‘จอร์จ โซรอส’ แทงสวนซื้อหุ้น Silvergate แม้มีข่าวเอี่ยว FTX
บริษัท Family Office ของจอร์จ โซรอส นักลงทุนมือฉมังชาวอเมริกัน ซื้อหุ้นซิลเวอร์เกท ธนาคารด้านสกุลเงินดิจิทัล เข้าพอร์ตโซรอส ฟันด์ แมเนจเมนต์ จำนวน 100,000 หุ้น มูลค่ากว่า 57.42 ล้านบาท แม้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐชี้อาจมีเอี่ยวกรณี FTX ล้มละลาย
Key Points
- บริษัท Family Office ของจอร์จ โซรอส เข้าซื้อหุ้นธนาคารซิลเวอร์เกทแม้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐกำลังสอบสวนเพราะอาจมีเอี่ยวกรณี FTX แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตฯ ล้มละลาย
- บริษัทฯ ซื้อหุ้นภายใต้สัญญาแบบ Put Options จำนวน 100,000 หุ้น เข้าพอร์ตโซรอส ฟันด์ แมเนจเมนต์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 57.42 ล้านบาท
- ย้อนรอยช่วงเวลาก่อน FTX ประกาศล้มละลายจากช่วงต้นถึงสิ้นปี 2565
Family Office หรือ FO บริษัทรับดูแลสินทรัพย์ของครอบครัวที่ร่ำรวยเพื่อสร้างการเติบโตของจอร์จ โซรอส เจ้าพ่อนักลงทุนระดับตำนาน เปิดเผยว่า กำลังลงทุนเพื่อเดิมพันในธนาคารซิลเวอร์เกท แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น หรือ SI ธนาคารที่เน้นในการให้บริการด้านคริปโตเคอเรนซี ด้วยการซื้อหุ้นบริษัทธนาคารดังกล่าวเข้าพอร์ตโซรอส ฟันด์ แมเนจเมนต์ แม้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐกำลังสอบสวนเพราะเชื่อว่าให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการทุจริตของ FTX แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตฯ ซึ่งเป็นที่นิยมมากเป็นอันดับสองรองจาก Binance
หนังสือชี้ชวนการลงทุนของโซรอส ฟันด์ แมเนจเมนต์ ซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (ก.ล.ต.) ระบุว่า กองทุนฯ ซื้อหุ้นของธนาคารดังกล่าวจำนวน 100,000 หุ้น ภายใต้สัญญาที่ให้สิทธิแก่ผู้ซื้อในการขายสินทรัพย์อ้างอิง ณ ราคาที่กำหนด หรือ Put Options คิดเป็นมูลค่า 1.74 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 57.42 ล้านบาท) ในวันที่ 31 ธ.ค.ที่ผ่านมา
ดร.กฤษฎา เสกตระกูล ให้ข้อมูลไว้ในบทความ ‘ลักษณะและคุณสมบัติของ Options’ บนเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ว่า นักลงทุนที่ซื้อหุ้นหรือสินทรัพย์ใดภายใต้สัญญาแบบ Put Options คือนักลงทุนที่คาดว่าราคาสินทรัพย์เหล่านั้นจะปรับตัวลดลงในอนาคต (Bullish) ดังนั้นหากนักลงทุนสามารถซื้อสิทธิ์ขายสินทรัพย์ดังกล่าวในราคาสูงไว้ได้ ก็มีโอกาสที่จะแสวงหาผลกำไรในอนาคต
บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบิสซิเนสอินไซด์เดอร์ ระบุว่า ท่าทีการซื้อหุ้นแบบสวนกระแสข่าวของโซรอสครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนค่อนข้างสูญเสียความเชื่อมั่นต่อหน้าหุ้นดังกล่าว ท่ามกลางเหตุการณ์ที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐกำลังสอบสวนผู้บริหารธนาคารซิลเวอร์เกทว่าเพราะเชื่อว่าอาจมีเอี่ยวกับการทุจริตของ FTX และ Alameda Research บริษัทการลงทุนเชิงปริมาณซึ่งเป็นบริษัทลูกของ FTX
ทั้งกองทุนฯ ยังเข้าซื้อหุ้นบริษัทเทสล่า มอเตอร์ หรือ Tesla ในไตรมาสที่ 4 จำนวน 42,000 หุ้น เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนเดิม 47% มาอยู่ที่ 132,000 หุ้นด้วย
ย้อนไทม์ไลน์การล่มสลายของ FTX
- ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2565 FTX ประกาศเพิ่มทุน 400 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.32 หมื่นล้านบาท) โดยมี SoftBank กลุ่มบริษัทโทรคมนาคมข้ามชาติของญี่ปุ่น เป็นผู้ร่วมทุน ส่งผลให้มูลค่ารวมของ FTX อยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.056 ล้านล้านบาท)
- เดือนพ.ค. 2565 Terra แพลตฟอร์มให้บริการทางการเงินแบบไม่มีศูนย์กลาง (Decentralized Finance) และเจ้าของ Luna หนึ่งในสกุลเงินดิจิทัลล่มสลายเพราะไม่สามารถตรึงค่าเงินเหรียญ UST อยู่ที่ 1 ดอลลาร์ต่อเหรียญได้ ซึ่งจากเหตุการณ์นี้เอง นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งมองว่าส่งผลทำให้บริษัท Alameda Research ขาดทุนตามไปด้วย
- วันที่ 22 ก.ค. 2565 FTX ให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่อ Voyager Digital หนึ่งในโบรกเกอร์คริปโตฯ
- 19 ส.ค. 2565 มีรายงานว่าเม็ดเงินส่วนใหญ่ที่หมุนในบริษัท Alamenda Research คือ FTT ซึ่งเป็นเหรียญของ FTX
- 6 พ.ย. 2565 ฉางเผิง จ้าว มหาเศรษฐีชาวจีนเจ้าของ Binance ประกาศว่าจะขายเหรียญ FTT ที่ถืออยู่ทั้งหมด โดยคาดว่าเป็นผลจากการรายงานเมื่อวันที่ 19 ส.ค. แม้ FTX ออกมาปฏิเสธภายหลังว่าบริษัทฯ อยู่ในสภาวะปกติ
- 8 พ.ย. 2565 มูลค่าเหรียญ FTT ดิ่งลง 72% จนนักลงทุนแห่ถอนเงินออกจาก FTX ประกอบกับภาพรวมตลาดคริปโตฯ ต่างได้รับผลกระทบไปด้วย จากเหตุการณ์ดังกล่าวนักลงทุนจำนวนมากต่างกังวลว่า FTX และ Alamenda Research อาจเผชิญกับวิกฤตขาดแคลนสภาพคล่อง
- 9 พ.ย. 2565 Binance ประกาศกลับลำไม่ให้ความช่วยเหลือ FTX หลังเพิ่งจะรับตรวจสอบวิเคราะห์สถานะและประเมินทรัพย์สิน หรือ Due Diligence เพียง 1 วัน นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งคาดว่า Binance อาจพบความผิดปกติบางอย่างของบริษัทฯ จึงตัดสินใจไม่ให้ความช่วยเหลือ
- 10 พ.ย. 2565 FTX ระงับการถอนเงินและการสมัครสมาชิกใหม่ และในวันเดียวกันมีรายงานว่า FTX นำเงินของลูกค้าจำนวนมากไปให้Alamenda Research กู้เพื่อลงทุน
- 11 พ.ย. 2565 FTX ประกาศยื่นล้มละลายและ แซม แบงก์แมน ฟรายด์ ลาออกจากตำแหน่งประธานบริหารสูงสุด