ธรรมาภิบาลบริษัทมหาชน สำคัญไม่แพ้ผลกำไร

ธรรมาภิบาลบริษัทมหาชน  สำคัญไม่แพ้ผลกำไร

การทุจริตในบริษัทจดทะเบียนนอกจากจากส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัทแล้วยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดทุนไทย

เป็นเรื่องน่าเศร้ามากเมื่อเกิดเหตุการณ์การทุจริตในบริษัทเอกชน โดยเฉพาะการทุจริตในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งการที่ผู้บริหารบริษัทเอกชนตัดสินใจนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น นั่นหมายความว่าความรับผิดชอบต่อกิจการของบริษัทขยายวงกว้างเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนผู้มีส่วนได้ส่วนไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นสามัญ ผู้ถือหุ้นกู้ รวมถึงพนักงานบริษัทและลูกค้า ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “มหาชน” ที่ผู้บริหารบริษัทต้องยอมรับการถูกตรวจสอบเพื่อดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

เหตุการณ์ทุจริตในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นเกิดขึ้นอยู่ซ้ำซาก โดยที่การเอาผิดหรือการลงโทษมีจำนวนน้อยกว่า การทุจริตที่เกิดขึ้นจริง นั่นหมายความว่ามีความผิดหรือการทุจริตของบริษัทอีกหลายกรณีที่ไม่ถูกตรวจสอบ ไม่ถูกเอาผิดทางกฎหมาย และผู้บริษัทบริษัทบางรายยังคงทำสิ่งที่ผิดกฎหมายและผิดศีลธรรม ประหนึ่งว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่สิ่งที่ถูกต้องดังว่าถูกต้องเพราะยังไม่มีใครจับได้หรือถูกต้องเพราะยังไม่ถูกกฎหมายลงโทษ

การตกแต่งบัญชีเป็นการทำให้บัญชีดูเสมือนจริง ซึ่งข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชีว่าด้วยจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี พ.ศ.2561 กำหนดว่าผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ต้องปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานของจรรยาบรรณ โดยจะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งมีความเที่ยงธรรมและความเป็นอิสระ โดยไม่ยอมให้อคติหรือความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรืออิทธิพลอันเกินควรของบุคคลอื่นมาลบล้างการใช้ดุลยพินิจทางวิชาชีพหรือทางธุรกิจ

ในขณะที่กรรมการบริษัทได้มีหลักสูตรมากมายให้เข้ารับการอบรม เพื่อเพิ่มศักยภาพการเป็นกรรมการหรือผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน หลายหลักสูตรระบุถึงการบริหารบริษัทอย่างมีธรรมาภิบาล ซึ่งคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รณรงค์เรื่องนี้มาตลอด เพื่อให้ส่วนหนึ่งเป็นการคุ้มครองผู้ถือหุ้น โดยกรณีที่เกิดขึ้นกับบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จึงถือเป็นความล้มเหลวของการบริหารอย่างมีธรรมาภิบาล

การทุจริตในบริษัทจดทะเบียนนอกจากจากส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัทแล้วยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดทุนไทย ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐมีการส่งเสริมให้บริษัทเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง และท้ายที่สุดแล้วการกำกับดูแลที่มีช่องว่างทำกับปล่อยให้ผู้ถือหุ้นไปตายเอาดาบหน้าหรือหาทางรอดด้วยตัวเอง

ดังนั้นหน่วยงานที่กำกับดูแลควรจะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดในทุกกรณี เพื่อส่งเสริมให้ตลาดหุ้นเป็นแหล่งระดมทุนอย่างแท้จริง