“แพนิกเซลล์” หุ้นแบงก์ ไร้ผลกระทบแต่หุ้นนิวโลว์
สะเทือนสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก 3 แบงก์ในสหรัฐถูกลูกค้าไล่ไถ่ถอนเงิน (Bank Run) จากปัญหาสภาพคล่อง จนมาสู่ความกังวลใจว่าจะกระทบเหมือนวิกฤติการเงินในอดีตทั้งต้มยำกุ้งปี 2540 และวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 เป้าใหญ่อยู่ธุรกิจแบงก์ และสถาบันการเงิน
หลังจากมีความชัดเจนแล้วว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นผลมาจากการผิดนัดชำระหนี้แต่เป็นการด้อยค่าสินทรัพย์ลงทุนอย่างพันธบัตรสหรัฐที่ดอกเบี้ยขึ้นอย่างรวดเร็วมาตลอดรอบ 1 ปี เมื่อมีการขายก่อนครบกำหนดอายุจากผู้ฝากเงินในธุรกิจสตาร์ตอัป จึงเผชิญขาดทุนอย่างหนัก
กลับกลายเป็นภาพ “แพนิกเซลล์” สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกยิ่งตลาดหุ้นไทยที่แทบจะไม่เห็นการรีบาวด์กลับปรับตัวลงแรงต่อจาก 1,600 จุด มาอยู่ที่ 1,524 จุด (13-14 มี.ค.) หรือลดลงเกือบ 100 จุด กลายเป็นหุ้นแบงก์ถูกเทขายจนราคาหุ้นลงมานิวไลว์รอบนี้ทันที
หากประเมินจากการไล่เทขายของตลาดทั่วโลก เฉพาะมูลค่าตลาดของหุ้นกลุ่มการเงินทั่วไปหายไปถึง 4.65 แสนล้านดอลลาร์ จากการลดการลงทุนในหุ้นกลุ่มการเงินทั่วโลกตั้งแต่ในตลาดหุ้นนิวยอร์กไปจนถึงตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพราะยังวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพในระบบธนาคาร
อิงกับดัชนี MSCI Asia Pacific Financials Index ร่วงลง 2.7% สู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. 2565 โดย "หุ้นมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป" ดิ่งลงรุนแรงถึง 8.3% ในตลาดหุ้นญี่ปุ่น ขณะที่ "หุ้นฮานา ไฟแนนเชียล กรุ๊ป" ร่วงลง 4.7% ในตลาดหุ้นเกาหลีใต้ และ "หุ้นเอเอ็นแซด กรุ๊ป โฮลดิ้ง" ร่วงลง 2.8% ในตลาดหุ้นออสเตรเลีย
ทั้งนี้ มูลค่าตลาดโดยรวมของบริษัทการเงินทั่วโลกที่จดทะเบียนในดัชนี MSCI World Financials Index และ MSCI EM Financials Index ลดลงราว 4.65 แสนล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเพียง 3 วัน
สำหรับตลาดหุ้นไทยดัชนีกลุ่มแบงก์ปรับตัวลดลงนำตลาดหุ้นรวม 2 วันทำการมีมูลค่าซื้อขายระดับเกือบ 50,000 ล้านบาท ดัชนีลงมาลึก 357 จุด หากประเมินสถานะทางการเงิน และความแข็งแกร่งของธนาคารไทยถือว่าไม่ได้มีปัญหาเหมือนที่สหรัฐ
ด้านแบงก์ชาติ "ยืนยัน" ผลกระทบจากกรณี SVB ต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยมีจำกัด เนื่องจาก ไม่มีธนาคารพาณิชย์ของไทยที่มีธุรกรรมโดยตรงกับ SVB และปริมาณธุรกรรมโดยรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยใน Fintech และ Startup ทั่วโลกมีน้อยกว่า 1% ของเงินกองทุนของกลุ่มธนาคารพาณิชย์
และ ที่สำคัญพบว่าธนาคารพาณิชย์ของไทยไม่มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล ขณะที่กลุ่มธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับต่ำที่ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งธปท.มีการกำกับดูแลธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลและVenture Capital ที่เข้มงวด
ทั้งนี้อาการเทขายหุ้นแบบลดความเสี่ยงเพื่อดึงเงินกลับจากตลาดทุนที่ทำกำไรได้ เช่น ตลาดหุ้นไทยที่มียอดซื้อสุทธิต่างชาติปี 2565 ถึง 2 แสนล้านบาท จนสิ้นเดือนก.พ. ต่างชาติพลิกกลับมาขายสุทธิ 45,362 ล้านบาท และยังขายสุทธิต่อต้นเดือนมี.ค.
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์(บล.)กสิกรไทย มองว่าความผันผวนของตลาดเงิน ตลาดทุนช่วงรอติดตามความชัดเจน และพัฒนาการของสถานการณ์ในระบบแบงก์ในสหรัฐโดยเฉพาะในส่วนของการเรียกคืนความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน เพื่อประเมินท่าทีเชิงนโยบายของ FED ในระยะถัดไป ตลาดหุ้นไทยที่ยังอาจเผชิญความเสี่ยงตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ สวนทางกับแรงหนุนต่อสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง เช่น ทองคำ ในกรณีที่สถานการณ์ยังไม่นิ่ง
แบงก์ในไทยต้องมีการปรับกลยุทธ์การถือครองตราสารหนี้ให้มีอายุเฉลี่ยของตราสารลดลง (Shorten Duration) และ/หรือปรับกลยุทธ์การลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและทิศทางตลาดเงินตลาดทุนมากขึ้น (เพื่อจำกัดผลกระทบจากการ Mark-to-Market)
ส่วนฐานะการเงินทั้งเรื่องสภาพคล่อง และความเข้มแข็ง เงินกองทุน LCR ของไทยระดับสูงเกินเกณฑ์ และอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (% CAR) ของไทยที่สูงกว่าสหรัฐ สัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง (% LCR) ของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ ณ เดือนม.ค.2566 อยู่ที่ 189.49% สูงกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนด และเงินกองทุนของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศก็อยู่ในระดับที่เข้มแข็งเช่นกัน
โครงสร้างสินทรัพย์และเงินฝากของระบบแบงก์ไทยมีการกระจุกตัวน้อยกว่าแบงก์สหรัฐ ที่
ประสบปัญหา กรณีของระบบแบงก์ไทยพอร์ตสินเชื่อสุทธิมีสัดส่วน 64% ของสินทรัพย์รวม และเป็นพอร์ตที่มีการกระจายตัวระหว่างสินเชื่อรายใหญ่ เอสเอ็มอี และรายย่อย ในอัตราส่วน 35.8%, 23.5% และ 40.7%ของสินเชื่อทั้งระบบ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ตามลำดับ ถือว่าเป็นการกระจายตัวที่ดีกว่ากรณีแบงก์สหรัฐ
ที่สำคัญพอร์ตเงินลงทุนสุทธิรวมทั้งตราสารหนี้และตราสารทุนมีสัดส่วนประมาณ 11.7% ของสินทรัพย์รวม จากโครงสร้างพอร์ตสินทรัพย์ของแบงก์ไทยที่กระจายตัว และสมดุลกว่า
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์