‘บลูมเบิร์ก’ มองบวกกรณี ‘สี จิ้นผิง’ จ่อคุมแบงก์ชาติ ชี้ ‘จีดีพี’ ปี 66โต 5.8%
บทวิเคราะห์ของสำนักข่าว “บลูมเบิร์ก” มองต่าง “วอลล์สตรีท เจอร์นัล” กรณี สี จิ้นผิง จ่อคุมแบงก์ชาติ ชี้ทีมใหม่ของสี จิ้นผิง อาจเพอร์ฟอร์มดีภาพภายใต้ “เงื่อนไขเฉพาะแบบจีน” ระบุมีแนวโน้มที่จีนจะเน้นการ "เติบโต" มากกว่าความมั่นคง ชี้จีดีพีปี 2566 โต 5.8% แม้ทางการจีนหวังเพียง 5%
Key Points
- สี จิ้นผิง จ่อแต่งตั้งคนใกล้ชิดเข้าไปทำงานในตำแหน่งอาวุโสของธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (PBOC) หวังควบคุมเครื่องมือทางการเงินแบบเบ็ดเสร็จมากขึ้น
- นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่ง รวมทั้งวอลล์สตรีท เจอร์นัล มองลบเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวเนื่องจากจะทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่เข้าสู่สภาวะแบบรัฐแทรกแซง และโดดเดี่ยวตัวเองมากขึ้น
- ทว่าบทวิเคราะห์จากบลูมเบิร์ก มองว่าคณะทำงานใหม่ของสี จิ้นผิง อาจพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ภายใต้เงื่อนไข “การปกครองแบบจีน”
- พร้อมฟันธงจีดีพีปี 2566 ของจีนโต 5.8% ซึ่งมากกว่าที่ทางการจีนคาดที่ 5%
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สำนักข่าวหลายแห่งรายงานเป็นเสียงเดียวกันว่ากำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นในประเทศจีนเนื่องจากสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนจ่อแต่งตั้ง “นักการเมือง” คนใกล้ชิดเข้าไปดำรงตำแหน่งในธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (PBOC) ที่ปกติแล้วมักเป็นตำแหน่งของเหล่านักวิชาการหรือผู้ทรงคุณวุฒิในด้านเศรษฐศาสตร์ และนักวิเคราะห์ต่างมองว่าสี จิ้นผิง หวังควบคุมเครื่องมือทางการเงินแบบรวมศูนย์มากขึ้น ผ่านการให้คนใกล้ชิดเข้าไปดำรงตำแหน่งระดับสูงในธนาคารกลาง
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งสำนักข่าววอลล์สตรีท เจอร์นัล หน่วยงานต่างๆ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร รวมทั้งญี่ปุ่น ต่างแสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่านักการเมืองที่แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอาจจะเป็น “Xi Yes-Men” หรือผู้ที่ทำตามความประสงค์ของสี จิ้นผิง ทุกประการ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจีนอาจเข้าสู่สภาวะแบบรัฐแทรกแซง (State Intervention) รวมทั้งสภาวะโดดเดี่ยวตัวเอง (International Isolation) โดยทั้งหมดเป็นเส้นทางที่แตกต่างจากสิ่งที่ “เติ้ง เสี่ยวผิง” อดีตผู้นำที่พาจีนสู่เศรษฐกิจแบบทุนนิยมวางไว้อย่างสิ้นเชิง
อย่างไรก็ดี บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์กมองต่างออกไป
“ถ้าอธิบายแบบคนกันเอง บางทีประเด็นเรื่องการแต่งตั้งใครสักคนเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญโดยอิงจากความไว้วางใจของกลุ่มผู้นำสูงสุด การที่ข้าราชการทนทำงานในระบอบการปกครองที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะในจีน รวมทั้งแนวทางแบบปฏิบัตินิยม (Pragmatic Approach) ในการร่างนโยบาย ก็อาจเป็นสามประเด็นสำคัญสำหรับจีน และสำคัญมากกว่าการยึดตามตำราทางเศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิมอย่างเคร่งครัดอยู่ร่ำไป และหากทั้งหมดเป็นไปอย่างที่ว่ามา คณะทำงานที่สี จิ้นผิง กำลังจะแต่งตั้งขึ้นมาอาจมีประสิทธิภาพกว่าคณะทำงานชุดเดิมหรือชุดที่สืบทอดกันตามหลักการแบบเดิมด้วยซ้ำ” บลูมเบิร์ก ระบุ
