“หุ้นโรงแรม” โชว์ฟอร์มกำไรไปต่อ แรงส่งท่องเที่ยวหนุนฟื้นตัว
พระเอกนำพาเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้หรือไม่ปี 2566 อยู่ที่ “การท่องเที่ยว”เข้ามาได้ถูกจังหวะเพราะเครื่องยนต์ส่งออกแผ่วลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2565 และทำให้ธุรกิจโรงแรมที่เป็นความเสี่ยงของหนี้เสียเห็นการฟื้นตัวโดดเด่นกว่าธุรกิจอื่นปี 2565
จากการทอยประกาศผลประกอบการงวดปี 2565 ของบริษัทจดทะเบียน ตามข้อมูล บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน รวบรวมจำนวนบริษัทใน SET ล่าสุดมีหุ้นรายงานกำไรแล้ว 358 บริษัท แบ่งเป็น 10% ของบริษัทที่มีการคาดการณ์กำไรดีกว่าคาด 21.6% แย่กว่าคาด และกำไรโดยรวมแย่กว่าคาด -39.9% ขณะที่กำไรรวม -41.7% เปรียบเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
กลุ่มธุรกิจที่ออกมาแย่กว่าที่คาดในงวดดังกล่าวกลายเป็น ข่าวเซอร์ไพรส์ เชิงลบต่อราคาหุ้นไปทันที จนกลายเป็นกำไรออกมาแย่กว่าที่คาดการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดกับบริษัทขนาดใหญ่ทั้งกลุ่มธนาคารที่มีการตั้งสำรองก้อนใหญ่ กลุ่มสินเชื่อเงินสดที่เจอเคสรายบริษัทพบหนี้เสีย (NPL) และไม่สอดคล้องกับการเติบโตกำไรในช่วงผ่านมา รวมไปถึงหุ้นค้าปลีกรายใหญ่ที่มีผลการดำเนินผิดคาดเป็นต้น
สวนทางกับกลุ่มที่กำไรดีกว่าคาดที่เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนน้อยและตรงตามคาด คือ “กลุ่มโรงแรม “ ที่เผชิญแรงกระแทกอย่างหนักในช่วงโควิดจนทำให้ทุกบริษัทเผชิญขาดทุน ลดต้นทุนด้วยการเลิกจ้างพนักงาน และที่หนักสุดการต้องหากระแสเงินสดรองรับในระยะข้างหน้า ด้วยการขายสินทรัพย์บ้างส่วน หรือการออกหุ้นกู้ด้วยต้นทุนดอกเบี้ยที่สูง
ตัวเลขกำไรช่วงไตรมาส 4 ปี 2565 ทำให้หุ้นโรงแรมกลับมาโดดเด่นอีกครั้ง ซึ่ง 5 หุ้นโรงแรมของไทย โชว์ฟอร์มพลิกกลับมามีกำไรในงวดดังกล่าว โดย บมจ. แอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ AWC มีกำไร 1,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.9 % จากปีก่อน
ธุรกิจโรงแรมและการบริการเติบโตในทุกกลุ่มของโรงแรม ทำให้อัตราการเข้าพักของโรงแรมของบริษัทเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 63.5 % และทั้งปี 2565 อยู่ที่ 49 % ซึ่งทั้งปี 2565 มีกำไรสุทธิ 3,981 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่า 100 % จากปีก่อน
สำหรับ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ MINT มีการใช้กลยุทธ์ “ปรับราคา” ทำให้ไตรมาส 4 ปี2565 รายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนเพิ่มขึ้น 16 % กลับไปอยู่ที่ระดับก่อนการระบาดโควิด-19 แล้ว ซึ่งโรงแรมในไทยเพิ่มขึ้น 9 % ตั้งแต่ธ.ค. 2565 มีกำไร 2,379 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 44 %
ทั้งปีสามารถขึ้นราคาค่าห้องพักและความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนเชิงรุกของบริษัทผลิกฟื้นกลับมามีกำไรจากการดำเนินงาน 2,019 ล้านบาท จากผลขาดทุน 9,314 ล้านบาท ในปี 2565
กลุ่มเซ็นทรัล บมจ. โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา หรือ CENTEL รายงานกำไรไตรมาส 4ปี 2565 ที่ 498 ล้านบาท เติบโต 228% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีการเพิ่มของอัตราการเข้าพักเฉลี่ยจาก33% ในไตรมาส 4/2564 เป็น 68% ในไตรมาส 4/2565 ขณะที่ราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) ทรงตัวเทียบปีก่อน ที่5,091 บาท และปี 2565 มีพลิกมีกำไร 398 ล้านบาทจากขาดทุนปี 2564 ที่ 1,734 ล้านบาท
บมจ. ดิเอราวัณ กรุ๊ป หรือ ERW ช่วงไตรมาส 4 ปี 2565 มีกำไรสุทธิ 240 ล้านบาท นับเป็นการกลับมาบันทึกกำไรสุทธิรายไตรมาสเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤตการณ์โควิด 19 และเป็นกำไรสุทธิรายไตรมาสที่สูงสุดในรอบ 4 ปีนับตั้งแต่ปี 2562 และทั้งปี 2565 ยังมีผลขาดทุนสุทธิ 224 ล้านบาท แต่เป็นการลดลงอย่างมากผลขาดทุนสุทธิ 2,050 ล้านบาทในปี 2564
และบมจ. เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท หรือ SHR ไตรมาส 4 ปี 2565 บริษัทมีกำไรสุทธิ 107.9 ล้านบาท มีผลจากโรงแรมภายใต้กิจการร่วมค้าในสหราชอาณาจักร มีอัตราการเข้าพักและ ADR ที่ลดลงอยู่ที่ 62.7 % และ ADR ที่ 3,421 บาท
สำหรับปี 2565 ผลประกอบการปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้า โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนอยู่ที่ 2,083 บาท ปรับตัวดีขึ้น 25.2 % จากปีก่อนหน้า เป็นผลมาจากการมีอัตราการเข้าพักที่ 59.9% และ ADR ที่ 3,476 บาท ซึ่งเป็น ADR ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของพอร์ตโฟลิโอตั้งแต่เปิดดำเนินการมา
ทั้งนี้ภาพรวมของโรงแรมปี 2566 ล้วนคาดการณ์อัตราการเข้าพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 65% - 72% และรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPar) เติบโตเพราะมีการเพิ่มราคาห้องพักเฉลี่ย บวกปัจจัยหนุน นักท่องเที่ยวจีน กำลังมาเติมเต็มภาคการท่องเที่ยวไทย
ตาม Trip.com เผยข้อมูลใหม่ล่าสุด ยอดจองโรงแรมใน “ประเทศไทย” จากนักท่องเที่ยวจีนกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เฉพาะยอดจองโรงแรมในกรุงเทพช่วงเทศกาล “ตรุษจีน” มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 30 เท่า เมื่อเทียบจากปีก่อน และมีราคาเข้าพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 70% การเดินหน้าเริ่มใช้สิทธิ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 “ เดือนมี.ค. ล้วนเป็นแรงหนุนให้กับหุ้นโรงแรมได้ไปต่อในปีนี้