ดาวโจนส์บวกในกรอบแคบแค่ 100 จุด ขณะนักลงทุนจับตาผลประกอบการ
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันจันทร์(17เม.ย.)ปรับตัวเพิ่มขึ้นในกรอบแคบ 100 จุด ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน ขณะที่นักลงทุนจับตาผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน หลังสถาบันการเงินหลายแห่งเผยแพร่รายงานผลประกอบการไตรมาสแรกออกมาแข็งแกร่งในสัปดาห์ที่แล้ว
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 100.71 จุด หรือ 0.30% ปิดที่ 33,987.18 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 13.68 จุด หรือ 0.33% ปิดที่ 4,151.32 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 34.26 จุด หรือ 0.28% ปิดที่ 12,157.72 จุด
ข้อมูลจาก Refinitiv IBES ระบุว่า นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า บริษัทในดัชนีเอสแอนด์พี 500 จะรายงานตัวเลขกำไรลดลง 5.2% ในไตรมาส 1/2566 หลังจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าจะมีกำไรเพิ่มขึ้น 1.4% ในไตรมาสดังกล่าว
นอกจากนี้ ตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์และการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
ทั้งนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์จะกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากต่างประเทศ ส่วนการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองของสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนพ.ค. หลังการเปิดเผยรายงานการประชุมของเฟดและตัวเลขเงินเฟ้อเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 88.1% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. และให้น้ำหนักเพียง 11.9% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.75-5.00%
ทั้งนี้ สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่ชะลอตัวลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ดัชนีดังกล่าวยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ของเฟด
ส่วนรายงานการประชุมประจำเดือนมี.ค.ของเฟดระบุว่า เจ้าหน้าที่เฟดตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมดังกล่าว เนื่องจากกังวลว่าเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง แม้เจ้าหน้าที่เฟดบางรายแสดงความวิตกว่าวิกฤตการณ์ในภาคธนาคารจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย
นอกจากนี้ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ผู้บริโภคคาดว่าเงินเฟ้อจะพุ่งแตะระดับ 4.6% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิมเมื่อเดือนที่แล้วที่ระดับ 3.6%
นักลงทุนจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่จะมีการเปิดเผยในวันที่ 28 เม.ย. โดยดัชนีดังกล่าวเป็นข้อมูลเงินเฟ้อสำคัญตัวสุดท้ายก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 2-3 พ.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ โดยสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนี CPI