หุ้นกู้ CoCo Bond คืออะไร …ความเสี่ยงมีแค่ไหน?
ผู้ถือหุ้นกู้ Coco ของธนาคาร Credit Suisse สูญเงินลงทุนทั้งหมด เหตุธนาคารฯ ระบุเงื่อนไขชดเชยความเสียหาย (Loss Absorbsion) กรณีเกิดอุบัติเหตุการเงินไว้ว่าเป็น ‘Permanent Write-down’ ขณะที่ผู้ถือหุ้นกลับได้รับเงินคนละประมาณ 1.07 แสนล้านบาท
Key Points
- ธนาคาร Credit Suisse ลดมูลค่าหุ้นกู้ Coco ลงราว 1.73 หมื่นล้านดอลลาร์ ประมาณ 5.709 แสนล้านบาท จนเหลือต่ำศูนย์ ส่งผลให้ผู้ถือหุ้นกู้ไม่พอใจ เนื่องจากบริษัทประสบปัญหาทางการเงิน
- หุ้นกู้ CoCo คือหุ้นกู้ที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์เพื่อนับเป็นเงินกองทุนของธนาคารตามหลักเกณฑ์สากล ซึ่งอยู่ใต้ร่มใหญ่คือหุ้นกู้แบบ ‘Basel lll Bond’
- หุ้นกู้แบบ ‘Basel lll Bond’ ประกอบด้วยชนิดย่อย AT1 และ AT2 โดย โดยหุ้นกู้ CoCo อยู่ในแบบ AT1
- หุ้นกู้ประเภท AT1 เข้ามาในยุโรปครั้งแรกเพื่อทำหน้าที่เป็นโช้คอัพหลังจากเกิดวิกฤติการเงินโลกช่วงปี 2007
- นักลงทุนในหุ้นกู้ Coco ของธนาคาร Credit Suisse สูญเงินลงทุนทั้งหมดเพราะธนาคารฯ ระบุเงื่อนไขชดเชยความเสียหาย (Loss Absorbsion) กรณีเกิดอุบัติเหตุการเงินไว้ว่าเป็น ‘Permanent Write-down’
การล่มสลายของธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) สหรัฐลุกลามจนทำให้ภาคธนาคารพาณิชย์ของหลายภูมิภาคอยู่ในสภาวะปั่นป่วนอย่างมาก หนึ่งในนั้นคือกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในทวีปยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสวิตเซอร์แลนด์ที่ล่าสุด UBS Group AG ธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของสวิตเซอร์แลนด์ประกาศเข้าซื้อกิจการธนาคาร Credit Suisse ธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์ด้วยมูลค่า 3.3 พันล้านดอลลาร์ (ราว 1.089 แสนล้านบาท) เพื่อหวังพยุงไม่ให้ภาคการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ประสบวิกฤติแบงก์รันคล้ายสหรัฐ
ในช่วงเวลาเดียวกันธนาคาร Credit Suisse ประกาศลดมูลค่าหุ้นกู้ชนิดพิเศษลงประมาณ 1.6 หมื่นล้านฟรังก์สวิส ราว 1.73 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5.709 แสนล้านบาท) จนเหลือ ‘ศูนย์’ จากปัญหาการเงินภายในบริษัทฯ ซึ่งนักวิเคราะห์หลายฝ่ายเห็นในทำนองเดียวกันว่าเป็นตัวเลขการย่อตัวที่มากเป็นประวัติการณ์
หุ้นกู้ชนิดพิเศษนี้คืออะไร (?)