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงคณะทำงานที่กำลังจะถึงนี้มีความสำคัญต่อการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติที่จะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 5 มี.ค.นี้อย่างมาก เนื่องจากนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าที่ประชุมมีแผนตั้งเป้าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ 18 ล้านล้านดอลลาร์ ($18 trillion) (ประมาณ 90 ล้านล้านบาท) หรือเติบโตมากกว่า 5% จากช่วงก่อนหน้า โดยงบประมาณที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันอาจให้ความสำคัญกับภาวะการขาดดุลการคลังเล็กน้อย (Fiscal Deficit) รวมทั้งมุ่งเป้าไปที่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐด้วยเช่นกัน
ด้านการคาดการณ์ล่าสุดของ ‘Bloomberg Economics’ แสดงให้เห็นว่า หากคณะทำงานใหม่ของสี จิ้นผิงสามารถปฏิรูปประเทศไปในทางที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน รวมทั้งสร้างความมั่นคงทางการค้าและความสัมพันธ์ทางเทคโนโลยีกับสหรัฐ ประกอบกับหาวิธีในการชดเชยประสิทธิภาพของแรงงานจากการที่จีนเข้าสู่สังคมสูงวัยได้อย่างเหมาะสม จีดีพีของจีนอาจเป็นไปตามที่สี จิ้นผิงต้องการคือ บวกลบประมาณ 5%
อย่างไรก็ตาม หากสี จิ้นผิงไม่สามารถบรรลุเงื่อนไขทั้ง 4 ข้อข้างต้นได้ ประกอบกับแรงกดดันด้านความเสรีของตลาดที่ลดลง และวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ อาจส่งผลให้จีดีพีโตเพียง 2% จากปีก่อนหน้า ส่งผลต่อเนื่องให้สหรัฐกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกโดยปริยาย
อนึ่ง ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสองมหาอำนาจที่ปรับตัวร้อนแรงมากขึ้น จึงไม่แปลกที่นักวิเคราะห์ และผู้สังเกตการณ์จากฝั่งตะวันตกมองบวกต่อคณะทำงานใหม่ที่กำลังจะเข้ามาปฏิบัติงาน
การปรับเปลี่ยนที่น่าติดตาม
“หลี่ เค่อเฉียง” นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของจีน และนักเรียนทุนเศรษฐศาสตร์หัวกะทิของสี จิ้นผิง จะหมดวาระลงในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติที่จะถึงนี้ โดยคาดว่า “หลี่ เค่อเฉียง” อดีตหัวหน้าเสนาธิการ ผู้ที่ก่อนหน้านี้สั่งล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้ จากการ “ตีความ” คำสั่งโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid) ของประธานาธิบดี จนมีส่วนทำให้เศรษฐกิจจีนถดถอยมาจนถึงทุกวันนี้
ด้าน “หลิง เหอ” รองประธานาธิบดี และอดีตบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ต่างก็กำลังจะหมดวาระลง ซึ่งก่อนหน้านี้เขามีบทบาทสำคัญในการกำหนดให้ตลาดทุนมีบทบาทชี้ขาดในเศรษฐกิจจีน โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า “เหอ หลี่เฟิง” คนสนิทของสี จิ้นผิง จะเข้ามารับตำแหน่งแทน “หลิง เหอ” แม้เขาจะเคยปฏิบัติหน้าที่เพียงในหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่น และไม่มีประสบการณ์ด้านการต่างประเทศเลยก็ตาม
ทั้งนี้ วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานเพิ่มเติมว่า นอกจาก “เหอ หลี่เฟิง” จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีแล้ว ทางการกำลังพิจารณาให้เขาเข้ามาดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ที่ธนาคารกลางด้วย
