรัฐด้วย 

กูรูฟันธง ‘เงินเฟ้อสหรัฐ’ กระทบหุ้นช่วงสั้น แนะลุยหุ้นพื้นฐานดี ปันผลสูง

อย่างไรก็ตาม มองไปข้างหน้าไม่ได้มีความกังวลเรื่องเงินเฟ้อมากขนาดนั้น เพราะถ้าดูราคาน้ำมันในปัจจุบันเทียบแบบรายปี(YoY) จะพบว่าตั้งแต่เดือนก.พ.จนถึงเดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว อยู่ในระดับค่อนข้างสูง ซึ่งถ้าเทียบกับราคาในปัจจุบันแล้วจึงน่าจะลดแรงกดดันในส่วนของเงินเฟ้อได้พอสมควร 

ส่วนทิศทางการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.25% อีก 2 ครั้ง ซึ่งจุดสูงสุดของวัฏจักรดอกเบี้ยของสหรัฐรอบนี้คือ 5.25% และหลังจากนั้นจะเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ย ทำให้ในช่วง 6 เดือนแรกไม่ต้องกังวลหรือกลัวเรื่องเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ดี แม้การประกาศผลประกอบการที่ต่ำกว่าคาดในหลายอุตสาหกรรม แต่อยากให้นักลงทุนมองหุ้นกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวในปีนี้อย่างชัดเจน ซึ่งหลายตัวยังอยู่จุดที่ต่ำ และมีความปลอดภัยมากพอที่เข้าลงทุน ไม่ว่าจะเป็น MAJOR , MAKRO , BJC , PTTGC , IRPC , TIDOR และ SAMART ที่มีการฟื้นตัวของผลประกอบการที่ชัดเจนในปีนี้ ส่วนกลุ่มโภคภัณฑ์ปีนี้ 2 กลุ่มแรกที่มีการเคลื่อนไหวได้ดีในครึ่งปีแรก ได้แก่ กลุ่มเหล็กเส้น เพราะมีการนำมาใช้ในโครงการเมกะโปรเจกต์ และนำไปใช้กับตึกสูงขนาดใหญ่ต่อเนื่อง และกลุ่มน้ำตาลปีนี้เป็นปีที่ผลผลิตสูงสุดในรอบ 3 ปี คาดว่าจะอยู่ที่ 106 ล้านตัน แถมราคาน้ำมันยังมีการปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 6 ปี ฉะนั้นปีนี้กำไรของกลุ่มน้ำตาลจะออกมาในทิศทางค่อนข้างดี

สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อของเดือนมกราคม ที่ผ่าน ออกมา 6.4% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 6.4% แต่ประเด็นหลักๆ ที่ทำให้ตัวเงินเฟ้อสูงในรอบนี้มาจาก 2 เรื่อง คือ 1.ภาคอสังหาฯ คิดเป็นสัดส่วนสูงประมาณ 30% ของเงินเฟ้อ ทำให้กดไม่ลง โดยตัวเลขเดือนธ.ค.2565 อยู่ที่ 0.8% เทียบเดือนต่อเดือน(MoM) และม.ค.2566 อยู่ที่ 0.7% MoM ซึ่งยังเติบโตอยู่ในระดับค่อนข้างสูง และ 2.พลังงานในเดือนธ.ค.2565 ติดลบอยู่ที่ 3.1% เดือนม.ค. 2566 พลิกขึ้นมาเป็นบวก 2.00% จึงเป็น 2 ปัจจัยหลักที่ยังกดไม่ลงทำให้อัตราเงินเฟ้อรอบนี้สูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังประเมินกันว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นแน่นอนอีก 2 ครั้ง โดยขึ้นครั้งละ 0.25% ในเดือนมีนาคม และพฤษภาคม 2566 แต่จะปรับเพิ่มขึ้นอีก 1 ครั้งไปถึง 5.5% หรือไม่ ยังไม่แน่ชัด เพราะเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงเกิดขึ้นจากตัวสินค้าที่เห็นได้ชัดเจนติดต่อกัน แต่เงินเฟ้อของการให้บริการยังกดไม่ลง ซึ่งเงินเฟ้อฝั่งบริการอาจจะต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ไตรมาส เนื่องจากภาคของการจ้างงานค่อนข้างแข็งแกร่ง เลยต้องใช้ระยะเวลาในภาคการจ้างงานชะลอตัว

ทั้งนี้ set จะแกว่งตัวที่ 1,635 - 1,691 จุด ฉะนั้นการลงทุนในช่วงนี้ต้องหาหุ้นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ย หาหุ้นพื้นฐานดี มีการปันผล เช่น กลุ่มอสังหาฯ เป็นต้น

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์