SINGER อ่วมไตรมาส 1/66 พลิกขาดทุน 843.36 ล้าน เหตุรายได้ขายสินค้าทรุด
“ซิงเกอร์ประเทศไทย” เผยไตรมาส 1 ปี 66 "พลิกขาดทุน" 843.36 ล้านบาท ลดลง 492.1% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 215.41 ล้านบาท เหตุรายได้จาการขายเครื่องใช้ไฟฟ้าบางกลุ่มทรุด และเน้นควบคุมคุณภาพหนี้-ต้นทุนพุ่ง-ปรับลดมูลค่าสินค้า
นายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ผลดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2566 บริษัทขาดทุนสุทธิ 843.36 ล้านบาท ลดลง 492.1% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 215.41 ล้านบาท
ขณะที่ รายได้รวมของกลุ่มบริษัทฯ ลดลง จำนวน 326 ล้านบาท หรือคิดเป็น 26.9% โดยเป็นผลจากการลดลงของรายได้จากการขาย เป็นจำนวนเงิน 492 ล้านบาท หรือคิดเป็น 70.8% แต่อย่างไรก็ตามรายได้ดอกเบี้ยรับจากสัญญาเช่าซื้อและเงินให้กู้ยืมเพิ่มขึ้น เป็นจำนวนเงิน 179 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 38.7%
ส่วนรายได้จากการขายของกลุ่มบริษัทฯ ลดลงจำนวน 492 ล้านบาท หรือคิดเป็น 70.8% จากการขายเครื่องใช้ไฟฟ้าบางกลุ่มที่ลดลงจากปีก่อน และ เนื่องจากบริษัทย่อยมีการเปลี่ยนนโยบายในการปล่อยสินเชื่อให้มีความเข้มงวดมากขึ้นเพื่อควบคุมคุณภาพหนี้และจำนวนพนักงานขายแฟรนไชส์ลดลง
โดยต้นทุนขายเพิ่มขึ้น จำนวน 236 ล้านบาท เนื่องจากในระหว่างงวด กลุ่มบริษัทและบริษัทบันทึกขาดทุนจากการปรับลดมูลค่าสินค้าจำนวน 436 ล้านบาท และ 424 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการปรับเปลี่ยนประมาณราคาขายและค่าใช้จ่ายในการขายที่เกี่ยวข้อง และค่าเผื่อสำหรับสินค้าล้าสมัยและเสียหายดอกเบี้ยรับจากสัญญาเช่าซื้อและเงินให้กู้ยืม
สำหรับไตรมาส 1 ปี 66 ดอกเบี้ยรับจากสัญญาเช่าซื้อและเงินให้กู้ยืมของกลุ่มบริษัทฯ เพิ่มขึ้นจำนวน 179 ล้านบาท หรือคิดเป็น 38.7% เนื่องจากการเติบโตของพอร์ตลูกหนี้เงินให้กู้ยืม
ด้านต้นทุนในการจัดจำหน่ายและค่าใช้จ่ายในการบริหาร ลดลง 48 ล้านบาท คิดเป็น 11.9% เนื่องจากต้นทุนในการจัดจำหน่ายลดลงซึ่งสอดคล้องกับยอดรายได้ที่ลดลง โดยส่วนใหญ่ลดลงจากค่านายหน้าให้กับพนักงานขาย ค่าใช้จ่ายในค่าโฆษณา และส่งเสริมการขาย
ส่วนต้นทุนทางการเงิน ลดลง 22 ล้านบาท คิดเป็น 17.9% เนื่องจากบริษัทมีการจ่ายชำระหุ้นกู้ในปีก่อนสำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มบริษัทฯ เพิ่มขึ้นจำนวน 898 ล้านบาท หรือคิดเป็น1,663.0% โดยมีสาเหตุหลักมาจากลูกหนี้ที่เข้าโครงการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เริ่มทยอยสิ้นสุดการได้รับความช่วยเหลือ
ทั้งนี้ สินทรัพย์รวมของกลุ่มบริษัทฯ เปลี่ยนแปลงลดลงจำนวน 1,517 ล้านบาทหรือคิดเป็น 5.9% เมื่อเปรียบเทียบกับสิ้นปี 2565 โดยรายการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมีดังนี้
- เงินสด และรายการเทียบเท่าเงินสด ลดลง 707 ล้านบาท หรือคิดเป็น 15.2% เมื่อเปรียบเทียบกับ ณ สิ้นปี 2565 เนื่องจากในระหว่างปีบริษัทย่อยได้นำเงินจากการเพิ่มทุนในปลายปี 2565 จำนวนหนึ่งมาขยายพอร์ทสินเชื่อเงินให้กู้ยืม และบริษัทได้นำเงินไปซื้อหุ้นคืนของบริษัท
- เงินลงทุนหมุนเวียนในสินทรัพย์ทางการเงินระยะสั้น ลดลงจำนวน 408 ล้านบาท หรือคิดเป็น 14.6% เมื่อเปรียบเทียบกับ ณ สิ้นปี 2565 เนื่องจากมีการขายเงินลงทุนในเงินลงทุนระหว่างปีเพื่อนำเงินดังกล่าวไปขยายพอร์ตลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อและลูกหนี้เงินให้กู้ยืมในบริษัทย่อยและนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
- ลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ และลูกหนี้เงินให้กู้ยืม ลดลงจำนวน 2 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับ ณ สิ้นปี 2565โดยแบ่งเป็นลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและอื่นๆ ลดลงเป็นจำนวน 653 ล้านบาทหรือคิดเป็น 12.2% และลูกหนี้เงินให้กู้ยืมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 651 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.2%
- สินค้าคงเหลือ ลดลงจำนวน 568 ล้านบาท หรือคิดเป็น 32.4% เมื่อเปรียบเทียบกับ ณ สิ้นปี 2565โดยมีสาเหตุหลักจากบริษัทมีสั่งสินค้าเข้าในระหว่างงวดลดลง ประกอบกับในระหว่างงวดบริษัทฯ กลุ่มบริษัทและบริษัทบันทึกผลขาดทุนจากการปรับลดมูลค่าสินค้าจำนวน 436 ล้านบาท และ 424 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการปรับเปลี่ยนประมาณราคาขายและค่าใช้จ่ายในการขายที่เกี่ยวข้อง และค่าเผื่อสำหรับสินค้าล้าสมัยและเสียหาย
- หนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้นของกลุ่มบริษัทฯ ลดลงจำนวน 277 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.7% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565โดยรายการที่สำคัญคือ เจ้าหนี้การค้าลดลง 97 ล้านบาท จากที่บริษัทชะลอการสั่งซื้อสินค้า เจ้าหนี้อื่น ลดลง 97 ล้านบาท เนื่องจากมีการจ่ายชำระในระหว่างงวด
ส่วนของผู้ถือหุ้นของกลุ่มบริษัทฯ ลดลงจำนวน 1,240 ล้านบาทหรือคิดเป็น 6.8% เมื่อเทียบกับสิ้นปี2565โดยมีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ บริษัทมีการซื้อหุ้นคืนตามโครงการซื้อหุ้นคืนของบริษัทตามที่ได้แจ้งข่าวตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปแล้วก่อนหน้านั้น โดยบริษัทมีการซื้อหุ้นคืนเพิ่มในระหว่างงวด จำนวนเงิน 279 ล้านบาท และกลุ่มบริษัทมีผลขาดทุนในระหว่างงวด