หุ้นกู้ชนิดนี้คือ ‘หุ้นกู้แปลงสภาพโดยมีเงื่อนไข’ (Contingent Convertible Bonds) หรือที่บุคลากรทางการเงินรู้จักกันในชื่อ ‘หุ้นกู้ CoCo’ โดยเมื่อใดก็ตามที่บริษัทมีปัญหาตามเงื่อนไขที่ธนาคารกลางกำหนด เช่นบริษัทขาดสภาพคล่อง เงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด หุ้นกู้ดังกล่าวจะกลายสภาพไปเป็นหุ้นสามัญลดมูลค่า หรือตัดเป็นหนี้สูญได้โดยอัตโนมัติ ด้วยเหตุนี้นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งจึงมองว่าหุ้นกู้ชนิดนี้
“ไม่ต่างกับหุ้นกู้ที่มีระเบิดมือติดไปด้วย และสามารถแกะสลักที่ระเบิดได้ตลอดเวลาหากสภาพการณ์เหมาะสม”
โครงสร้างและคุณสมบัติของหุ้นกู้ Coco
หุ้นกู้ CoCo คือหุ้นกู้ที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์เพื่อนับเป็นเงินกองทุนของธนาคารตามหลักเกณฑ์สากล โดยอยู่ใต้ร่มใหญ่ของหุ้นกู้แบบ ‘Basel lll Bond’ ซึ่งประกอบด้วย 2 ประเภทคือ
1. Basel lll Additional Tier 1 (AT1) หรือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์เพื่อนับเป็นเงินกองทุนชั้น 1
- ไม่กำหนดอายุไถ่ถอน
- ธนาคารมีสิทธิ์ไถ่ถอนหลังปีที่ 5 เมื่อได้รับความเห็นจากธนาคารกลาง
- ธนาคารยกเลิกหรือเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยได้ โดยไม่มีการสะสมดอกเบี้ยที่ถูกเลื่อนจ่ายไปสมทบจ่ายในครั้งถัดไป
- สามารถแปลงเป็นหุ้นสามัญลดมูลค่าหรือตัดเป็นหนี้สูญได้ เมื่อเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
2. Basel lll Additional Tier 2 (AT2) หรือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์เพื่อนับเป็นเงินกองทุนชั้น 2
- กำหนดอายุไม่ต่ำกว่า 5 ปี
- ธนาคารมีสิทธิ์ไถ่ถอนหลังปีที่ 5 เมื่อได้รับความเห็นจากธนาคารกลาง
- สามารถแปลงเป็นหุ้นสามัญลดมูลค่าหรือตัดเป็นหนี้สูญได้ หากทางการเข้าให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ธนาคารนั้น
ทั้งนี้ นักวิชาการจัดกลุ่มให้หุ้นกู้ Coco อยู่ในประเภท AT1 โดยหุ้นกู้ชนิดนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ไขวิกฤติการณ์หนี้ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป ผ่านการจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่สูงเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนเข้าลงทุนในยามที่สภาพตลาดไม่เป็นใจ อนึ่งในอดีตอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ชนิดนี้เคยสูงถึง 6%-7% ต่อปีในขณะที่หุ้นกู้ทั่วไปอยู่เพียง 1% ต่อปีเท่านั้น
ที่สำคัญหุ้นกู้ประเภท AT1 เข้ามาในยุโรปครั้งแรก เพื่อทำหน้าที่เป็นโช้คอัพหลังจากเกิดวิกฤติการเงินโลกช่วงปี 2007 เพราะธนาคารพาณิชย์จำนวนมากเสี่ยงล่มสลาย
โดยหากสถาบันการเงินมีเงินกองทุนต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในเงื่อนไข หุ้นกู้ชนิดนี้จะถูกบังคับให้แปลงสภาพเป็น ‘หุ้นบางส่วนหรือทั้งหมด’ ขึ้นอยู่กับว่าสถาบันการเงินนั้นขาดเงินกองทุนมากน้อยเพียงใด ดังนั้นจะเห็นได้ว่าหุ้นกู้ชนิดนี้มีความเสี่ยงและซับซ้อนกว่าหุ้นกู้ทั่วไปเนื่องจากผู้ลงทุนอาจต้องร่วมรับผลขาดทุนของธนาคารผู้ออกหุ้นกู้ชนิดดังกล่าวด้วย
สถานการณ์ตัวอย่าง
