ดาวโจนส์ทะยาน 524 จุด ขานรับผลประกอบการแกร่ง

ดาวโจนส์ทะยาน 524 จุด ขานรับผลประกอบการแกร่ง

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพฤหัสบดี(27เม.ย.)ปรับตัวขึ้น 524 จุด ขานรับการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 524.29 จุด หรือ 1.57% ปิดที่ 33,826.16 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 79.36 จุด หรือ 1.96% ปิดที่ 4,135.35 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 287.89 จุด หรือ 2.43% ปิดที่ 12,142.24 จุด

ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทเมตา แพลตฟอร์มส์ รวมทั้งคอมแคสต์ และเฮิร์ซ

ขณะเดียวกัน สหรัฐเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 1/2566 ที่ต่ำกว่าคาดในวันนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แม้นักลงทุนบางส่วนกังวลว่าเป็นสัญญาณบ่งชี้แนวโน้มที่สหรัฐจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับจีดีพีประจำไตรมาส 1/2566 ในวันนี้ โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวเพียง 1.1% ในไตรมาสดังกล่าว ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.0%

อย่างไรก็ดี ตัวเลขการขยายตัวดังกล่าว สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ในแบบจำลองที่เฟดสาขาแอตแลนตาเปิดเผยวานนี้ ซึ่งระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.1% ในไตรมาส 1/2566

สำหรับในปี 2565 เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.6% ในไตรมาส 1 และ 0.6% ในไตรมาส 2 ทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ก่อนที่มีการขยายตัว 3.2% และ 2.6% ในไตรมาส 3 และ 4 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาตลอดทั้งปี 2565 เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.1% หลังจากพุ่งแตะระดับ 5.9% ในปี 2564

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 16,000 ราย สู่ระดับ 230,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 249,000 ราย

ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ ลดลงสู่ระดับ 236,000 ราย

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 3,000 ราย สู่ระดับ 1.86 ล้านราย

นักลงทุนจับตาการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทแอมะซอนและอินเทล หลังจากปิดตลาดวันนี้

นอกจากนี้ ตลาดจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันนี้ โดยดัชนีดังกล่าวเป็นข้อมูลเงินเฟ้อสำคัญตัวสุดท้ายก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 2-3 พ.ค.

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ โดยสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)