มากไปกว่านั้น “จู เหอซิน” อดีตนายธนาคารชำนาญการที่มีประสบการณ์ทางวิชาการน้อยมาก จะเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางแทน “อี้ กัง” นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง และสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ในสหรัฐ
ความเฟื่องฟู และอับเฉาของเศรษฐกิจจีน
หากย้อนกลับไปในอดีต จีนเริ่มเปิดประเทศมากขึ้นในทศวรรษ 1978 ซึ่งเป็นช่วงการบริหารประเทศของ “เติ้ง เสี่ยวผิง” จนมาในช่วงการบริหารประเทศของ “จู หลงจี้” ที่เข้ามาปฏิรูปหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในช่วงปลายทศวรรษ 1990 และเข้าร่วมกับองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2001 ทั้งหมดเป็นช่วงที่เศรษฐกิจจีนเริ่มเฟื่องฟูขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ ทว่าความเปลี่ยนแปลงเริ่มเข้ามาในช่วงวิกฤตการณ์การเงินทั่วโลกในปี 2007- 2008 ในตอนนั้นรัฐบาลกลางกรุงปักกิ่งเริ่มขาดความเชื่อมั่นในแนวคิดแบบตลาดเสรี ประกอบกับการปล่อยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในตอนนั้นส่งผลต่อเนื่องให้ภาคเศรษฐกิจจีนต้องหันไปพึ่งพาการปล่อยสินเชื่อจากธนาคารของรัฐอย่างมาก
โดยตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงแรกๆ ของการบริหารงานของสี จิ้นผิง เขาก็เริ่มแสดงท่าทีทางการเมืองแบบซ้ายจัดมากขึ้น โดยลงนามรับรองโครงการ “Made in China 2025” ประกอบกับนโยบาย “Common Prosperity” หรือนโยบายความมั่งคั่งร่วมกัน จนกระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐเริ่มมีความชาตินิยม และเข้ามาควบคุมบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างร้อนแรง ที่เห็นได้ชัดคือ การจัดการกับบริษัท Alibaba ของมหาเศรษฐี แจ็ก หม่า หรือแม้กระทั่งการปราบปรามผู้ประท้วงในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง การละเมิดสิทธิมนุษยชนในเขตปกครองตนเอง ซินเจียงอุยกูร์ และการแอบให้การสนับสนุนทางการรัสเซียในการทำสงครามกับยูเครน เป็นต้น
จากเหตุการณ์ทั้งหมดส่งผลให้ต่อมานักลงทุนมีทัศนคติทางด้านลบต่อเศรษฐกิจจีน จนกระทั่งฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลออกจากจีนมหาศาลในช่วงนั้น และซ้ำร้ายลงไปอีกจากการที่สี จิ้นผิง แก้ไขกฎหมายเพื่ออนุญาตให้ตัวเองสามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 3 ได้เมื่อปีที่แล้ว
ทว่าไม่นานบางสิ่งก็เปลี่ยนไป หุ้นจีนเริ่มดีดตัวกลับขึ้นมาจากการคาดการณ์ที่ว่าคณะทำงานใหม่ของสี จิ้นผิงอาจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 ประกอบกับท่าทีของรัฐบาลที่เป็นมิตรต่อภาคธุรกิจ และพยายามแก้ปัญหาวิกฤติอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น
บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า การกลับลำผันผวนของหุ้นจีนในช่วงที่ผ่านมานั้น คล้ายภาพสะท้อนมุมมองตลาดต่อสภาวะความเป็นผู้นำของจีน โดยในช่วงแรกตลาดมองว่าการแต่งตั้งคณะทำงานแบบรวมศูนย์ของสี จิ้นผิง อาจสร้างผลกระทบเชิงลบต่อการเติบโตของประเทศ ทว่าในภายหลังตลาดหลังปรับเปลี่ยนมุมมองเป็นบวกมากขึ้น ด้วยเหตุผลอย่างที่กล่าวไป
ความมั่งคั่งนำหน้าความมั่นคง หรือความมั่นคงแบบล้ำหน้า (?)