นางดารบุษป์ ปภาพจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นกู้ดังกล่าวผ่านบทความ ‘ตราสารหนี้ CoCos’ บนเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจไว้ว่า ในเหตุการณ์ปกติหากบริษัทหนึ่งซึ่งดำเนินธุรกิจด้วยเงิน 2 ส่วนคือจากผู้ก่อตั้งและเงินกู้กำลังจะล้มละลาย สิ่งที่เจ้าของบริษัทจะสูญเสียอย่างแรกคือ ‘เงินทุน’ ในขณะเดียวกันเจ้าของบริษัทก็จำเป็นต้องเจรจากับ ‘เจ้าหนี้’ ที่ปล่อยกู้เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดีตามกฎหมายจากการกู้ยืมเงินมาดำเนินธุรกิจ
“ทั้งนี้ หนึ่งทางเลือกในการหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดีคือการ ‘ขอแปลงหนี้เป็นทุน’ ซึ่งเจ้าหนี้ของจะกลายสภาพมาร่วมเป็น ‘เจ้าของ’ กับเราไปด้วย เจ้าหนี้ซึ่งเดิมมีสิทธิ์ได้รับดอกเบี้ย และเงินต้นคืนจากบริษัท ก็จะต้องมาร่วมชะตากรรมกับเราในฐานะเจ้าของบริษัท และไม่สามารถเรียกร้องขอคืนหนี้จากบริษัทได้อีก และหากผลประกอบการในอนาคตของบริษัทไม่ดีก็จะได้ปันผลน้อย หรือไม่ได้เลยนั่นเอง ในทางกลับกัน หากผลประกอบการดี ผู้ถือหุ้นก็มีโอกาสที่จะได้อัตราเงินปันผลสูงกว่า อัตราดอกเบี้ยที่เคยได้รับสมัยเป็นเจ้าหนี้เช่นกัน”
อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ข้างต้นเกิดขึ้นกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ขั้นตอนการเจรจากับเจ้าหนีอาจใช้เวลานานเนื่องจากลำดับชั้นการบริหาร ดังนั้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอดีตจึงคิดกลไกของหุ้นกู้ Coco ขึ้นมาเพื่อ ‘แปลงหนี้เป็นทุนแบบอัตโนมัติ’ โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้
สถานการณ์ของธนาคาร Credit Suisse
ณ วันที่ 20 มี.ค. ธนาคาร Credit Suisse มีหุ้นกู้ CoCo อยู่ทั้งหมด 13 หน่วย ซึ่งตามข้อมูลของ สำนักข่าวบลูมเบิร์กหุ้นกู้ทั้งหมดมีมูลค่าพาร์ประมาณ 17.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5.709 แสนล้านบาท) โดยออกเป็นเงินหลายสกุล เช่น สวิสฟรังส์ ดอลลาร์สหรัฐ และดอลลาร์สิงคโปร์
อนึ่งในกรณีที่ธนาคาร UBS Group AG เข้าซื้อ ธนาคาร Credit Suisse ท่ามกลางความช่วยเหลือจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์นั้น นักวิชาการส่วนหนึ่งชี้ว่าเข้าข่ายเงื่อนไข ‘Complete Write-down’ ดังนั้นหุ้นกู้ทั้งหมดจึงต้องถูกตัดจำหน่ายเพื่อเพิ่มเงินเข้ากองทุน AT1 ทันที รวมทั้งธนาคาร Credit Suisse กำหนดเงื่อนไขในส่วนของการชดเชยการสูญเสีย (Loss Absorbsion) ไว้ว่าเป็น ‘Permanent Write-down’ คือผู้ถือหุ้นกู้มีโอกาสสูญเงินลงทุนทั้งหมดหากเกิดวิกฤติหนักเหมือนครั้งนี้
จากเหตุผลข้างต้นผู้ถือหุ้นกู้ดังกล่าวของธนาคาร Credit Suisse จำนวนหนึ่งแสดงความไม่พอใจ พร้อมให้เหตุผลว่าหากคำนึงจากฉากทัศน์ปกติของกระบวนการตัดเป็นหนี้สูญ (Write Down) ผู้ถือหุ้นควรเป็นผู้รับความเสี่ยงและได้รับผลกระทบก่อนเป็นลำดับแรก ทว่าในกรณีนี้ ผู้ถือหุ้นกู้ได้รับผลกระทบเป็นลำดับแรกจากการตัดมูลค่าหุ้นกู้ Coco เป็นศูนย์ ในขณะที่ผู้ถือหุ้นของธนาคารกลับได้รับเงินคนละ 3 พันล้านฟรังก์ หรือประมาณ 3.24 พันล้านดอลลาร์ (ราว 1.0692 แสนล้านบาท)