นอกจากมุมมองทางด้านลบของสี จิ้นผิง แล้ว หากย้อนไปในปี 2012 ช่วงแรกที่เขาเข้ามาในอำนาจ มูลค่าตลาดของภาคเอกชนมีอัตราส่วนอยู่เพียง 10% ของมูลค่ารวมของบริษัทจดทะเบียนชั้นนำในประเทศ ทว่าในปี 2022 ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาเป็น 40% แม้นักวิเคราะห์จาก “The Peterson Institute” จะให้ข้อมูลว่าอัตราส่วนดังกล่าวย่อตัวลงอีกครั้งเมื่อสิ้นปีก็ตาม
โดยในช่วงการบริหารงานของสี จิ้นผิง จีนได้ลดข้อจํากัดในการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ลงและเปิดประตูสําหรับการถือครองหุ้น และพันธบัตรข้ามพรมแดนมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้ธนาคารจากฝั่งตะวันตกเข้ามามีบทบาทอย่างมากในเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าว รวมทั้งทางการยกเลิกข้อบังคับที่ให้บริษัทรถยนต์จากต่างประเทศจะต้องร่วมทุน (Joint Ventures) กับบริษัทคู่แข่งในประเทศ และที่สำคัญบริษัทเทสล่า มอเตอร์ ของอีลอน มัสก์ ก็เข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในช่วงการดำรงตำแหน่งของ “หลี่ เฉียง” คนสนิทของสี จิ้นผิง ด้วย
บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุเพิ่มเติมว่า สี จิ้นผิง เริ่มทำงานในวาระแรกด้วยความมุ่งมั่นอย่างเต็มเปี่ยมในการปฏิรูปตลาด (Market Reform) ทว่าวิกฤติที่ผ่านมาทำให้การปฏิรูปดังกล่าวถูกแช่แข็งเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการล่มสลายของตลาดหุ้น และวิกฤติเงินทุนไหลออก (Capital Flight) ในปี 2015, สงครามการค้ากับสหรัฐในปี 2018 รวมทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19
“จริงๆ แล้วประเด็นสำคัญที่สุดที่หลายคนอยากทราบเกี่ยวกับคณะทำงานชุดใหม่ของสี จิ้นผิง อาจเป็นเพียงแค่ว่าเขาจะให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหรือความมั่นคงของประเทศมากกว่ากันเพียงเท่านั้นก็ได้ ทว่าไม่ว่าจะออกมาอย่างไรก็ตาม ตั้งแต่สี จิ้นผิง เริ่มต้นการทำงานในวาระที่ 3 ในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ก็เห็นสัญญาณจำนวนหนึ่งที่ชี้เป็นนัยว่าสี จิ้นผิง อาจเน้นการเติบโตเศรษฐกิจมากกว่าความมั่นคง” บลูมเบิร์ก ระบุ
ท้ายที่สุด สำหรับปี 2023 ‘Bloomberg Economics’ คาดการณ์ว่าจีดีพีของจีนจะเติบโต 5.8% ท่ามกลางการยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์ อย่างไรก็ตามแม้รัฐบาลกลางจะออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีขนาดไหน ทว่าด้วยระดับความเฉื่อยของหนี้ที่สูง รวมทั้งความหดหู่ของประชาชนที่ยังไม่ลดลงจึงทำให้ตัวเลขการเติบโตไม่สูงไปกว่านี้ และหากคณะทำงานชุดใหม่ของสี จิ้นผิง ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาดอาจช่วยให้เศรษฐกิจไม่ถดถอยไปมากกว่านี้ได้แน่นอน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์